svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วิปรัฐบาลเตรียมส่งศาลรธน.วินิจฉัยพ.ร.ก.แก้กฎหมายอุ้มหาย

28 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นิโรธ สุนทรเลขา" เผยวิปรัฐบาลเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก. เลื่อน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ก่อนลงมติวันนี้ ปัดยื้อเวลา ชี้หากถูกคว่ำก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบได้

28 กุมภาพันธ์ 2566 "นายนิโรธ สุนทรเลขา" ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องด่วน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ว่า รัฐบาลส่ง พ.ร.ก. เข้ามาในสภาฯ เพื่อให้หน่วยงานทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ได้รับการขยายระยะเวลาดำเนินการ และสามารถเดินหน้าได้

 

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล

 

นายนิโรธ กล่าวต่อว่า ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานรัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. และเพื่อประชาชนจึงออก พ.ร.ก. ฉบับนี้มา อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่น่าจะชอบ หรือน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขความเร่งด่วนจำเป็น รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจะหน่วงให้ล่าช้า แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ต้องดูแลความเรียบร้อยของหน่วยงานกับประชาชนไม่ให้เกิดความผิดพลาด จึงขอขยายระยะเวลาในส่วนนี้

นอกจากนี้ การประชุมวิปรัฐบาล ได้เชิญตำรวจเข้าร่วมประชุมด้วย โดยวิปรัฐบาลต้องการรับฟังว่า ตำรวจมีเหตุผลใดในการขยายระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อจะได้พิจารณาว่า เห็นสมควรจะให้เดินหน้าหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าหากจะลงมติคว่ำไปเลย จะเดินหน้าลำบาก เพราะผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในชนบทด้วย

 

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล

 

ขณะเดียวกัน หากฝ่ายค้านเรียกร้องให้ลงมตินั้น ตนมองว่า สภาฯ มีอำนาจก็จริง แต่หลายครั้งโหวตแล้วก็มีการตีความในศาลรัฐธรรมนูญในภายหลัง จนสภาฯ เกิดความเสียหาย ดังนั้น เพื่อเป็นความรอบคอบและไม่ให้สภาฯ เกิดความเสียหาย จึงคิดว่าเรื่องนี้ควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าออก พ.ร.ก. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งคำร้องที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย พ.ร.ก. ฉบับนี้นั้น ขณะนี้การเข้าชื่อน่าจะครบเรียบร้อย อาจยื่นก่อนหรือระหว่างการประชุมสภาฯ ก็ได้ เพื่อเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 

"คำร้องของวิปรัฐบาลไม่ถือเป็นการยื้อการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกไป แต่ถือเป็นการให้หน่วยงานตาม พ.ร.บ. เดินหน้าได้ ถ้ามองในแง่ร้ายก็บอกว่าเรายื้อ แต่ถ้ามองเป็นกลางและตรงไปตรงมา เราก็เห็นว่า พ.ร.ก. น่าจะไม่ออกโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ" นายนิโรธ กล่าว 

 

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล

 

เมื่อถามว่า ความชะงักงันที่เกิดขึ้นใครต้องรับผิดชอบ นายนิโรธ กล่าวว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ มันมี 2 แนวทางที่เคยปฏิบัติ หากคว่ำ พ.ร.ก. คือ ลาออกหรือยุบสภาฯ หรือไม่รับผิดชอบ ไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่คิดว่ารัฐบาลต้องเลือกยุบสภาฯ เพราะอย่างไรก็เลือกจะยุบสภาฯ อยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ประเทศและหน่วยงานเดินหน้าได้ จึงควรเลือกทางที่ดีที่สุดให้ประชาชน

logoline