svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

สมาคมตำรวจฯ ชู 5 ประเด็น "ปฏิรูปตำรวจ" ประธาน ก.ตร. มาจากการเลือกตั้ง ขจัดการเมืองครอบงำ

สมาคมตำรวจฯ ชู 5 ประเด็น "ปฏิรูปตำรวจ 2567" ประธาน ก.ตร. มาจากการเลือกตั้ง ป้องกันการเมืองแทรกแซง พร้อมฟื้นแท่งงานสอบ

16 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ สมาคมตำรวจ ร่วมกับ  สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชมรมพนักงานสอบสวน แถลงข่าว รณรงค์ "ปฏิรูปตำรวจ 2567" โดยตำรวจ และประชาชน ซึ่งมี พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน

พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ, พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวน, รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ฯ ม.รังสิต, ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ก่อตั้ง สำนักวิจัย Superpoll และนายยิ่งชีพ อัชฌาสัย ผู้จัดการ ILaw ร่วมแถลง

สมาคมตำรวจฯ ชู 5 ประเด็น \"ปฏิรูปตำรวจ\" ประธาน ก.ตร. มาจากการเลือกตั้ง ขจัดการเมืองครอบงำ

สมาคมตำรวจ และภาคีเครือข่าย แถลงร่วมกันว่า วิกฤตศรัทธาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดที่ตกต่ำที่สุดนับแต่มีการจัดตั้งองค์กร ตำรวจมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการรักษากฎหมาย ดูแลความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย และทำหน้าที่ต้นทาง ต้นธารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เกี่ยวพันชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง แต่กำลังถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมาจากหลากหลายพฤติกรรมด้านลบของบุคคลในองค์กร ที่สะท้อนมาจากความล้มเหลวในการบริหารงานภายในองค์กรอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

จนถึงจุดต่ำสุดเมื่อผู้บริหารสูงสุดขององค์กร 2 คน ถูกกล่าวหา และถูกดำเนินคดีอาญาในข้อกล่าวหาว่าได้เรียกรับเงินจากเว็บพนันออนไลน์ และฟอกเงินหลักร้อยล้านบาท

สมาคมตำรวจฯ ชู 5 ประเด็น \"ปฏิรูปตำรวจ\" ประธาน ก.ตร. มาจากการเลือกตั้ง ขจัดการเมืองครอบงำ

นอกจากนี้ยังปรากฏข่าวในทำนองว่าทั้งสองมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีการฟ้องร้องดำเนินคดีและกล่าวหากันไปมา จนถึงขนาดที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีต้องออกคำสั่งให้ทั้งคู่ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในกรณีที่เกิดขึ้น

สมาคมตำรวจ และภาคีเครือข่าย เห็นพ้องว่า เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของระบบการบริหารภายในองค์กรที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาวะการณ์แบบนี้ขึ้นมา และขณะนี้อาการขั้นรุนแรง ซึ่งเกิดจากการสะสมของโรคมาเป็นระยะเวลายาวนาน

สมาคมตำรวจฯ ชู 5 ประเด็น \"ปฏิรูปตำรวจ\" ประธาน ก.ตร. มาจากการเลือกตั้ง ขจัดการเมืองครอบงำ

หากไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างเร่งด่วนแล้ว องค์กรตำรวจของไทยคงจะต้องเสื่อมสลายทางความเชื่อถือ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและนานาอารยะประเทศ ให้รับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้รักษากฎหมาย และเป็นกระบวนการยุติธรรมที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของบ้านเมืองและสังคมให้อยู่โดยปกติสุขได้  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของประเทศในท้ายที่สุด

การปฏิรูปตำรวจที่ผ่านมา มีการศึกษาและดำเนินการกันมาระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดมีการตรากฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ขึ้นมาบังคับใช้แต่ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรตำรวจได้อย่างเห็นผล เนื่องมาจากว่าในขั้นตอนการตรากฎหมายนั้น มีการแก้ไขสาระสำคัญในหลายๆ เรื่อง ที่ไม่ตรงกับที่ได้มีการศึกษากันมาก่อนหน้านั้น ทำให้กฎหมายที่ตราออกมาไม่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่สะสมอยู่ได้อย่างเห็นผล

"ดังนั้น จึงสมควรที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อที่จะให้การแก้ไขปัญหาในองค์กรตำรวจสำเร็จตามเจตนารมณ์ของสังคมได้" สมาคมตำรวจ ฯ เสนอ

สำหรับประเด็นที่จะเสนอเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในการบริหารงานบุคคล ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน มีดังนี้

1. แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยไม่ต้องกำหนดให้มี "นายกรัฐมนตรี" เป็นประธาน ก.ตร. แต่ให้ประธาน ก.ตร. มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจขณะที่เสนอให้มี ก.ตร.โดยตำแหน่งที่เป็นข้าราชการประจำ และ ก.ตร.ที่มาจากการเลือกตั้งในจำนวนที่เท่ากัน ปรับลดจำนวน ก.ตร.จากเดิม 16 คน เหลือ 14 คน ประกอบด้วย

  • 1. ประธาน ก.ตร.มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ
  • 2. ผบ.ตร.เป็น รองประธาน ก.ตร.
  • 3. รอง ผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ รวม 6 คน
  • 4. ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ จำนวน 6 คน รวมเป็น 14 คน

เพื่อป้องกันการแทรกแซงการบริหารงานบุคคล จากฝ่ายการเมืองและผู้มีอิทธิพลภายนอกองค์กร

2. จัดตั้งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ กองบัญชาการ (ก.ตร.บช.) ให้มี ก.ตร.บช. ขึ้นในกองบัญชาการต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจภายในอำนาจของกองบัญชาการนั้น ๆ โดย ก.ตร.บช. ประกอบด้วย

  • 1. ประธาน ก.ตร.บช.มาจากการเลือกตั้ง ของข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการนั้นๆ
  • 2. ผบช.เป็น รองประธาน ก.ตร.บช.
  • 3. รอง ผบช.เป็นกรรมการ
  • 4. ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ 6 คน รวม 14 คน

3. ปรับปรุงกฎหมายในส่วนของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) โดยให้มีการจัดตั้ง สำนักงาน ก.พ.ค.ตร.ขึ้น เพื่อรองรับการทำงานของ ก.พ.ค.ตร. แทนจากเดิมที่ใช้ สง.ก.ตร. เป็นหน่วยสนับสนุนการทำงาน  เนื่องจาก สง.ก.ตร. มีภารกิจมาก และไม่มีความถนัดเฉพาะทางต่องานในความรับผิดชอบของ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งเปรียบเสมือนศาลปกครองชั้นต้น ซี่งจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านในเรื่องดังกล่าวมารองรับ สนับสนุนการทำงานของ ก.พ.ค.ตร.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ปรับปรุงกฎหมายในส่วนของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) โดยแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของ ก.ร.ตร. ให้มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการพิจารณาคดีวินัย การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เพื่อให้ตรงกับภารกิจหน้าที่ของ ก.ร.ตร. และให้มีการจัดตั้ง สำนักงาน ก.ร.ตร. ขึ้น โดยไม่ใช้บุคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรองรับการทำงานของ ก.ร.ตร. แทนจากเดิมที่ใช้สำนักงานจเรตำรวจ เป็นหน่วยสนับสนุนการทำงาน  

5. ฟื้นแท่งงานสอบสวน เพื่อแก้ไขปัญหาความการบริหารงานบุคคลสายงานสอบสวน ที่ขาดโอกาสในการเจริญก้าวหน้า โดย ให้พนักงานสอบสวนมีเส้นทางการเจริญเติบโตได้โดยการประเมิน ทำตำแหน่งควบเลื่อนไหลในตัวเอง เติบหน้าได้จนถึงระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ สมาคมตำรวจฯ ได้ร่วมกับ ILAW เปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมลงชื่อร่วม "ปฏิรูปตำรวจ2567" แสดงความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับแก้ไข)

สมาคมตำรวจ และภาคีเครือข่าย เห็นพ้องกันว่าปัญหาขององค์กรตำรวจนอกจากเรื่องการบริหารบุคคลแล้ว เรื่องกำลังพล การจัดสรรงบประมาณ ค่าตอบแทน ที่ไม่สอดคล้องกับภาระ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และปริมาณงาน ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกร่อนองค์กรตำรวจ นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น งานล้น เป่าคดี การคอร์รัปชัน เรียกรับ ยอมรับผลประโยชน์

การปฏิรูปตำรวจ 2567 จะผลักดันขับเคลื่อนเรื่องค่าตอบแทน งบประมาณให้สอดคล้อง เหมาะสม เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วย เพื่อทำให้ตำรวจสามารถทำงานดูแล บริการประชาชนอย่างเป็นตำรวจอาชีพ มีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อองค์กรตำรวจและกระบวนการยุติธรรรมโดยรวม