svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“ทวี” ข้องใจ! ก่อสร้างรัฐสภา ล่าช้า กว่า 2 ปี แต่ผู้รับเหมาไม่เสียค่าปรับ

18 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ทวี สอดส่อง” ชี้ ก่อสร้างอาคารรัฐสภา ล่าช้ากว่า 2 ปี ผู้รับเหมาต้องเสียเงินค่าปรับตามสัญญา 9.8 พันล้านบาท แต่ทำไมค่าปรับจึงเป็น 0 หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยค่าโง่

18 มกราคม 2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ  โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟสบุ๊ก ระบุว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ งานสาธารณูปโภค งานสาธารณูปการ งานระบบประกอบอาคารและภายนอกอาคาร งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอุปกรณ์ครุภัณฑ์ ในพื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มูลค่างานตามสัญญา จำนวน 12,280 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาและที่ขยายระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2556 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 2,764 วัน 

“ทวี” ข้องใจ! ก่อสร้างรัฐสภา ล่าช้า กว่า 2 ปี  แต่ผู้รับเหมาไม่เสียค่าปรับ

เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งตามสัญญาจ้างก่อสร้างฯ “ข้อ 20 ค่าปรับและค่าเสียหาย” กำหนดให้ ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.10 (ศูนย์จุดหนึ่งศูนย์) ของราคางานจ้างก่อสร้างทั้งหมดตามสัญญา หรือวันละ 12.28 ล้านบาท  

และต้องชำระค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการ วันละ 332,140 บาท รวมแล้วประมาณวันละ 12.61 ล้านบาทเศษ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ผู้รับจ้างทำงานไม่เสร็จก่อสร้างล่าช้า ซึ่งการทำสัญญาและหลักประกันนั้น ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ใน มาตรา 97 สัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือที่ได้ลงนามแล้วจะแก้ไขไม่ได้ และกรณีนี้ไม่น่าจะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 97 กับ มาตรา 102 การงดหรือลดเบี้ยปรับผู้มีอำนาจพิจารณาได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง เฉพาะในกรณีที่กฎหมายกำหนด 

ปรากฎว่าเมื่อเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ผู้รับจ้างได้มีหนังสือแจ้งขอส่งมอบงานทั้งโครงการตามสัญญางวดสุดท้าย แต่ผู้ควบคุมงาน ที่ปรึกษาบริหารโครงการ และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้ตรวจงานแล้วพบว่ายังมีงานก่อสร้างที่ผู้รับจ้างต้องดำเนินการแก้ไข เนื่องจากไม่ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา จึงไม่รับมอบงานและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าจ้างได้มีคำสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างผู้รับจ้างดำเนินการงานก่อสร้างตามรูปแบบและรายการให้แล้วเสร็จทั้งหมด รวมทั้งแก้ไขงานที่ชำรุดบกพร่อง (Defects) ซึ่งงานตามสัญญายังไม่แล้วเสร็จ ถึงปัจจุบัน (18 มกราคม 2566) ยังส่งมอบงานไม่ได้ มีความล่าช้าเป็นเวลาประมาณ 778 วัน หรือมากกว่า 2 ปี บริษัทผู้รับจ้าง ต้องถูกปรับรวมเป็นเงินมากกว่าหมื่นล้านบาท คือประมาณมากกว่า 9.8 พันล้านบาท

ข้ออ้างบริษัทผู้รับจ้างสร้างสภารัฐสภาที่ไม่จ่ายค่าปรับ คือได้มีหนังสือขอรับสิทธิตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 693 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2564 และที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 654 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2565 และ ที่ กค (กวจ) 044.2/ว 1459 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ตามลำดับ 


“ทวี” ข้องใจ! ก่อสร้างรัฐสภา ล่าช้า กว่า 2 ปี  แต่ผู้รับเหมาไม่เสียค่าปรับ

ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ให้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีแนวทางให้กำหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0 เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากผลกระทบของโควิด 19

ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4) อนุมัติยกเว้นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 162 กำหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ โดยเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎรได้เห็นดีเห็นงามไปด้วยนั้น และได้ดำเนินการแก้ไขสัญญาจ้างที่ได้ลงนามเสร็จสิ้นแล้ว

ซึ่งจากเดิมสัญญามีการกำหนดค่าปรับตามสัญญาค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.10 นั้นได้แก้ไขเป็นสัญญาไม่มีค่าปรับเลย โดยใช้ถ้อยคำว่า “กำหนดค่าปรับเป็นร้อยละ 0” (ศูนย์บาท)

ผมไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่แก้ไขเป็น สัญญา “กำหนดค่าปรับเป็นร้อยละ 0  ไม่น่าจะถูกต้องเนื่องจากความในข้อ 162 ของระเบียบกระทรวงการคลังฯ เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด “การทำสัญญาและหลักประกัน” กล่าวคือ เป็นข้อกำหนดในขั้นตอนการทำสัญญาที่หน่วยงานของรัฐจะต้องกำหนดค่าปรับอันถือเป็นหลักประกันไว้ในสัญญาตามอัตราที่ระเบียบกำหนด ไม่ใช่ในขั้นตอนการ “แก้ไขสัญญา”

ส่วนการแก้ไขสัญญา เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 97 ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับศักดิ์พระราชบัญญัติ และเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐในการยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ เท่านั้น(พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 29(4) ) ดังนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยฯ จึงไม่อาจยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ที่ให้อำนาจแก่ตนเองได้ การที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปแก้ไขสัญญาฯ

จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนือจากขอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 97 และมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

เรื่องตลกร้ายเกิดขึ้น บริษัท ซิโน-ไทยฯ ผู้รับจ้าง ได้ยื่นฟ้องสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อศาลปกครองกลาง กรณีส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้าและการขนย้ายดินในระยะต้นๆ ของการก่อสร้างในคดีหมายเลขดำที่ 961/2563 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 1,596,592,305.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเสร็จสิ้นปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

แต่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ช่างใจดีกับผู้รับเหมาก่อสร้างด้วยการงด หรือยกเว้นค่าปรับให้ ถึงปัจจุบันมากกว่า 9.8 พันล้านบาท กลายเป็นว่ารัฐเสียสิทธิในการเรียกเงินค่าปรับส่งมอบงานล่าช้า ถือว่าเป็นเงินภาษีของประชาชน เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติแล้วหรือ มิหนำซ้ำรัฐสภายังถูกบริษัท ซิโน-ไทยฯ ผู้รับจ้าง เรียกร้องค่าเสียหายอีกมากกว่า 1.5 พันล้านบาท ถ้าแพ้คดีต้องหนีไม่พ้นเอาเงินภาษีของประชาชนจ่ายให้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างสร้างรัฐสภาทำไมประชนคนไทยจึงช่างโชคร้ายเหลือเกิน

ทั้งที่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาล่าช้ามีผลกระทบให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยตรงเกือบหมื่นล้านบาท การไม่ปกป้องสิทธิประโยชน์ของรัฐดังกล่าวเกรงว่าจะเกิดการประวัติศาสตร์ซ้ำรอยค่าโง่ ที่รัฐต้องสูญเสียประโยชน์อีกครั้ง 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ กำลังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพเชิงโครงสร้าง กรณีมีเหตุการณ์น้ำฝนรั่วจากเพดานห้องประชุมสุริยัน เมื่อวันที่ 14 ต.ค.64 ซึ่งการใช้งานบวกความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปนับ 2 หมื่นล้าน ท่ามกลางความไม่ชอบมาพากลหลายประเด็นเกิดขึ้น 

“ทวี” ข้องใจ! ก่อสร้างรัฐสภา ล่าช้า กว่า 2 ปี  แต่ผู้รับเหมาไม่เสียค่าปรับ

เช่นกรณีก่อนหน้านี้ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และ วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบ 3  เงื่อนปมใหม่เพิ่มเติมที่ "นายวิลาศ" ตั้งข้อสงสัย

1.มีการติดตั้งเสาไฟ L03 ช่วงต้นปี ตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ.2564 จริงหรือไม่ กระบวนการติดตั้งถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ เพราะมีข้อสงสัยว่าเป็นเสาเหล็กจริง หรือเสาที่ใช้แผ่นเหล็กม้วนแล้วเชื่อมเป็นรูปเสา

2.ไฟฟ้าที่ต่อจากมิเตอร์ชั่วคราวไม่สามารถใช้กับเครื่องจักรที่ใช้ไฟจำนวนมาก ต้องใช้ไฟของรัฐสภาใช่หรือไม่ ถ้าเป็นจริง มีการคิดค่าไฟตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 หรือไม่ อย่างไร

3.ค่าทดสอบระบบไฟรวม ที่ต้องทดลองเปิดใช้อุปกรณ์ทุกชนิดที่เกี่ยวกับไฟเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้มีการคิดค่าใช้จ่ายแล้วหรือไม่อย่างไร เพราะขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว มีการเจรจาจ่ายเงิน หรือชำระแล้วหรือไม่ ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้วหรือไม่ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดหรือยัง

“ทวี” ข้องใจ! ก่อสร้างรัฐสภา ล่าช้า กว่า 2 ปี  แต่ผู้รับเหมาไม่เสียค่าปรับ

และยังไม่นับรวมก่อนหน้านี้ที่นายวิลาศ” ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการรัฐสภา ขอให้ตรวจสอบไม้ปูพื้นโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปูพื้นไม้ว่า เป็น "ไม้ตะเคียนทอง" ทั้งหมด ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจริงหรือไม่ หรือเป็นไม้ตะเคียนทองผสมไม้ชนิดอื่นหรือไม่ ไม้มีขนาดความกว้าง และความหนาถูกต้องตามแบบหรือไม่

และให้ตรวจสอบ "หินทราโวทีน" นอกจริงหรือไม่ โดยสามารถตรวจจากใบกำกับภาษีการนำเข้าสินค้าจากกรมศุลกากร เพราะจากการเอาเศษหินที่บริเวณก่อสร้างให้นักธรณีดู มีข้อสงสัยว่าอาจเป็นหินอ่อนสุโขทัย แต่มีบางคนบอกว่า เป็น "หินแกรนิตสีชมพู" ซึ่งพบที่ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ 

“ทวี” ข้องใจ! ก่อสร้างรัฐสภา ล่าช้า กว่า 2 ปี  แต่ผู้รับเหมาไม่เสียค่าปรับ

พร้อมขอให้นำนักธรณีวิทยามาตรวจสอบข้อเท็จจริง และตามแบบในสัญญาหินทราโวทีนนอกมีขนาด 50 x 100 ซม. หนา 25 ม.ม. เห็นว่าการเปลี่ยนแบบ โดยลดความหนาลงเหลือหนา 20 ม.ม. จะทำให้การรับน้ำหนัก และความคงทนลดลงมาก เพราะมีขนาดใหญ่พิเศษ และหากมีการชำรุดหรือแตกในอนาคตจะหาวัสดุมาทดแทนยากลำบาก 

อีกทั้งยังพบข้อมูล ที่กรมทรัพยากรธรณีให้ข้อมูลว่า หินความหนา 20 ม.ม. และ 25 ม.ม.ราคาต่างกันเกือบเท่าตัว ทั้งนี้เพราะชนิดความหนา 25 ม.ม.เป็นความหนาพิเศษราคาจึงสูง และถ้ามีการแก้ไขสัญญาจริง

มีคำถามว่า หากเป็นไปตามข้อมูลที่ นายวิลาศ  นำมากล่าวอ้าง แล้วส่วนต่างที่หายไปอยู่ตรงไหน  ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่รอการตรวจสอบจากทางฝั่งสภาฯ ที่ยามนี้ยังคงนิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว

และก่อนหน้านี้คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีมติไม่ขยายสัญญาการก่อสร้างครั้งที่ 5 ให้แก่ บริษัทซิโน-ไทยฯ พร้อมเรียกค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ล่วงเลยมากว่า 10 เดือน คำถามคือสภาได้รับค่าปรับที่เป็นจำนวนเงินจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขแล้วหรือไม่

logoline