svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย สูตรรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง ?

10 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ฟันธงเปรี้ยงถึงโมเดลพรรคร่วมรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย จับมือกันแน่

NationOnline สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์กันแบบชัดๆ จะๆ อย่างไม่มีกั๊ก ฟันธงเปรี้ยงถึงโมเดลการจับมือกันตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ ดังต่อไปนี้

สูตร 3 พรรคตัวยืน ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว

“รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” ระบุว่า การจับมือตั้งรัฐบาลระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคพลังประชารัฐ” และ “พรรคภูมิใจไทย” ตอบโจทย์ของทั้ง 3 พรรค และจะส่งผลให้ฝ่ายค้านชุดนี้ สร้างความแฮปปี้ให้กับฝ่ายบริหารเป็นอย่างยิ่ง

"เราต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า จริงๆ แล้วที่เขาจับมือร่วมกันอยู่ตอนนี้มี 3 พรรคหลัก ก็คือ 1. เพื่อไทย 2. พลังประชารัฐ และ 3. ภูมิใจไทย เพราะเงื่อนไขของ 'ภูมิใจไทย' มีอยู่เรื่องเดียว คือต้องไม่แก้มาตรา 112 เพราะเขาไม่เอากับ 'ก้าวไกล' ส่วน 'เพื่อไทย' ถ้าเราจำได้ วันที่นักศึกษาไปยื่นข้อเรียกร้องเรื่อง ม.112 'พรรคเพื่อไทย' ก็ถอย แล้วก็ไม่ได้มีการบรรจุเป็นนโยบาย มันก็ชัดอยู่แล้ว

เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย สูตรรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง ?

"และ Position ของ 'พรรคภูมิใจไทย' ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากลุงป้อม เขาพร้อมจับมือกับ 'พรรคเพื่อไทย' เราอย่าลืมนะว่า พื้นฐานความคิดของเขาก็คือจะต้องเป็นรัฐบาล อันนี้ง่ายๆ เลย ถ้าเราเห็นตัวแคมเปญในการเลือกตั้งที่ว่า 'พูดแล้วทำ' ซึ่งจะทำได้ ก็ต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น

"แต่ถ้าผสมกันหลายพรรค การจัด ครม. มันจะยาก แต่ถ้ามันมีพรรคแกนหลักอยู่สัก 3 พรรค การจัด ครม. มันลงตัวง่าย เพราะในความเป็นจริง พอแพ็คกันได้ 3 พรรค การหาพรรคที่ 4 มันจะง่ายเลย ที่สำคัญอำนาจต่อรองของพรรคที่ 4 ก็จะไม่เยอะ พูดกันตรงๆ ก็คือว่า คนอยากเป็นพรรคที่ 4 เยอะแยะ เลือกได้ แต่ขอให้ 3 พรรคหลักรวมกันได้เกิน 250 เสียงก่อน

"ซึ่งทั้ง 3 พรรค ดูในเบื้องต้นได้ ส.ส. เกิน 250 คนแน่ๆ ทำให้เงื่อนไขของพรรคที่ 4 ที่จะเข้าร่วมลดน้อยลง ประโยชน์ของ 3 พรรคแรก มันก็จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย คือเวลาผมมองการเมือง ผมไม่ได้มองโลกสวยน่ะ ผมรู้ว่าวิธีการจริงๆ มันมีการต่อรองทั้งนั้นแหละ

"ถ้าเป็นโมเดลนี้อำนาจการต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลจะสูง ส่วน 'บิ๊กตู่' ก็ไม่มาอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี 'บิ๊กตู่' กับ 'ก้าวไกล' ไปเป็นฝ่ายค้าน ใครเป็นรัฐบาลก็ชอบ เพราะว่าฝ่ายค้านอ่อนแอ เราคงไม่เห็น 'ลุงตู่' กอดคอกับ 'พิธา' เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างแน่ๆ ต่างคนต่างเดิน เพราะฉะนั้นใครเป็นรัฐบาลก็แฮปปี้"

บทความที่น่าสนใจ

เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย สูตรรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง ?

ธนพรคอนเฟิร์ม 3 พรรคจับมือกันแน่

“รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” ยืนยัน พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย จับมือกันแน่ เพราะเป็นการรวมกันที่ลงตัว และเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย

"ผมคอนเฟิร์มครับ เพราะผมรู้ว่า มันไม่หลุดจากกรอบนี้หรอก เพราะ 1. 'พรรคภูมิใจไทย' ไม่ได้เกิดมาเป็นฝ่ายค้าน 2. 'พรรคเพื่อไทย' อยากเป็นรัฐบาล เพราะว่าไม่ได้เป็นมานาน ป็นรัฐบาลครั้งสุดท้าย ปี 2557 แล้วนี่ 2566 แล้ว เท่ากับพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นฝ่ายบริหารนานเกือบ 10 ปี ดังนั้นในวันนี้สิ่งที่ 'พรรคเพื่อไทย' ต้องการที่สุดก็คือ กลับเข้าสู่อำนาจรัฐ

"ส่วน 'บิ๊กป้อม' แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นผู้ที่มีบารมี มีคอนเนคชั่นที่จะพูดคุยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ ถ้าเทียบกับ 'บิ๊กตู่' พรรคเพื่อไทยก็มองว่าคุยกับ “บิ๊กป้อม” พอเคลียร์กันได้ แต่ถ้าเป็น 'บิ๊กตู่' เราก็เคยเห็นอาการ แค่เอ่ยชื่อทักษิณ บิ๊กตู่ก็เดินหนีแล้ว มันก็เห็นความต่างอยู่แล้วครับ

"ส่วนเรื่องตัวเลข 'พรรคเพื่อไทย' กับ 'พรรคภูมิใจไทย' จำนวน ส.ส.ของ 2 พรรคนี้ พอคาดการณ์ได้ อย่างของ 'เพื่อไทย' เขาคงไม่น้อยกว่าปี 2562 'พรรคภูมิใจไทย' โดยทรง ตัวเลขน่าจะเพิ่มมากกว่าปี 2562 สมมติมาสัก 80 คน หรือ 70 คน 'พรรคเพื่อไทย' ได้ 150 คน บวกกับ 'พรรคภูมิใจไทย' ก็ 200 กว่าเข้าไปแล้ว บวกกับลุงป้อม ได้แน่ๆ 40 คน เพราะฉะนั้น 3 พรรครวมกันมันก็เกิน 250 แล้ว มันก็อยู่ในวิสัยที่ 3 พรรคนี้ทำได้ สิ่งที่ผมพูด เทียบเคียงจากข้อมูลพื้นฐานที่มันเป็นอยู่ ผมไม่ประเมินอะไรสูงกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว

เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย สูตรรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง ?

ดีลการจับมือ 3 พรรค “ธนพร” เชื่อ มีการคุยกันก่อนการเลือกตั้ง

ที่ผ่านมา "พรรคเพื่อไทย" ได้ออกมาปฏิเสธถึงการจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคต่างขั้ว แต่สังคมก็มองว่า แอ็คชั่นที่แสดงออกยังไม่ชัดเจนนัก ส่วน "พรรคพลังประชารัฐ" ก็เดินหมากเหมือนต้องการให้สังคมเข้าใจว่า ดีลลับกับ "พรรคเพื่อไทย" เป็นเรื่องจริง ตามสโลแกนหาเสียง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ส่วน “พรรคภูมิใจไทย” ก็แสดงท่าทีว่า โอเคหมดทุกโมเดล ถ้าได้เป็นรัฐบาล โดย "รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล" ระบุว่า ทั้ง 3 พรรคมีการดีลกันก่อนการเลือกตั้งแล้ว แต่ที่ออกมาปฏิเสธ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในทางการเมือง

“ผมไม่ได้แปลกใจหรอกที่เขาออกมาปฏิเสธ แต่ว่าทุกคนก็รู้กันดี ทุกคนก็คุยกันทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าปฏิเสธก็เป็นเรื่องที่ผมเข้าใจได้นะ เพราะผมก็อยู่ในแวดวงนี้ แต่กระบวนการจัดการทางการเมืองหลังจากนี้ มันมีความซับซ้อนอยู่ เพราะฉะนั้นการที่บอกว่า ต้องรอเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยมาคุยกันเนี่ย อันนี้มันก็ดูตื้นไปนิด เพราะว่าแต่ละพรรคก็มีเป้าหมายชัดเจน

"ผมพูดตรงๆ เลยนะ 'พรรคเพื่อไทย' มีเจตนาเอา 'คุณทักษิณ' กลับบ้าน แต่วันนี้จะไม่ยอมรับหรือเฉไฉ ผมเข้าใจได้ แต่ถ้าบอกว่า จะไม่เอา 'คุณทักษิณ' กลับบ้าน อันนี้ไม่ใช่แน่ๆ เพราะเขาได้แสดงเจตนาที่ชัดเจนไปแล้ว

เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย สูตรรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง ?

"จริงๆ เรื่อง 'คุณทักษิณ' กลับบ้าน คนที่เปิดเกมก็คือ 'พรรคเพื่อไทย' คุณอุ๊งอิ๊งค์พูดเองว่า คุณพ่ออยากมาเลี้ยงหลาน ส่วนคุณทักษิณก็สำทับว่าอยากกลับ พอ 'คุณทักษิณ' อยากกลับ 'พรรคเพื่อไทย' ก็ต้องเป็นรัฐบาล แล้วจะเป็นรัฐบาลได้ด้วยเงื่อนไขอะไร เมื่อการแลนด์สไลด์ มันไม่มีทางเกิดขึ้น การกลับมาหรือการได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ แบบไหน มันถึงจะมีเวลาพอที่จะทำให้ 'คุณทักษิณ' สามารถกลับบ้านได้ ดังนั้นรัฐบาลก็จะต้องมีเสถียรภาพพอสมควร

"และมันจะต้องมีองค์ประกอบที่ประสานอำนาจกับขั้วต่างๆ ในสังคมไทยได้ด้วย เพราะลำพังความต้องการของ 'พรรคเพื่อไทย' พรรคเดียว เราก็เห็นบทเรียนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาแล้ว ตอนนิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งผมเชื่อว่า 'พรรคเพื่อไทย' ได้มีการถอดบทเรียนจากกรณีดังกล่าวแล้ว"

เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย สูตรรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง ?

คะแนนโหวตจากพรรค ส.ว. ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องมี “พลังประชารัฐ” ในโมเดลการจัดตั้งรัฐบาล  

เสียงสนับสนุนของ ส.ว. 250 เสียง มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะทำให้แคนดิเดตฯ จากพรรคใดได้เป็นนายกฯ และฝ่ายใดได้เป็นรัฐบาล ซึ่ง รศ.ดร.ธนพร กล่าวว่า เพราะเหตุผลตรงนี้แหละ ทำให้ต้องมี “พลังประชารัฐ” อยู่ในสมการ หาก “พรรคเพื่อไทย” ต้องการเป็นรัฐบาล

"ส.ว. ที่จะโหวตให้ลุงตู่ ก็คงมีส่วนหนึ่ง แต่ ส.ว.ที่โหวตให้ลุงป้อมก็มีอีกส่วนหนึ่ง ถ้าพูดกันตรงๆ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ก็เป็นโหวตเตอร์ให้กับลุงป้อมนั่นแหละ เพราฉะนั้นอันนี้จึงเป็นเงื่อนไขว่า ทำไมต้องมี 'พรรคพลังประชารัฐ' ในการจัดตั้งรัฐบาล สมมติว่า 'พรรคพลังประชารัฐ' ได้ ส.ส. 40 คน และเขาก็มี ส.ว. อีกส่วนหนึ่ง ผมไม่ประเมินสูง ผมให้สัก 50 คน ก็เท่ากับเขามีแล้ว 90 คน

"ดังนั้น เมื่อ 'พรรคภูมิใจไทย' ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นฝ่ายค้าน 'พรรคเพื่อไทย' ก็อยากเป็นรัฐบาล และเมื่อ 'พรรคพลังประชารัฐ' คือคำตอบว่า ต้องทำอย่างไร 2 พรรคนี้จะได้เป็นรัฐบาล ก็เรียกว่า สมประโยชน์กันทุกฝ่ายครับ"

logoline