svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมศักดิ์" ยัน พ.ร.ก.ขยายเวลา พ.ร.บ.อุ้มหาย จำเป็นเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัย

28 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมศักดิ์" ยัน พ.ร.ก.ขยายเวลา พ.ร.บ.อุ้มหาย จำเป็นเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ด้านฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วย ขณะ ส.ส. ลาออกอีก 12 คน เหลือในสภา 405 คน

28 กุมภาพันธ์ 2566 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ วันนี้(28 ก.พ.) เป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม โดย นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอ

โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงเหตุผลการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ว่า เป็นการขอขยายเวลาการบังคับใช้ใน 4 มาตรา คือมาตรา 22 - มาตรา 25 เป็นการชั่วคราว หรือถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมพร้อมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ โดยเฉพาะงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์บันทึกภาพเท่านั้น

สำหรับฐานความผิดยังมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ เพราะหากบังคับใช้ในขณะหน่วยงานรัฐไม่มีความพร้อม จะทำให้การเฝ้าระวังและการเก็บรวบรวมบันทึกพยานหลักฐาน ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่มีความไม่สมบูรณ์ อาจทำให้ประเด็นโต้แย้งในขั้นตอนดำเนินคดี ต่อผู้กระทำความผิดส่งผลให้เกิดการจับกุมโดยมิชอบ และการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ซึ่งอาจเป็นผลร้ายต่อสังคม จึงถือเป็นเหตุฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสาธารณะ

ขณะที่ สมาชิกส่วนใหญ่ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ โดยเห็นว่า หากเลื่อนบังคับใช้จะส่งผลให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องยืดระยะเวลาออกไป ส่วนที่ระบุความไม่พร้อมด้านงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์บันทึกภาพนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งจัดสรรงบประมาณให้โดยเร็ว

 

ฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลพร้อมใจอภิปรายไม่เห็นด้วย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ย้ำไม่เข้าเงื่อนไขเหตุฉุกเฉินต้องเลื่อนบังคับใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะเข้าสู่วาระพิจารณา ประธานการประชุมได้แจ้งการลาออกของส.ส.รวม 12 คน ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ, นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ, นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังประชารัฐ, นายรณเทพ อนุวัฒน์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ, นายสมบัติ อำนาคะ ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ, นายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง พรรคพลังประชารัฐ, น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งลาออกจากการเป็น ส.ส. มีผล 24 กุมภาพันธ์

ขณะที่นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ มีผล 26 กุมภาพันธ์ , น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ มีผล 27 กุมภาพันธ์,  นายศาตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ลาออกจากการสังกัดพรรคพลังประชารัฐ มีผล 27 กุมภาพันธ์ และ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งลาออกจากพรรคเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ ทำให้มีส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 405 คน

สำหรับ 12 คนที่ลาออกนั้น คาดว่า จะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติทั้งหมด เนื่องจากผู้ที่ลาออกมีในจำนวนดังกล่าว รวม 7 คนไปเปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว

logoline