svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

6 ก.พ. "วันมวยไทย" รู้จักความเป็นมา ก่อนชมการสร้างประวัติศาสตร์ "ไหว้ครูมวยไทย" บันทึกสถิติโลก ค่ำวันนี้

06 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้จักกับประวัติความเป็นมาของ "วันมวยไทย" ซึ่งตรงกับวันที่ 6 ก.พ. ของทุกปี ก่อนชมการสร้างประวัติศาสตร์พิธี "ไหว้ครูมวยไทย" ครั้งยิ่งใหญ่เป็นสถิติโลกถึง 5,000 คน ในช่วงค่ำวันนี้

มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติไทยมาตั้งแต่โบราณ ดังปรากฏในประวัติศาสตร์และพงศาวดารมาทุกยุคทุกสมัย เป็นการใช้อาวุธของร่างกาย 9 อย่าง หรือที่เรียกว่า นวอาวุธ ได้แก่ มือ 2/เท้า 2/ เข่า 2/ ศอก 2 และศีรษะ 1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ประเภทหนึ่งของโลก 

แต่เดิม "วันมวยไทย" คือวันที่ 17 มี.ค.
เมื่อพูดถึงมวยไทย ก็จะมีชื่อของชายผู้หนึ่งซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ประเภทนี้ นั่นคือ "นายขนมต้ม" นักมวยคาดเชือกสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเรื่องราวของนายขนมต้ม ปรากฏครั้งแรกใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน โดยกล่าวว่า
 

          "ฝ่ายพระเจ้าอังวะยังอยู่ ณะ เมืองย่างกุ้ง ทำการยกฉัตรยอดพระมหาเจดีย์เกษธาตุสำเรจ์แล้วให้มีการฉลอง จึ่งขุนนางพม่ากราบทูลว่า คนมวยเมืองไทมีฝีมือดียิ่งนัก จึ่งตรัสสั่งให้จัดหามาได้นายขนมต้มคนหนึ่ง เปนมวยดีมีฝีมือแต่ครั้งกรุงเก่า เอาตัวมาถวายพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึ่งให้จัดพม่าคนมวยเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้มได้กันแล้ว ก็ให้ชกกันหน้าพระธินั่ง แลนายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึ่งยกก็แพ้ แล้วจัดคนอื่นเข้ามาเปรียบชกอิก นายขนมต้มชกพม่าชกมอญแพ้ถึ่งเก้าคนสิบคนสู้ไม่ได้ พระเจ้าอังวะทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสรีญฝีมือนายขนมต้มว่า ไทมีพิศม์อยู่ทั่วตัว แต่มือเปล่าไม่มีอาวุธเลยยังสู้ได้ คนเดียวชณะถึ่งเก้าคนสิบคนฉนี้ เพราะจ้าวนายไม่ดีจึ่งเสียบ้านเมืองแก่ข้าศึก ถ้าจ้าวนายดีแล้วไหนเลยจะเสียกรุงศรีอยุทธยา แล้วพระราชทานรางวัลแก่นายขนมต้มโดยสมควร"


จากความกล้าหาญของนายขนมต้มที่ปรากฏในพงศาวดาร ทำให้ในวงการมวยไทยได้ยกให้เหตุการณ์ที่นายขนมต้มชกกับนักมวยชาวพม่าในวันที่ 17 มีนาคม เป็น "วันมวยไทย" เพื่อเชิดชูเกียรติของนายขนมต้ม นักมวยไทยผู้พิชิตนักมวยชาวพม่าในวันนั้น
6 ก.พ. \"วันมวยไทย\" รู้จักความเป็นมา ก่อนชมการสร้างประวัติศาสตร์ \"ไหว้ครูมวยไทย\" บันทึกสถิติโลก ค่ำวันนี้

สถาปนา 6 ก.พ. เป็น "วันมวยไทย" อย่างเป็นทางการ
ด้วยความที่ "มวยไทย" เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ครบเครื่องมีพิษสงรอบด้าน ทำให้ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเกิดการถ่ายทอดและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมไปทั่วไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศโซนยุโรปและทั่วโลก ซึ่งเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

จากความสำคัญดังกล่าวมานี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในคุณค่าการยกย่ององค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับภาคเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับมวยไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีมติเป็นเอกฉันท์ในการร่วมกันผลักดันให้มีการสถาปนาวันมวยไทยขึ้น โดยได้พิจารณาจากข้อเสนอต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ซึ่งในที่สุดได้เห็นชอบให้วันขึ้นเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) คือ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เป็นวันมวยไทย (วันเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2245) เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน
6 ก.พ. \"วันมวยไทย\" รู้จักความเป็นมา ก่อนชมการสร้างประวัติศาสตร์ \"ไหว้ครูมวยไทย\" บันทึกสถิติโลก ค่ำวันนี้

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์ คือ

  1. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่เสด็จออกไปชกมวยกับสามัญชน
  2. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีความสามารถเกี่ยวกับมวยไทยมาก ทรงคิดท่าแม่ไม้ ไม้กลมวยไทยขึ้นมาเป็นแบบฉบับเฉพาะพระองค์ เรียกว่า “มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ” และได้รับการถ่ายทอดเป็นตำรามวยไทยให้แก่คนรุ่นหลังจนถึงทุกวันนี้
  3. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ใช้ศิลปะมวยไทยในการปกป้องราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาวต่างชาติ


ในการนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันมวยไทย” อย่างเป็นทางการ ส่วนวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งเคยถือว่าเป็น วันมวยไทย แต่เดิมนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็น "วันนายขนมต้ม" หรือ "วันนักมวยไทย" แทนในเวลาต่อมา
6 ก.พ. \"วันมวยไทย\" รู้จักความเป็นมา ก่อนชมการสร้างประวัติศาสตร์ \"ไหว้ครูมวยไทย\" บันทึกสถิติโลก ค่ำวันนี้ 6 ก.พ. 66 งาน "ไหว้ครูมวยไทย" ครั้งประวัติศาสตร์
สำหรับในปี 2566 "วันมวยไทย" มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยกำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันมวยไทย 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ พิธีบวงสรวงสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) พิธีครอบครู พิธีไหว้ครูร่ายรำมวยไทยเทิดพระเกียรติสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่8 พิธีมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดคีตะมวยไทย การแสดงคีตะมวยไทย การแสดงศิลปะแม่ไม้-ลูกไม้มวยไทย และปิดท้ายด้วยการเสวนาหัวข้อ “มวยไทย : ที่มาและความสำคัญกับการขึ้นทะเบียนยูเนสโก” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญที่คว่ำหวอดของวงการมวยไทย ณ ห้องประชุม อาคารเครื่องทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สวธ. ยังได้จัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ประวัติความเป็นมา ความสำคัญของมวยไทย และกิจกรรมการสาธิตผู้เข้าชมงานร่วมประดิษฐ์เครื่องแต่งกายนักมวยสมัยโบราณ พร้อมได้รับเป็นที่ระลึก เช่น มงคล ใช้สวมศีรษะ ประเจียด ใช้ผูกติดกับต้นแขน เป็นต้น ในงาน เทศกาลมวยไทย ระหว่างวันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกด้วย

และไฮไลท์ของงานนี้ อยู่ที่การแสดง "ไหว้ครูมวยไทย" และโชว์แม่ไม้มวยไทยด้วยจำนวนคนที่มากที่สุดในโลก กว่า 5,000 คน เพื่อบันทึกสถิติโลก (Guinness World Records) ในช่วงค่ำของวันที่ 6 ก.พ. 2566 ณ อุทยานราชภักดิ์

โดย "บัวขาว" หรือ ร.ท.สมบัติ บัญชาเมฆ หนึ่งในกำลังพลกองทัพบกและในฐานะนักมวยไทย จะร่วมนำรำไหว้ครูมวยไทยครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในครั้งนี้ด้วย

สำหรับงานนี้ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5HD ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

6 ก.พ. \"วันมวยไทย\" รู้จักความเป็นมา ก่อนชมการสร้างประวัติศาสตร์ \"ไหว้ครูมวยไทย\" บันทึกสถิติโลก ค่ำวันนี้

logoline