svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

ปี 2566 ไทยลุยศึกใหญ่ “ซีเกมส์-เอเชียนเกมส์” แต่ภาพรวมยังต่ำกว่าเป้า

28 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปี 2566 เป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับทัพนักกีฬาไทย เพราะเป็นปีที่มีการแข่งขันมหกรรมกีฬาใหญ่ถึง 2 รายการ คือ ซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์ ผลปรากฏว่าทัพนักกีฬาไทยทำผลงานต่ำกว่าเป้าทั้งหมด จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงหลักเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณว่าควรปรับใหม่หรือไม่

สำหรับมหกรรมกีฬาซีเกมส์ที่กัมพูชา มีดราม่าตั้งแต่ยังไม่เริ่ม จากประเด็น “กุน ขแมร์” ที่ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างแฟนกีฬาชาวไทยกับกัมพูชา แต่เมื่อเข้าสู่การแข่งขันแล้วประเด็นความขัดแย้งต่างๆก็ค่อยๆลดน้อยลงไปตามจำนวนเหรียญที่ไทยขยับแซงหน้าเจ้าภาพไปเรื่อยๆ ก่อนจบที่จำนวน 108 เหรียญทอง 98 เหรียญเงิน 108 เหรียญทองแดง รั้งอันดับ 2 ในตารางเหรียญ ตามหลัง เวียดนาม ซึ่งขึ้นเป็นเบอร์ 1 อาเซียน 2 สมัยติด โดยกวาดรวม 136 เหรียญทอง 105 เหรียญเงิน 114 เหรียญทองแดง

แม้ผลงานดังกล่าวจะทำให้ทัพนักกีฬาไทยชวดตำแหน่งเจ้าเหรียญทองซีเกมส์เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน แต่สิ่งที่แฟนกีฬาชาวไทยให้ความสนใจมากกว่าก็คือ หากนับเฉพาะ "กีฬาสากล" ที่มีแข่งขันในเอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิกเกมส์ ทีมชาติไทยมีผลงานเป็นอย่างไร 

เพราะต้องยอมรับว่าการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน ทางเจ้าภาพมักจะบรรจุกีฬาพื้นบ้านประจำชาติของตัวเอง พร้อมมีเหรียญรางวัลให้ชิงชัยมากเป็นพิเศษเพื่อสร้างความได้เปรียบให้เจ้าภาพ ดังเช่นในซีเกมส์ครั้งนี้ ที่มีการแข่งขัน "กุน ขแมร์-โบกาตอร์" กีฬาของชาวเขมร โดยมีการชิงชัยกันมากถึง 40 เหรียญทอง แต่ไทยไม่ได้ส่งนักกีฬาลงแข่งขัน เป็นต้น ตารางเหรียญทั้งหมดจึงอาจไม่ได้สะท้อนภาพรวมของการพัฒนาในวงการกีฬาไทยมากเท่าที่ควร

โดยหากนับชนิดกีฬาสากลที่มีในกีฬาโอลิมปิกและกีฬาเอเชียนเกมส์ ไทยกลับมาเป็นเจ้ากีฬาสากลอีกครั้ง ที่จำนวน 54 เหรียญทอง ส่วนเวียดนาม อยู่อันดับ 2 คว้าไป 52 เหรียญทอง

แม้จะเป็นเบอร์ 1 ในกีฬาสากล แต่หากมองไปถึงเป้าหมายของแต่ละสมาคมก่อนการแข่งขันแล้ว พบว่ามีชนิดกีฬาที่ทำผลงานได้เกินเป้าหมายเพียง 10 กีฬา ประกอบด้วย กรีฑา,  คริกเก็ต, เทควันโด, มวยสากล, ยูยิตสู, โววีนัม, คาราเต้,  เรือยาวมังกร, เปตอง และวินด์เซิร์ฟ 

แต่ชนิดกีฬาที่ทำผลงานต่ำกว่าเป้านั้น มีมากถึง 15 กีฬา ประกอบด้วย ยูโด, บาสเกตบอล, กอล์ฟ,  เรือใบ, บิลเลียดและสนุกเกอร์, อีสปอร์ต,  ซอฟท์เทนนิส, คิกบ็อกซิ่ง, ฟันดาบ, ฟุตบอล, ฮอกกี้,  ฟลอร์บอล, ยิมนาสติก, ไตรกีฬา และ หมากรุกสากล

โดยที่เป็นข่าวอื้อฉาวที่สุดก็คือฟุตบอลชาย ที่นอกจากจะไม่ได้เหรียญทองตามเป้าหมายแล้ว ยังมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกับฝ่ายอินโดนีเซียจนเป็นเรื่องราวใหญ่โตถึงขั้นโดนลงโทษแบนยาวไปหลายราย ส่งผลให้เงินอัดฉีดของทัพ “ช้างศึก U23” ก็ถูกระงับและยังไม่ได้รับเงินจนถึงบัดนี้
ฟุตบอลชาย กับเหตุวิวาทในเกมที่พบกับ อินโดนีเซีย
สรุปภาพรวมในซีเกมส์ แม้จะเป็นเจ้าแห่งกีฬาสากล และเป็นอันดับ 2 ในตารางเหรียญรางวัล แต่จำนวนที่ได้มานั้นถือว่าต่ำกว่าเป้า อย่างไรก็ตาม หลายๆสมาคมยังมองว่า ซีเกมส์ เป็นเพียงเวทีเตรียมความพร้อมเท่านั้น เพราะศึกใหญ่ที่แท้จริงที่เป็นเวทีพิสูจน์ความสามารถนั้น อยู่ที่ เอเชียนเกมส์ที่หางโจวมากกว่า

และอีกราว 3 เดือนถัดมา “หางโจวเกมส์” ก็เปิดฉากขึ้น ทัพนักกีฬาไทยต่างก็พยายามอย่างเต็มที่ โดยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันมากถึง 941 คน มากที่สุดในบรรดาชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด ก่อนจบการแข่งขันด้วยการได้มา 12 เหรียญทอง, 14 เหรียญเงิน และ 32 เหรียญทองแดง รวม 58 เหรียญ ได้อันดับ 8 ซึ่งนับเป็นผลงานที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ที่วางไว้อย่างน้อย 15 เหรียญทอง

โดยกลุ่มที่เกินเป้า มี 8 สมาคมกีฬา ได้แก่ เทควันโด, วินด์เซิร์ฟ, เรือใบ, กอล์ฟ, เทเบิลเทนนิส, ขี่ม้า, จักรยานและ ยิงเป้าบิน ส่วนกลุ่มที่ต่ำกว่าเป้า มีมากถึง 23 สมาคมกีฬา คือ กรีฑา, มวยสากล, บาสเกตบอล, เรือพาย, กาบัดดี้, ฟุตบอล, ยิงปืน, ยูยิตสู, ปีนหน้าผา, วูซู, ซอฟต์เทนนิส, สควอช, ยูโด, มวยปล้ำ, ว่ายน้ำ, ฟันดาบ, ลีลาศ, วอลเลย์บอล, รักบี้, เอ็กซ์ตรีม, แฮนด์บอล, คริกเก็ต และ คูราช 

ซึ่งที่น่าผิดหวังที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือสมาคมกีฬากรีฑาฯ ที่ถูกมองว่าตัดสินใจผิดพลาดในการแข่งขันวิ่งระยะสั้น เมื่อให้ “ต้า” สรอรรถ ดาบบัง กับ “บิว” ภูริพล บุญสอน ยอมแพ้เพื่อเซฟร่างกายไว้แข่งประเภท 4x100 เมตรชายที่เป็นความหวังสูงสุด แต่สุดท้ายทีมวิ่งผลัดไทยก็ทำได้แค่อันดับ 4 พลาดเหรียญรางวัลอย่างน่าเสียดาย ซึ่งจากการวางแผน “ยอมแพ้” ในบางรายการแบบนี้ก็ทำให้แฟนกีฬาชาวไทยตำหนิอย่างหนัก แม้กระทั่ง พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ นายกสมาคมฯก็ยังรับไม่ได้ ถึงขั้นประกาศขอลาออกหลังจบการแข่งขันทันที

ทีมวิ่งผลัด 4x00 ม.ชาย หวังถึงทอง แต่จบแบบไม่ได้เหรียญ
และจากการที่นักกีฬาไทยทำผลงานต่ำกว่าเป้าหมายรวมใน 2 มหกรรมกีฬาของปีนี้ ก็ทำให้แฟนกีฬาชาวไทยเริ่มมองว่า ในกีฬาบางชนิดที่ไม่มีพัฒนาการ หรือทำผลงานต่ำกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เรายังสมควรที่จะทุ่มงบประมาณสนับสนุนต่อไปหรือไม่ หรือควรจะนำเงินส่วนนี้โยกไปสนับสนุนชนิดกีฬาที่มีความหวังหรือมีพัฒนาการมากกว่า แต่มุมมองนี้ก็ยังมีเสียงคัดค้าน เพราะหากชนิดกีฬาใดไร้เงินสนับสนุน ก็แทบไม่มีโอกาสพัฒนาขึ้นมาได้ และจะยิ่งทำให้กีฬาชนิดนั้นๆเสื่อมความนิยมและขาดการพัฒนามากกว่าเดิมอีก

จึงเป็นการบ้านที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย, กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และการกีฬาแห่งประเทศไทย ต้องหันกลับมาพิจารณารวมกันว่า จะบริหารจัดการงบประมาณสนับสนุนวงการกีฬาไทยแบบไหนดี

logoline