svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สำรวจ จุดแข็ง จุดอ่อน “5 พรรคการเมือง” ในศึกเลือกตั้ง 2566

20 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย วิเคราะห์เจาะลึก “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ของ 5 พรรคการเมือง ในการทำศึกเลือกตั้งใหญ่ ที่ใกล้เข้ามาเต็มที

Nation Online สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ "จุดแข็ง จุดอ่อน ของ 5 พรรคการเมือง" อย่างเจาะลึก และตรงไปตรงมา ดังต่อไปนี้   

จุดแข็งและจุดอ่อนของ "พรรคเพื่อไทย"

จุดแข็ง “พรรคเพื่อไทย”

จุดแข็งของ “พรรคเพื่อไทย” ประการแรกก็คือการมีฐาน ส.ส.เขต ที่มั่นคงแข็งแกร่ง ซึ่งในการเลือกตั้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในนาม “พรรคไทยรักไทย” , “พรรคพลังประชาชน” หรือว่า “พรรคเพื่อไทย” ก็ล้วนได้ ส.ส. มากเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด

ประการที่ 2 ก็คือ “คุณทักษิณ” ถึงแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องในทางกฎหมายกับ “พรรคเพื่อไทย” ไม่มีตำแหน่งในพรรค แต่ว่า “คุณทักษิณ” ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของ “พรรคเพื่อไทย” แล้วคุณทักษิณเองนั้นก็ยังเป็นผู้ที่กำหนดยุทธศาสตร์ หรือว่าเป็นคนตัดสินใจในการขับเคลื่อนพรรค

เพราะฉะนั้นคะแนนของ “พรรคเพื่อไทย” ก็จะมาจากฐานแฟนคลับ มาจากผู้ที่นิยม “คุณทักษิณ” คนที่ชอบวิสัยทัศน์ในนโยบายของ “คุณทักษิณ” ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ “พรรคเพื่อไทย” ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

สำรวจ จุดแข็ง จุดอ่อน “5 พรรคการเมือง” ในศึกเลือกตั้ง 2566

บทความที่น่าสนใจ

จุดอ่อน “พรรคเพื่อไทย”

จุดอ่อนของ “พรรคเพื่อไทย” ประการแรกเลยคือ การสลัดภาพของ “คุณทักษิณ” ไม่ออก “พรรคเพื่อไทย” ยังคงถูกมองว่า เป็นพรรคมีเจ้าของ การตัดสินใจต่างๆ ทั้งในทางยุทธศาสตร์ ตัวผู้สมัคร ก็ต้องฟัง “คุณทักษิณ” นี่คือสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง

เพราะฉะนั้นเรื่องที่ “คุณทักษิณ” ยังคงเกี่ยวข้องกับพรรค เป็นเจ้าของพรรค “พรรคเพื่อไทย” เป็นของตระกูลชินวัตร ก็มักถูกนำมาพูดถึง และ “พรรคเพื่อไทย” เองก็ไม่ต้องการสลัดภาพนี้ทิ้ง เพราะมองว่าเป็นจุดแข็งของเขา แต่สำหรับคนภายนอกอาจมองอีกมุมหนึ่ง

ประการที่ 2 “พรรคเพื่อไทย” ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจาก ส.ว. ที่ดีนัก แม้เราจะบอกว่า ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ว่ากลไกมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ หลังเลือกตั้ง ส.ว. ก็สามารถร่วมโหวตเลือกตนายกฯ ได้ ดังนั้นถ้าไม่ให้การยอมรับจาก ส.ว. ก็เป็นเรื่องยากในการเป็นนายกฯ ในการจัดตั้งรัฐบาล อันนี้คือสิ่งที่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของ “พรรคเพื่อไทย”

สำรวจ จุดแข็ง จุดอ่อน “5 พรรคการเมือง” ในศึกเลือกตั้ง 2566

เช็กเลเวล ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย

“อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร”  

ในแง่ของความได้เปรียบ ประการแรก “คุณอุ๊งอิ๊งค์” ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ เพราะมีแบรนด์ของ “คุณทักษิณ” ติดตัวอยู่แล้ว “คุณอุ๊งอิ๊งค์” เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของ “คุณทักษิณ” ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้คนในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาฟูมฟักเหมือนแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นๆ

ประการที่ 2 “คุณอุ๊งอิ๊งค์” เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่มีกำลังวังชาที่จะลงสู้ศึกในสนามเลือกตั้ง เส้นทางการเมืองยังอีกยาวนาน เพราะอายุเพิ่ง 35 ปีเท่านั้น วิธีคิดต่างๆ ก็จะสอดรับกับยุคสมัย

แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย ประการแรกเลยก็คือภาพของ “คุณทักษิณ” ซึ่งจะบอกว่า “คุณอุ๊งอิ๊งค์” ไม่เกี่ยวข้องกับ “คุณทักษิณ” หากได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะไม่ทำประโยชน์ให้ “คุณทักษิณ” แต่สุดท้ายเรื่อง “การนิรโทษกรรม” ก็จะเป็นคำถามที่ “คุณอุ๊งอิ๊งค์” ต้องตอบอยู่ตลอดเวลา

เรื่องการพา “คุณทักษิณ” กลับบ้าน หรือแม้แต่เรื่องที่ “คุณอุ๊งอิ๊งค์” คือลูกสาว “คุณทักษิณ” เป็นคนในตระกูลชินวัตร อันนี้ก็จะทำให้ภาพของการเป็น “ชินวัตรแฟมิลี่” ยังคงอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สลัดไม่ได้อยู่แล้ว

ประการที่ 2 ในแง่ประสบการณ์ “คุณอุ๊งอิ๊งค์” อายุยังน้อย ก็อาจถูกตั้งคำถามว่า “ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ?” หรือการผ่านงานสำคัญๆ โดยเฉพาะงานการเมือง “คุณอุ๊งอิ๊งค์” ก็ยังไม่เคยมีประวัติตรงนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องประสบการณ์ก็อาจถูกหยิบยกนำมาโจมตี

สำรวจ จุดแข็ง จุดอ่อน “5 พรรคการเมือง” ในศึกเลือกตั้ง 2566

จุดแข็ง จุดอ่อน "พรรคพลังประชารัฐ"

จุดแข็ง “พรรคพลังประชารัฐ”

จุดแข็งของ “พรรคพลังประชารัฐ” มีอย่างเดียวก็คือ เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน แล้วก็รักษาการรัฐบาลอยู่ ฉะนั้นจึงมีความได้เปรียบในเชิงอำนาจรัฐ ส่วนอื่นๆ ณ วันนี้ คงไม่มีจุดแข็งเท่าไหร่นัก

จุดอ่อน “พรรคพลังประชารัฐ”

จุดอ่อนของ “พรรคพลังประชารัฐ” ก็คือยังเกิดสถานการณ์เลือดไหลไม่หยุด มี ส.ส.ย้ายพรรคมากมาย ย้ายไปอยู่ “รวมไทยสร้างชาติ” มากที่สุด ไป “พรรคเพื่อไทย” ยังมีเลย แล้วก็ไปอยู่พรรคอื่นๆ เช่น “พรรคภูมิใจไทย” ตรงนี้จึงเป็นข้อจำกัดของ “พลังประชารัฐ” ที่จะแก้ปัญหาอย่างไรกับสถานการณ์ดังกล่าว

หรือแม้กระทั่ง “พล.อ.ประวิตร” ก็ถือว่าเป็นจุดอ่อน หรือเป็นข้อจำกัดเช่นกัน เพราะ “พล.อ.ประวิตร” ถูกวิจารณ์ไม่น้อย ทั้งเรื่องนาฬิกา และอีกหลายๆ เรื่อง ก็เป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งของ “พรรคพลังประชารัฐ” ในการชูขึ้นเป็น “แคนดิเดตนายกฯ”

สำรวจ จุดแข็ง จุดอ่อน “5 พรรคการเมือง” ในศึกเลือกตั้ง 2566

จากนโยบายที่เริ่มทยอยออกมา ทำให้พลังประชารัฐดูน่าสนใจขึ้นบ้างหรือไม่ ?

นโยบาย “ป้อม 700” ไม่ใช่ของใหม่ แค่เป็นการบลัฟ “พรรคเพื่อไทย” ค่าแรงขั้นต่ำ 600 แต่ที่ “พรรคเพื่อไทย” สร้างความฮือฮาได้มากกว่า เพราะมีภาพของการทำนโยบายในลักษณะนี้ (ประชานิยม) เป็นเจ้าแรกๆ เช่น ในสมัย “ไทยรักไทย” ก็มี “30 บาท รักษาทุกโรค” มีเรื่อง “กองทุนหมู่บ้าน” สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท” เป็นต้น

เรื่องพวกนี้ (ประชานิยม) จะทำให้คนนึกถึง “พรรคเพื่อไทย” แต่ “ลุงป้อม 700” ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะไม่ใช่พรรคแรกๆ ที่พูดถึงนโยบายเชิงประชานิยม  

สำรวจ จุดแข็ง จุดอ่อน “5 พรรคการเมือง” ในศึกเลือกตั้ง 2566

จุดแข็ง จุดอ่อน “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

จุดแข็ง “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

“พรรครวมไทยสร้างชาติ” จุดแข็งมีอยู่อย่างเดียวเลยครับ ก็คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” น่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ ส.ว.ให้การยอมรับมากที่สุด มีความได้เปรียบเพราะมี ส.ว. 250 คน รออยู่

“แต่ด้วยความที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” เป็นพรรคเกิดใหม่ จึงต้องอาศัยพลังดูด ส.ส. จากพรรคอื่นๆ ซึ่งการที่จะมีพลังดูดอันทรงพลังได้ ก็ขึ้นอยู่กับแคนดิเดตนายกฯ ที่เป็นแม่เหล็ก โดย “พล.อ.ประยุทธ์” ถือว่าเป็นแม่เหล็กที่สำคัญที่สุดของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

จุดอ่อนของ "พรรครวมไทยสร้างชาติ"

ส่วนจุดอ่อนของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ก็เหมือนกับ “พรรคพลังประชารัฐ” คือก่อตั้งขึ้นมาเป็นพรรคเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุนบุคคลบางคน หรือคนบางกลุ่ม ในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

เราจะเห็นได้ว่า “พรรครวมไทยสร้างชาติ” เป็นการรวมกลุ่มของ ส.ส. ไม่ต่างอะไรกับการก่อกำเนิดเกิดขึ้นของ “พรรคพลังประชารัฐ” แล้วในระยะยาวจะไปได้แค่ไหน ? ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้แม้ทางภาคใต้ เสียงสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” จะดีขึ้น แต่ในภาคอื่นๆ อาจจะยากหน่อย นี่ก็คือจุดอ่อนของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

การที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ประกาศเป็นหัวขบวนขวาจัด จะทำให้คะแนนจาก “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ไหลเข้ามา แม้ไม่ถึงกับมากมายนัก แต่อาจมากในระดับหนึ่งที่เกินกว่าหลายคนคาดการณ์ไว้หรือไม่ ?

ผมว่าอาจจะได้คะแนนเสียงระดับหนึ่ง เพราะวันนี้ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ก็มีไม่มากนัก ยิ่งเป็น “กลุ่มอนุรักษ์นิยมสายเก่า” ที่ยังสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ลดลง ทางเลือกทางการเมืองของพวกเขาถือว่าน้อยลงพอสมควร

กลุ่มอนุรักษ์นิยม ในอดีตเขาก็เลือก “พรรคประชาธิปัตย์” เลือก “พรรคพลังประชารัฐ” แต่ในปัจจุบันอาจหันมาสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ในนาม “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ส่วนพรรคอื่นในแนวทางนี้ (ขวาจัด) อย่างเช่น "ไทยภักดี" ก็ไม่มีคนที่จะเป็นแม่เหล็ก หรือแม้กระทั่ง “พรรครวมพลัง” (รวมพลังประชาชาติไทย) คะแนนเสียงที่ได้คงไม่มากนัก เพราะกระแสอนุรักษ์นิยมลดลง เพียงแต่ว่าพลังของพวกเขายังมีเยอะ แต่จำนวนคนมีไม่มาก

ถ้าในการเลือกตั้ง อนุรักษ์นิยมแพ้อยู่แล้วครับ แต่ว่าพลังด้านอื่นๆ เช่น ส.ว. 250 คน อันนั้นก็ถือว่า เป็นข้อได้เปรียบอีกส่วนหนึ่ง แต่ถ้าในแง่ที่ว่า พลังอนุรักษ์นิยมจะเทคะแนนให้ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ผมว่าไม่ถึงขั้นนั้นครับ

สำรวจ จุดแข็ง จุดอ่อน “5 พรรคการเมือง” ในศึกเลือกตั้ง 2566

จุดแข็งและจุดอ่อนของ “พรรคก้าวไกล”

จุดแข็ง พรรคก้าวไกล

“พรรคก้าวไกล” มีจุดแข็งเรื่องนโยบาย ข้อเสนอในเชิงโครงสร้างสังคม โครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่

จุดอ่อน พรรคก้าวไกล

ส่วนจุดอ่อนก็คือตอนนี้ไม่มีกระแส ดังเช่นกระแส “คุณธนาธร” ในการเลือกตั้งปี 2562 ในนามของ “พรรคอนาคตใหม่” แล้วก็มีปัญหาภายในพรรค ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะ “พรรคก้าวไกล” ก็ออกมาแฉกันเองรายวัน

เช็กเลเวล ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ “พรรคก้าวไกล”

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

“คุณพิธา” เป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดที่น่าสนใจ มีลักษณะการประนีประนอมมากกว่า “คุณธนาธร” ทำให้ดูเหมือนว่า “คุณพิธา” เป็นคนซึ่งทางฝั่งอนุรักษ์นิยม พอจะยอมรับได้ในระดับหนึ่ง

แต่ในแง่ของจุดอ่อน “คุณพิธา” ไม่ดุเดือด ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจฐานของพรรคก้าวไกล (แฟนคลับ) ที่นิยมความดุเดือด แต่ “คุณพิธา” ไม่ได้ดุเดือดเหมือน “คุณธนาธร” จึงอาจไม่ได้เรียกกระแสได้เหมือน “คุณธนาธร” หรือ “คุณปิยบุตร”

สำรวจ จุดแข็ง จุดอ่อน “5 พรรคการเมือง” ในศึกเลือกตั้ง 2566

จุดแข็ง จุดอ่อน พรรคภูมิใจไทย

จุดแข็งของ “พรรคภูมิใจไทย”

“ในแง่จุดแข็ง “พรรคภูมิใจไทย” เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แล้วเติบโตแบบเงียบๆ เป็นพรรคซึ่งมีทรัพยากรทางการเมืองเยอะ ในการเลือกตั้งครั้งนี้คาดว่าจะมีโอกาสขยายฐานได้ในหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ  มี ส.ส.ที่ย้ายจากพรรคอื่นมาเข้าร่วมจำนวนไม่น้อย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “พรรคภูมิใจไทย” มีความพยายามจะเปิดพื้นที่ใหม่ๆ เช่น กรุงเทพฯ พื้นที่ใหม่ในภาคใต้ ในภาคอีสาน และอีกหลายจังหวัด เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็คือจุดแข็งของ “พรรคภูมิใจไทย” ที่มีโอกาสได้ ส.ส. เกิน 100 ที่นั่ง

จุดอ่อนของ “พรรคภูมิใจไทย”

จุดอ่อนของ “พรรคภูมิใจไทย” ก็คือการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโครงการต่างๆ ในกระทรวงที่ “พรรคภูมิใจไทย” ดูแล

เช็กเลเวล ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ “พรรคภูมิใจไทย”

“อนุทิน ชาญวีรกูล”

“คุณอนุทิน” เป็นว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ที่น่าสนใจอีกท่านหนึ่ง ที่มีโอกาสเป็น “นายกรัฐมนตรี” เพราะอย่าลืมว่า ส.ว. 250 คน น่าจะให้การยอมรับ “คุณอนุทิน” ซึ่งอาจจะไม่น้อยกว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จึงมีโอกาสที่เราอาจได้เห็น “คุณอนุทิน” เป็นนายกฯ ...ก็เป็นไปได้ครับ

logoline