svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประชาชาติ"เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติให้ยึดโยงประชาชน

10 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พรรคประชาชาติ เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ให้ยึดโยงประชาชนและสิทธิมนุษยชน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณาการเข้าทำประโยชน์-อยู่อาศัย

10 กุมภาพันธ์ 2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส. และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมคณะ ส.ส. ในพรรค ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดให้พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นหรือต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าสวนแห่งชาติ และกำหนดให้พื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนให้เพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนออกและให้กรมที่ดินดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสิทธิครอบครอง ตามกฎหมายหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

นอกจากนี้ กำหนดให้การพิจารณาอนุญาตเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา โดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามหลักการสิทธิชุมชนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ในพื้นที่ 77 จังหวัด มีพื้นที่ตามความเป็นจริงทั้งหมดประมาณ 60,379,343.94 ไร่ (แต่พื้นที่ตามประกาศท้ายกฎหมายก่อนทำการปรับปรุงฯ ประมาณ 146,376,720.90 ไร่) แบ่งตามแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางประมาณ 4,177,584.76 ไร่ ภาคตะวันออกประมาณ 1,863,461.61 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 12,395,887.17 ไร่ ภาคใต้ประมาณ 4,479,425.77 ไร่ ภาคใต้และภาคใต้ชายแดนประมาณ 1,561,206.85 ไร่ และภาคเหนือประมาณ 35,901,777.78 ไร่

โดยร่างได้เสนอแก้ไขการอนุญาตตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ที่ให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และปัญหาพื้นที่ที่หมดอายุการอนุญาต การดำเนินการ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 46 มีผลบังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กระบี่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี โดยแก้ไขเพิ่มเติมว่า

“การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา โดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
 

เหตุที่ต้องมีการแก้ไข ในการพิจารณาการใช้ประโยชน์เพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา และประชาชน ชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์นำจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและเป็นคนในพื้นที่เป็นหลัก หรือนำพื้นที่ไปจัดการให้เป็นป่าชุมชน ฟื้นฟูสภาพป่า ป่าในเมือง หรือป่าเศรษฐกิจชุมชน

ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้อนุญาตผู้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ รวมทั้งหมด 8,119 ราย แบ่งเป็น ส่วนราชการ 6,467 ราย และภาคเอกชน 1,652 ราย ในพื้นที่มากเกือบ 4 ล้านไร่ (ข้อมูลที่รวบรวมยังไม่ครบทุกแปลงประมาณ 3.79 ล้านไร่) ที่รัฐให้เช่าในราคาถูกมากๆ บางแปลงไร่ละ 50 สตางค์/ปี ในจำนวนนี้ มีการอนุญาตให้นายทุนเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันและปลูกยางพารา 115 ราย ในพื้นที่กว่า 222,322.26 ไร่ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

logoline