svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

โลก One Piece กำลังจะจมน้ำ! โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่ก็ไม่ต่างกัน

One Piece มังงะที่เล่าการผจญภัยของลูฟี่และผองเพื่อนโจรสลัดนั้นเต็มไปด้วยปริศนามากมาย หนึ่งในความลับที่เพิ่งมีการเปิดเผยมานั้นคือการที่โลกที่พวกเขาอาศัยอยู่กำลังจะจมน้ำ ซึ่งก็ไม่ต่างกับโลกจริงๆ ของเราสักเท่าไหร่

โลกในมังงะ One Piece กำลังจะจมน้ำ!?

One Piece เป็นมังงะว่าด้วยการผจญภัยของโจรสลัดลูฟี่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื้อเรื่องทั้งหมดจะดำเนินบนโลกสมมติที่ทั่วทั้งโลกปกคลุมไปด้วยน้ำทะเล และประกอบไปด้วยผืนดินเป็นเกาะต่างๆ มากมาย ทั้งเกาะลอยฟ้า เกาะที่อยู่ใต้ทะเล เมืองที่ลอยอยู่บนน้ำ เกาะที่มีวิทยาการแห่งอนาคต นอกเหนือจากความแฟนตาซีของโลกที่ไร้ชื่อแห่งนี้แล้ว ตัวเรื่องยังมีความลับที่ถูกเก็บงำไว้มากมาย และหนึ่งในเรื่องที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้คือ โลกของเหล่าโจรสลัดลูฟี่กำลังจะจมลงใต้มหาสมุทร

One Piece

ไม่ใช่แค่ตัวละครในโลก One Piece แต่หลายคนก็น่าจะเริ่มรู้แล้วว่า โลกเราก็อาจจะกลายเป็นโลกที่ปกคลุมทะเลได้เหมือนกันกับในการ์ตูน เพราะโลกของเราเองก็กำลังจะจมน้ำ!

มันเกิดจากอะไรและมนุษย์ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

ระดับน้ำทะเลตั้งแต่ปี 1955-2024. ภาพจาก climate.nasa.gov
 

องค์การนาซาได้เก็บข้อมูลระดับน้ำทะเลตั้งแต่ปี 1955 พบว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความรุนแรงของภาวะโลกรวน หรือ climate change ที่กำลังเกิดขึ้น นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยระดับของน้ำทะเลเพิ่มขึ้นปีละ 4 มิลลิเมตร

อุณหภูมิของโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปีนับตั้งแต่การปฎิวัติอุตสาหกรรม. ภาพจาก https://climate.metoffice.cloud/temperature.html

นอกจากระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นแล้ว ผืนแผ่นดินในหลายพื้นที่ก็เกิดการทรุดตัวลงด้วย นับตั้งแต่ เวนิส ประเทศอิตาลี, กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย, และเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

นอกไปจากปัญหาโลกรวนซึ่งเป็นสาเหตุของระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้เมืองจมน้ำคือการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นป่าคอนกรีต เป็นผลทำให้น้ำฝนไม่สามารถไหลลงสู่ชั้นน้ำบาดาล ประจวบกับการลักลอบขุดน้ำใต้ ยิ่งทำให้เมืองทรุดตัวหนักขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากประเด็นปัญหาเรื่องพื้นที่ตั้งของเมืองที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนและทรุดตัวของแผ่นดินแล้ว ระบบการจัดการการระบายน้ำเองก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากในช่วงหลายปีมานี้ กรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนอยู่บ่อยครั้ง

โลก One Piece กำลังจะจมน้ำ! โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่ก็ไม่ต่างกัน
 

กรุงเทพฯ มีเส้นเลือดใหญ่สำหรับการระบายน้ำที่สำคัญคือแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นการออกแบบระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ จะคำนึงถึงการนำพาน้ำจากทั่วทั้งเมืองตรงเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะทั้งระบบของท่อระบายน้ำ คูคลอง และอุโมงค์ระบายน้ำ ก็ล้วนแต่ถูกออกแบบเพื่อเป็นทางด่วนที่จะนำพามวลน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ เองก็กำลังเผชิญกับปัญหาการตีบตันของระบบระบายน้ำ เช่น คลองและท่อระบายน้ำที่ขาดการดูแล การทิ้งขยะมูลฝอยในท่อระบายน้ำ อีกทั้งปัญหาทางอ้อมจากการสร้างเขื่อนและฝายโดยไม่มีการวางแผนก่อน ทำให้กรุงเทพที่อยู่ปลายน้ำต้องเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะตลิ่งในทุกปี รวมทั้งในบางปีน้ำทะเลหนุนเนื่องจากบริเวณต้นน้ำกักเก็บน้ำ และไม่มีน้ำจืดที่คอยดันน้ำทะเล ยิ่งทำให้ปัญหาการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากกรุงเทพฯ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมแล้ว เมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเหมือนกัน ซึ่งแต่ละเมืองมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันไป เช่น มหานครโตเกียวที่เลือกใช้ Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel หรือ G-Cans อุโมงค์ยักษ์ใต้กรุงโตเกียว เพื่อเร่งระบายน้ำออกทางแม่น้ำเอโดะ ที่เมืองคาสุคาเบะ จังหวัดไซตามะ หรือเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่สร้างอุโมงค์และทางด่วนขนาดยักษ์ 'Stormwater Management and Road Tunnel' หรือ 'SMART' ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 3 ชั้นโดย 2 ชั้นแรกทำหน้าที่เป็นทางด่วน และชั้นด้านล่างใช้เป็นทางระบายน้ำ หากมีน้ำท่วมใหญ่ก็จะเปลี่ยนทางด่วนให้เป็นทางระบายน้ำได้

อีกหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญในการจัดการและป้องกันการจมสู่ท้องทะเล เราไม่อาจหนีพ้นสุดยอดโครงการด้านวิศวกรรมอย่าง Delta Work ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของเนเธอร์แลนด์ เพื่อไม่ให้ประเทศที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแห่งนี้ ไม่จมลงสู่ท้องทะเล

เนเธอร์แลนด์มักประสบปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนเป็นประจำทุกปี โดยในปี 1953 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุโรปที่เรียกว่า North Sea flood ส่งผลให้พื้นที่กว่า 930,000 ไร่จมอยู่ใต้น้ำ รัฐบาลตอนนั้นจึงเล็งเห็นว่า ลำพังเขื่อนกั้นทะเลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จึงระดมความคิดจากนักวิชาการเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หรือ Delta Committee ขึ้นมา เพื่อวางแผนจัดการน้ำระยะยาวไม่ให้เกิดน้ำท่วมอีก และหนึ่งในนักวิชาการเหล่านั้นก็มีนักคณิตศาสตร์ชื่อ เดวิด ฟาน ดันซิก (David van Dantzig) ด้วย

นักคณิตศาสตร์ท่านนี้ได้คำนวณทางสถิติ เพื่อสร้างแบบจำลองความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ของเนเธอร์แลนด์ แบ่งพื้นที่เป็นวงแหวน วิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดความเสียหาย และคำนวณหาจุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่จะได้กับมูลค่าที่ต้องใช้ในการสร้างเขื่อน เพื่อกำหนดว่าเขื่อนแต่ละเขื่อนที่จะสร้างควรมีความสูงเท่าไร โดยแบบจำลองนี้เราเรียกว่า Economic cost-benefit decision model

จากโมเดลทางคณิตศาสตร์นี้ มันถูกนำมาใช้เพื่อแปลงเป็นโครงการที่ท้าทายโชคชะตามากที่สุดของมนุษยชาติ ในการเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของทั้งประเทศไม่ให้จมน้ำ ซึ่งเนเธอร์แลนด์จึงกลายเป็นประเทศต้นแบบของการจัดการน้ำ และเป็นตัวอย่างของการนำโมเดลทางคณิตศาสตร์มาใช้ในชีวิตจริง

อย่างไรก็ตาม Delta Work ของเนเธอร์แลนด์ก็ไม่อาจสามารถหยุดยั้งเมืองให้พ้นจากวิกฤติภาวะโลกรวน ที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายจนระดับของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะจมเนเธอร์แลนด์ได้ในอนาคต ดังนั้นในหลายๆ ประเทศจึงคิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยให้โลกผ่านพ้นวิกฤตเมืองที่กำลังจมน้ำในอนาคต หนึ่งในนั้นคือ Oceanix City หรือเมืองลอยน้ำ

เมืองลอยน้ำ เป็นแนวคิดที่มีมากตั้งแต่ปี 1960 โดยสถานปนิกที่ชื่อ บักมินสเตอร์ ฟุลเลอร์  (Buckminster Fuller) ที่ได้ออกแบบยูนิตลอยน้ำได้ บริเวณอ่าวโตเกียว แต่ไม่สามารถสร้างได้ ต่อมาในปี 1990 นักธุรกิจหนุ่ม โฮเวิร์ด เทอร์นีย์ (Howard Turney) ได้ออกค้นหาประเทศหมู่เกาะในแถบแคริบเบียน เพื่อสร้างประเทศจำลองลอยทะเลในนาม New Utopia แต่ยังไม่เห็นผลแล้วเสร็จ ว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ในยุคปัจจุบัน โครงการความร่วมมือระหว่าง MIT, Oceanix, Explorers Club และได้รับการสนับสนุนจาก Un-Habitat ตั้งแต่ปี 2019 ร่วมกันสร้างพื้นที่ขนาดเกือบ 500 ไร่บนผิวน้ำเพื่อรองรับประชากรประมาณ 300 ครัวเรือน และมีสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเมืองลอยน้ำแห่งแรกจะถูกสร้างขึ้นที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี เนื่องจากปูซานเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ที่เป็นศูนย์กลางการเดินเรือที่สำคัญของศตวรรษที่ 21

ทางผู้พัฒนาเมืองเปิดเผยว่า เมืองลอยน้ำ Oceanix นี้มีระบบการหมุนเวียนน้ำจืดที่มีประสิทธิภาพและเกษตรกรรมแบบไร้ดินภายในตัว ทำให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยการขนส่งทรัพยากรจากตัวเมืองบนแผ่นดิน โดยหลังจากสร้างเมืองลอยน้ำที่ปูซานแล้ว จะทยอยสร้างเมืองตามพื้นที่เมืองริมชายฝั่งอื่นๆ โดยเมือง Oceanix นี้ไม่ใช่การเอาดินหรือหินมาถมทะเลเพื่อให้กลายเป็นเกาะ แต่เป็นการนำวัสดุที่ความยืดหยุ่นสูงมาเป็นโครงสร้างหลักของเมือง ซึ่งถูกสร้างบนบกก่อนที่จะติดตั้งโดยยึดโยงกับสมอใต้ทะเล

โลก One Piece กำลังจะจมน้ำ! โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่ก็ไม่ต่างกัน

การปรับตัวของเมืองต่างเพื่อสอดรับกับภัยพิบัติธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตคือวิธีการหนึ่งที่เมือง ทำขึ้นเพื่อคงความรุ่งโรจน์ที่สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของประชาชนในเมืองนั้นๆ โดยต้องขอยอมรับในอาจารย์ เออิจิโร โอดะ ผู้แต่งมังงะ One Piece ที่ทำให้โลกอันเต็มไปด้วยผืนทะเลแห่งนี้มีชีวิตขึ้นมา และได้สอดแทรกประเด็นนี้ตลอดทั้งเรื่อง ตั้งแต่การสร้างเมือง วิถีชีวิตที่ยึดโยงกับเรือ อาชีพช่างคุมเรือ ทั้งหมดนี้ล้วนเชื่อมโยงได้กับโลกแห่งความจริง ซึ่งมีวี่แววว่าจะเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่จะจมเมืองทั่วโลกสู่ท้องนที จนเหมือนโลกใน One Piece ที่เขาแต่งขึ้น

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • National Aeronautics and Space Administration. (n.d.). Sea level. NASA Climate Change: Vital Signs of the Planet. from https://climate.nasa.gov/vital-signs/sea-level/?intent=121
  • นริศา สุมะมานนท์. (2023, January 5). Bangkok Sewer : ท่อ (รอ) ระบายน้ำ. Urban Creature. https://urbancreature.co/bangkok-sewer-rainy/?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR0neKiZNz5VmIizkNVolOfamItv0ev8dOHGfcA86Qm1cKyic_Ef9Ay_tpY_aem_ASh2_P1GngSGTwKV3GGUAofze7LP-IsMi0OsUk6ifQrN3ekkXqTZ-XxOKyDCjyfgIVyLM8rPg767SzuayNYyjRgv
  • นงลักษณ์ อัจนปัญญา. (2021, November 24). เมืองลอยน้ำ : โปรเจกต์สร้างเมืองเตรียมรับภัยน้ำทะเลขึ้นสูงของปูซาน.  Sarakadee Lite. https://www.sarakadeelite.com/better-living/busan-oceanix-sustainable-floating-city/
  • Vatiwutipong, P. (2022, September 16). ‘Delta Works’ วิธีป้องกันน้ำท่วมที่ดีสุดในโลกที่ได้มาด้วยคณิตศาสตร์ ไม่ใช่การสวดมนต์. The MATTER. https://thematter.co/thinkers/delta-works/156960
     

 

บทความโดย พีรวุฒิ บุญสัตย์