svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ไอติม พริษฐ์" หวังสภารับร่าง "ปลดล็อกท้องถิ่น" เพื่อกระจายอำนาจหลายมิติ

07 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พริษฐ์" ขอรัฐสภารับร่างปลดล็อกท้องถิ่น ถกรายละเอียดกันต่อวาระสอง ยันข้อเสนอไม่สุดโต่ง แค่ต้องการให้ไทยวิ่งตามทันโลก

7 ธันวาคม 2565 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่าง “ปลดล็อกท้องถิ่น” จากการเสนอของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน ในวันนี้ ว่า จากการเข้าชี้แจงร่างวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา หลายฝ่ายในที่ประชุมรัฐสภาเห็นตรงกันถึงประโยชน์และทิศทางของการกระจายอำนาจ ว่าประเทศเราควรมีการกระจายอำนาจมากขึ้น เพราะจะสร้างประโยชน์ในหลายมิติ เช่น มิติเศรษฐกิจ ทำให้งบประมาณถูกใช้อย่างถูกจุดมากขึ้น

โดยคนและหน่วยงานที่ใกล้ชิดปัญหา นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ สร้างรายได้ใหม่ๆ ให้ประชาชนในทุกพื้นที่ ในมิติความเหลื่อมล้ำ หลายคนเห็นตรงกันว่าการกระจายอำนาจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างแต่ละพื้นที่ได้ และช่วยยกระดับบริการสาธารณะในทุกจังหวัด ในมิติระบบราชการ จะทำให้ข้าราชการทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น หน่วยงานไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน และในมิติการเมือง การกระจายอำนาจทำให้อำนาจอยู่ใกล้ชิดประชาชน เป็นการอัดฉีดประชาธิปไตยที่ฐานราก

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า บางฝ่ายกังวลว่าร่างของเราเป็นการกระจายอำนาจแบบ "สุดโต่ง" แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่เราทำอยู่เป็นเพียงการพยายามวิ่งตามให้ทันการกระจายอำนาจในประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยเฉลี่ยเมื่อประชาชนจ่ายภาษี 100 บาท ส่วนกลางจะใช้ 60 บาท ท้องถิ่นใช้ 40 บาท แต่ในประเทศไทยปัจจุบัน เราจ่ายภาษี 100 บาท ส่วนกลางใช้ถึง 80 บาท ท้องถิ่นเหลือใช้แค่ 20 บาท
"ไอติม พริษฐ์" หวังสภารับร่าง "ปลดล็อกท้องถิ่น" เพื่อกระจายอำนาจหลายมิติ
โดยหวังว่าคำตอบของทีมผู้ชี้แจงในสภา จะทำให้ทุกคนคลายข้อข้องใจ เช่น ข้อกังวลเรื่องการทุจริต เราชี้ให้เห็นว่าหากการกระจายอำนาจมาควบคู่กับการเพิ่มอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบ และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส จะทำให้การแก้ปัญหาการทุจริตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"ส่วนข้อกังวลเรื่องรัฐเดี่ยว เรายืนยันว่าการกระจายอำนาจการบริหารนั้น ไม่ได้กระทบรูปแบบของรัฐ ตัวอย่างที่น่าจะชัดเจนที่สุดคือประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศญี่ปุ่น ที่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในระดับที่ประเทศไทยอยากมุ่งไปสู่ และทั้งสองประเทศก็ยังเป็นรัฐเดี่ยวและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข" นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ต้องยืนยันว่าเราไม่ได้ทำทันที แต่จะเป็นการเปิดบทสนทนาให้สังคมมีการถกเถียงเรื่องดังกล่าว ก่อนมีการจัดประชามติให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยมีระยะเวลาชัดเจนในการวางแผนและเตรียมรับมือหากผลประชามติออกมาให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยเราจะวางหลักประกันให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคทุกคนไม่มีใครตกงานหรือสูญเสียสิทธิประโยชน์ ทุกตำแหน่งยังคงอยู่ ทุกความก้าวหน้าทางอาชีพยังคงมี และไม่ว่าในอนาคตราชการส่วนภูมิภาคจะเป็นอย่างไร ขอยืนยันว่าข้อเสนอของเราไม่ได้มีการเสนอให้ยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม จากฉันทามติของทุกฝ่ายเกี่ยวกับประโยชน์และทิศทางของการกระจายอำนาจที่ควรเพิ่มขึ้น และด้วยความพยายามของเราในการชี้แจง หวังว่ารัฐสภา ทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา จะร่วมลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง เพื่อเปิดบทสนทนาให้ทุกฝ่ายถกเถียงรายละเอียดเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ และขอเชิญชวนประชาชนติดตามการลงมติ ว่าถึงที่สุดแล้ว การตัดสินใจของรัฐสภาจะเป็นจุดเริ่มต้นฟื้นวาระกระจายอำนาจของประเทศให้คืบหน้าเร็วขึ้นได้หรือไม่

logoline