svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วิษณุ" ย้ำ แทบเป็นไปไม่ได้ แม้บางพรรคอยากเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเอง

23 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วิษณุ" เชื่อบางพรรคการเมืองอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯเอง แต่ต้องดูภาพรวมการบริหาร ยันที่ผ่านมากฎหมายให้อำนาจแต่หลายจังหวัดไม่พร้อม ห่วง รัฐบาล-ผู้ว่าฯ อยู่ต่างพรรค นโยบายอาจไม่ไปทางเดียวกัน

23 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดินวุฒิสภา ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงมหาดไทย จัดสัมมนาเรื่อง "ทิศทางและรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินในภูมิภาค" (การมอบอำนาจและการกระจายอำนาจ)

โดย นายพรเพชร วิชิตชลชัยประธานวุฒิสภา กล่าวเปิดสัมมนาว่า การบริหารราชการของแผ่นดินของประเทศไทยเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติบริหารระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ 2534 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 3 ส่วนคือ การบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่ละส่วนล้วนมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน

\"วิษณุ\" ย้ำ แทบเป็นไปไม่ได้ แม้บางพรรคอยากเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเอง

สำหรับบริหารราชการส่วนภูมิภาคมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นกลไกของส่วนกลาง และเป็นการนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ และยังมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำกับดูแลท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ

แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน มีการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการมีกฎหมายว่าด้วยการ กำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ประกอบกับมีการเรียกร้องให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค มีประชาชนเข้าชื่อ เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวด้วย

ซึ่งในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ให้ความสนใจกับข้อเสนอ ดังกล่าว และเป็นประเด็นที่ถกเถียงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แล้วผ่านขั้นรับรองหลักการของที่ประชุมรัฐสภา แต่ก็มีผลกระทบให้ทบทวนการบริหารราชการแผ่นดิน ในด้านการปรับบทบาท รูปแบบของราชการส่วนภูมิภาค ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น

เมื่อพิจารณาการดำรงอยู่ของการมีราชการในภูมิภาค จะเห็นได้ว่าการปฎิบัติราชการระดับจังหวัด ยังคงมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ อาทิ หน้าที่และอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ยังไม่สามารถส่งผลให้เกิดการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการได้อย่างแท้จริง ทำให้การบริหารงานในท้องที่ขาดความเป็นเอกภาพ ทั้งด้านแผนงาน งบประมาณโครงการ และอัตรากำลัง รวมถึงความซับซ้อนในการทำหน้าที่ของส่วนราชการต่างๆ

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายประเทศไม่มีส่วนราชการในภูมิภาค บางประเทศก็มีแค่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หรือบางประเทศมีมากกว่า 3 ส่วน โดยมีส่วนอย่างอื่นเพิ่มมา จึงเป็นเหตุให้มีผู้รู้มากขึ้นจากการไปศึกษาในต่างประเทศ ก็เกิดความคิดอ่านที่หลากหลายว่าจะเอาสิ่งเหล่านี้มาปรับหรือประยุกต์ใช้กับประเทศไทย เพื่อกำหนดทิศทางและการจัดระเบียบต่าง ๆ ได้อย่างไร ระบบราชการที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เรียกกันว่าระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

แต่ก่อนรัชกาลที่ 5 มีการปกครองยังไม่แบ่งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น มีอยู่ส่วนเดียวคือ ส่วนที่ท่านทรงว่าราชการ จึงจำเป็นต้องส่งคนออกไปปกครองส่วนเมือง แต่โดยมากก็ตั้งคนในเมืองนั้น แล้วส่งต่อมายังลูกหลาน วิธีนี้สะดวกสบาย ไม่ต้องเสียค่าขนย้าย จึงเป็นเหตุให้เกิดการผูกขาดอำนาจในแต่ละเมือง จนกระทั่งมีคำเรียกว่า “กินเมือง” ซึ่งไม่ได้แปลว่าคอรัปชั่น แต่แปลว่าปกครองกันเป็นตระกูลไป เช่น ณ สงขลา ณ พัทลุง ณ ภูเก็ต เป็นต้น

\"วิษณุ\" ย้ำ แทบเป็นไปไม่ได้ แม้บางพรรคอยากเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเอง

โดยทุกเมืองก็มีความจงรักภักดี สวามิภักดิ์ ถึงเวลาที่ต้องรบทัพจับศึก เมืองต่าง ๆ ก็ส่งคนมาช่วยสมทบในกองทัพเสมอ จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำริใหม่ว่า การที่มีคนกินเมืองผูกขาดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มันเป็นการซ่องสุมอำนาจ และหากเอาใจออกห่าง ไม่จงรักภักดีก็จะควบคุมกำกับยาก แล้วยังมีเรื่องการจัดเก็บภาษี การบำบัดทุกข์บำรุงสุข เจ้าเมืองบางคนอาจไม่สามารถปกครองได้อย่างเข้มแข็ง แต่อาศัยว่าวงศ์วานว่านเครือ เชื้อสายเป็นเจ้าเมืองกันมาก่อน

ดังนั้นควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยตั้งบุคคลที่มีความสามารถเหมาะสม จากส่วนกลางออกไปปกครอง ถ้าทดสอบทดลองดูแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็สลับสับเปลี่ยนโยกย้ายให้คนออกไปแทน ก็เกิดการพัฒนาขึ้น จนกระทั่งรู้จักกันว่าเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค ตอนนั้นยังไม่มีราชการส่วนท้องถิ่น แต่เมื่อกระแสความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยมีมากขึ้น

จึงเป็นเหตุให้มีการตั้งราชการส่วนท้องถิ่นขึ้นในเวลาต่อมา เพื่อให้มีงบประมาณของตัวเอง เก็บภาษีเอง มีอัตรากำลังของตัวเอง มีนโยบายเอง คิดจะพัฒนาอะไรก็สามารถทำได้เองบ้าง แต่ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ที่เรียกว่าสุขาภิบาลนั้น เป็นท้องถิ่นเล็ก ๆ และมีแค่ในบางแห่ง ทุกอย่างมาเข้ารูปภายหลัง

\"วิษณุ\" ย้ำ แทบเป็นไปไม่ได้ แม้บางพรรคอยากเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเอง

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระแสประชาธิปไตยรุนแรงขึ้น การปกครองอย่างที่จัดอาจไม่ตอบสนองกับความต้องการของประชาชนในบางพื้นที่ อาจเป็นความบกพร่องของบางจังหวัด และอาจเป็นความเก่งกล้าของบางท้องถิ่น จึงเกิดความโดดเด่นหรือตกต่ำ

แล้วเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้คิดว่าควรมีการปรับปรุงหลาย ๆ อย่าง ทั้งให้เป็นการยริหารราชการแผ่นดินแบบเดิม , การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ให้มีแต่ส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น คือ อบจ. อบต. และเทศบาล , การให้มีราชการส่วนภูมิภาคได้ แต่ให้มาจากการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่ เป็นต้น

ทั้งนี้ มองว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าผู้ว่าฯ ที่ได้รับการเลือกตั้งอยู่คนละพรรคการเมือง กับพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล เหมือนปัญหานี้เคยเกิดในกรุงเทพมหานครมาแล้ว ปัญหาคือรัฐบาลจะส่งต่อนโยบายลงไปจังหวัดนั้นได้อย่างไร และหลักประกันว่าเจ้าเมือง จะเอานโยบายไปแปรสู่การปฏิบัติตามที่ส่วนกลางต้องการได้แค่ไหน ที่สุดแล้วก็จะไปคนละทาง

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่ายังมีความจำเป็นการใช้ระบบภายใต้ผู้ว่าฯ เพื่อรับนโยบายจากส่วนกลางออกไปปฏิบัติหัวเมือง แต่ถ้าทำไม่ได้ ส่วนกลางก็ยังสามารถที่จะโยกย้ายตำแหน่งได้ แต่ถ้าเลือกตั้งมา ส่วนกลางก็ไม่สามารถให้คุณให้โทษได้

โดยเคยมีในสมัย นายกฯ ชวน หลักภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีพรรคร่วมรัฐบาลจากหลายพรรคการเมือง บางพรรค อยากให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เอง บางพรรคไม่เอาด้วยก็มี ถกเถียงกันไปมา ถ้าไม่ทำตามความต้องการของแต่ละฝ่ายก็จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ขณะนั้นมีคนหาทางออกที่ดี ด้วยการให้เขียนลงไปว่า รัฐบาลส่งเสริมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดที่มีความพร้อม ทำให้ทุกพรรคการเมืองพึงพอใจ

ตั้งแต่วันนั้นรัฐบาลก็เกิดได้ แต่หลายจังหวัดยังไม่มีความพร้อมที่จะเลือกตั้งเอง พร้อมเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจมีบางพรรคเสนอในลักษณะเดียวกัน แต่ผมก็มองว่ายังไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ หรือเข้มแข็งมากพอ

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการออกพระราชกฤษฎีกาการบริหารราชการแผ่นดินเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ถือเป็นกฎหมายใหม่ แต่ก็ยังบริหารได้ไม่เต็มที่ ยังไม่พร้อม ก็ต้องจัดรูปแบบไปก่อน ถ้าทดลองใช้แล้วล้มเหลว ก็อาจจะต้องแปลงสภาพไปเป็นพระราชบัญญัติ บังคับให้ชัดเจนตายตัว เพราะพระราชกฤษฎีกาเป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง แต่วันหนึ่งอาจจะต้องเป็นพระราชบัญญัติ หรือเขียนลงในรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ต้องศึกษาให้ดีก่อน โดยรัฐบาลก็พร้อมที่จะรับฟัง

ขณะที่ น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนของส่วนราชการเป็นการทดลองทำ เพื่อดูความเป็นไปได้ ถ้าทดลองแล้วมีปัญหาก็แก้ไข ก่อนที่จะกำหนดเป็นตัวบทกฎหมายต่อไป ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. มีกลไกการทำงานส่วนภูมิภาค ตั้งเป้าให้ท้องถิ่นมีความแข็งแรง ก.พ.ร. มีหน้าที่ดูแลโครงสร้าง

ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฯ ก็เปิดช่องให้ผู้ว่าฯ ให้ความเห็นกับ ก.พ.ร. ได้ ให้ผู้ว่าฯ บริหารงานได้คล่องตัว แต่ถ้ามีปัญหาก็ขอให้แจ้งให้ทราบ เพื่อจะได้นำไปสู่การปรับปรุงต่อไป

logoline