svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หากเจออย่าทำร้ายน้อง รู้จัก "นกแสก" สัตว์ตากลมโต ผู้ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ

25 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อกล่าวถึง "นกแสก" หลายคนอาจสงสัย ถ้าน้องมาเกาะหลังคาบ้าน หรือส่งเสียงร้องที่บ้านเรา เป็นลางดีหรือไม่ดี วันนี้ "Nation STORY" ขอพาไขความจริง กับเหตุผลที่สัตว์ตากลมโตนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ไม่ควรถูกทำร้าย

"นกแสก" เจ้าสัตว์มีปีก หน้าเป็นรูปหัวใจ ดวงตากลมโต มองจากภายนอกน้องก็มีความน่ารัก เหตุไฉนจึงถูกเชื่อว่าเป็น "นกผี" หรือ "สัญลักษณ์แห่งความตาย" กับความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานว่า ถ้าพบน้องบินวนร้องเสียงดังที่บ้านหลังไหน ก็มักจะมีคนตาย ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีเหตุผลยืนยันด้วยซ้ำ

ขึ้นชื่อว่าความเชื่อ ย่อมอยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล 

อย่างไรก็ดี ความเชื่อเกี่ยวกับนกแสกนั้น แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค แต่ละที่มีความเชื่ออย่างไรกับสัตว์ชนิดนี้ เรามาไขคำตอบกัน

หากเจออย่าทำร้ายน้อง รู้จัก \"นกแสก\" สัตว์ตากลมโต ผู้ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
ทำความรู้จัก "นกแสก"

"นกแสก" "นกแฝก" หรือ "นกเค้าหน้าลิง" เป็นนกเค้าแมวชนิดหนึ่งในวงศ์นกแสก Barn owl : Tyto alba ที่ออกหากินในตอนกลางคืน ลักษณะใบหน้าเป็นรูปหัวใจ ดวงตาดำกลมโต ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของหัว คอสั้น ปีกยาว หางค่อนข้างสั้น ขามีความแข็งแรง ขนปกคลุมจนถึงปลายนิ้ว ปลายนิ้วเป็นกรงเล็บแหลมงุ้มและมีความแข็งแรง เวลาบินจะส่งเสียงร้องว่า "แสก" เป็นนกที่มีสายตาและประสาทหูดีมากๆ

สาเหตุที่นกแสกขึ้นชื่อว่าเป็น "นกผี" หรือ "สัญลักษณ์แห่งความตาย"

"หากนกแสกกระพือปีกและส่งเสียงร้องบนหลังคาบ้านหลังไหน จะทำให้คนในบ้านหลังนั้นเสียชีวิต หรือเกิดความอัปมงคลขึ้น" ความเชื่อดังกล่าวนี้มีมาตั้งแต่อดีต ที่เรามักได้ยินกันมา แต่สาเหตุและความเป็นมา ใครกันล่ะที่รู้ 

หากเจออย่าทำร้ายน้อง รู้จัก \"นกแสก\" สัตว์ตากลมโต ผู้ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ หรีดมาลา ระบุ เหตุที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า "นกแสก" เป็นนกแห่งความตาย เกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้คือ

  • นกแสกมีดวงตากลมโตสีดำ เมื่อแสงไฟมากระทบก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ทำให้ดูลึกลับน่ากลัว
  • ด้วยความที่นกแสกมีช่วงปีกใหญ่และยาว ทำให้เวลาบินจึงดูน่ากลัว โดยเฉพาะเวลาบินเพื่อออกหากินในเวลากลางคืน นกชนิดนี้จะบินผ่านความมืดไปอย่างเงียบกริบและรวดเร็วมากจนมองตามไม่ทัน ทำให้เห็นว่าเป็นนกสีขาวขนาดใหญ่หรือทึกทักไปเองว่าเป็นภูตผีปีศาจล่องลอยอยู่
  • เวลาที่นกแสกบินเพื่อออกหากินในเวลากลางคืนนั้นมักส่งเสียงหวีดแหลม 2-3 ครั้งอย่างน่ากลัว โดยเฉพาะเวลาได้ยินเสียงร้องของมันช่วงพลบค่ำก็ชวนให้ขนลุกขนชันเลยทีเดียว
  • นกแสกเป็นนกที่ออกหากินในเวลากลางคืน เวลาที่มองหาเหยื่อก็มักจะบินไปเกาะตามมุมมืดของหลังคาโบสถ์ ยอดเมรุ หรือต้นไม้ใหญ่
  • เวลาที่นกแสกตกใจและข่มขวัญศัตรูนั้น มันมักทำตาโตและส่ายหัวไปมา จนทำให้รู้สึกน่ากลัว
  • ด้วยความที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันต่อ ๆ มาว่านกแสกเป็นนกผีหรือนกแห่งความตาย พวกมันจึงมักถูกขับไล่ออกจากชุมชนและย้ายไปอาศัยอยู่ตามป่าช้าที่เงียบสงบ ทำให้ยิ่งเชื่อกันไปใหญ่ว่าเป็นนกผี

ทั้งนี้ คนแต่ละชาติย่อมมีความเชื่อแตกต่างกันไป ต่อไปนี้คือตัวอย่างความเชื่อเรื่อง "นกแสก" ของไทยและชาติต่างๆ

ความเชื่อของคนไทย

เริ่มกันที่บ้านเราก่อนเลย ตามความเชื่อของคนโบราณ เชื่อกันว่า นกแสกนั้นเป็นนกแห่งความตาย หากบินข้ามหลังคา, เกาะบนหลังคา หรือบินวนและส่งเสียงร้องที่บ้านของใครก็จะทำให้คนในบ้านหลังนั้นเสียชีวิตภายใน 3-7 วัน หรือถ้าคนในบ้านมีอาการเจ็บป่วยอยู่แล้วก็อาจเสียชีวิตได้ภายใน 3-7 วันเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ มีบางตำนานเล่าว่า นกแสกเป็นพาหนะของ "พระยม" ที่เป็นทูตนำทางล่วงหน้ามาก่อน เพื่อหมายตาคนที่ใกล้จะเสียชีวิต และบ้างก็เชื่อว่านกแสกนั้นเป็นพาหนะของพญายม ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความตายที่พาวิญญาณของผู้เสียชีวิตไปสู่ยมโลก ยิ่งตอกย้ำความเป็น "สัญลักษณ์ของความตาย" ของนกชนิดนี้เข้าไปอีก

ความเชื่อของชาวกรีกและโรมัน

เชื่อว่า "นกแสก" เป็นพาหะของโรคระบาดและนำลางร้ายมาให้ หากนกชนิดนี้ปรากฏตัวที่บ้านหลังไหนก็จะทำให้คนในบ้านหลังนั้นเจ็บป่วย แต่ว่าจะไม่ถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนกับความเชื่อของคนไทย

ความเชื่อของชาวอิตาลี

ชาวมักกะโรนี เชื่อกันว่า "นกแสก" เป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย เช่น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะซิซิลีก็เชื่อกันว่า ถ้านกชนิดนี้ส่งเสียงร้องใกล้กับบ้านที่มีผู้ป่วยก็จะทำให้ผู้ป่วยคนนั้นเสียชีวิตภายในเวลา 3 วัน แต่ถ้าไม่มีผู้เจ็บป่วยอยู่ในบ้านหลังนั้นเลย ก็จะทำให้คนในบ้านที่มีสุขภาพดีนั้นเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นได้ โดยเฉพาะอาการต่อมทอนซิลอักเสบ

ความเชื่อของชาวอินเดีย

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า นกแสก มีแต่ความเชื่อเกี่ยวกับความตาย แต่ที่ "ดินแดนภารตะ" นั้นไม่ใช่ เพราะชาวอินเดียเชื่อว่านกแสกเป็นนกของ "พระลักษมี" ซึ่งเป็นพระเทวีแห่งโภคทรัพย์หรือโชคลาภและความเจริญงอกงามในด้านการเกษตร เนื่องจากนกชนิดนี้ช่วยกัดกินหนูที่ทำลายไร่นาและผลผลิต ส่วนชาวฮินดูในแคว้นเบงกอลนั้นเชื่อว่าหากนกแสกทำรังที่บ้านหลังไหนก็จะนำความโชคดีมาให้แก่เจ้าของบ้านหลังนั้น และยังทำให้เจ้าของบ้านและคนในบ้านหลังนั้นมีโชคลาภและทรัพย์สินเงินทองมากมายด้วย

หากเจออย่าทำร้ายน้อง รู้จัก \"นกแสก\" สัตว์ตากลมโต ผู้ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
เปิดอีกมุมของนกแสก 

ผู้เขียนขอหยิบยกบทความเกี่ยวกับ "นกแสก" จาก เพจสารคดี ซึ่งเผยแพร่บทความของ "ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล" นักเขียนสารคดี มาเล่า เพื่อให้ท่านผู้อ่านรู้จักนักแสกมากขึ้น โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า

นกแสก (Barn owl) เป็นนกล่าเหยื่อที่หากินในเวลากลางคืน จัดอยู่ในอันดับ Strigiformes วงศ์ Tytonidae ซึ่งเป็นวงศ์ของนกเค้า ถือเป็นนกประเภทเดียวกับนกฮูก นกเค้า มีลักษณะเด่นคือใบหน้ารูปหัวใจสีขาว มองดูคล้ายหน้าลิง บางประเทศจึงเรียกว่า "นกเค้าหน้าลิง" (monkey faced owl)

ความเชื่อว่า "นกแสกเป็นนกผี" น่าจะมีที่มาจากสาเหตุบางประการ อาทิ พฤติกรรมของนกแสกที่เมื่อออกจากโพรงรังแล้วมักจะส่งเสียงร้องหวีดแหลม 2-3 ครั้ง ก่อนบินไปเกาะตามมุมมืดของหลังคาโบสถ์ ยอดเมรุ หรือต้นไม้ใหญ่ ก่อนที่จะบินต่อไปล่าเหยื่อ ดวงตาสีดำของนกแสกเมื่อต้องแสงไฟยามกลางคืนยังเห็นเป็นสีแดงดูลึกลับ

ทั้งที่จริงแล้ว นกแสกก็เป็นเพียงนกชนิดหนึ่ง ไม่ได้มีพิษมีภัย ตรงกันข้ามยังช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศด้วยการจับหนูกินเป็นอาหาร

หากเจออย่าทำร้ายน้อง รู้จัก \"นกแสก\" สัตว์ตากลมโต ผู้ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
ส่วนฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ของ "นกแสก" ส่วนมากอยู่ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน แต่หากบริเวณที่อยู่อาศัยมีอาหารมากพอก็อาจวางไข่ได้ตลอดปี ไข่ของนกแสกมีสีขาว ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ปรกติวางไข่ครั้งละ 5-7 ฟอง เฉลี่ยใช้เวลาฟักประมาณ 32-34 วัน ไข่แต่ละฟองฟักไม่พร้อมกัน 

โดยตัวที่ฟักออกมาก่อนมีขนสีขาวอุยขึ้นแล้วแต่ตัวที่ฟักออกมาทีหลังยังเป็นตัวแดงๆ อีก 1 เดือนต่อมาขนจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง เริ่มมีรูปร่างคล้ายพ่อแม่นก โดยเฉพาะปรากฏวงหน้ารูปหัวใจ หลังจากใช้ชีวิตเติบโตอยู่ในรังประมาณ 60 วัน จึงบินออกจากรังไปหาแหล่งอาหารและที่อยู่ใหม่ ซึ่งตามปรกติแล้วนกแสกจะอยู่กันเป็นคู่ หรือครอบครัว ไม่ชอบรวมฝูงใหญ่ๆ ชอบอาศัยอยู่ตามวัด หรือสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีคนรบกวน

ผู้ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และผู้พิทักษ์มือวางอันดับหนึ่งในเขตเมือง

อย่างที่กล่าวไปแล้ว นกแสก เป็นเพียงนกชนิดหนึ่งที่ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศด้วยการจับหนูกินเป็นอาหาร สอดคล้องกับบางช่วงบางตอนของบทความของคุณกชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ RISC โดยระบุว่า

ในแง่วิทยาศาสตร์ นกแสกนั้นเป็นนกล่าเหยื่อและสัตว์ศัตรูพืชต่างๆ ในระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็น หนูนา หนูบ้าน แมลง สัตว์เลื้อยคลานมีพิษต่างๆ มีความสำคัญที่คอยช่วยควบคุมกลุ่มสัตว์เหล่านี้ในธรรมชาติให้สมดุล ไม่ให้มากเกินไปในระบบนิเวศ มีรายงานระบุไว้ว่า

"นกแสก 1 ตัวนั้น สามารถกินหนูเฉลี่ยคืนละ 2 ตัว ซึ่งสามารถช่วยควบคุมประชากรหนูในธรรมชาติได้มากถึง 700 ตัวต่อปีเป็นอย่างน้อย"

เราจะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วนกแสกก็เป็นเพียงนกชนิดหนึ่งที่ไม่ได้ส่งผลอะไรกับคนเลย แถมยังเป็นผู้พิทักษ์มือวางอันดับหนึ่งในเขตเมืองอีกด้วย

หากเจออย่าทำร้ายน้อง รู้จัก \"นกแสก\" สัตว์ตากลมโต ผู้ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
"ความเชื่อ" ทำให้เกิดการทำร้ายนกแสก


จากความเชื่อที่บอกว่านกแสกเป็นนกที่น่ากลัว กอปรความเชื่อที่ว่าเป็นนกที่ไม่ดี เป็นสิ่งชั่วร้าย จนนำพาให้มีการทำร้ายนกแสกเกิดขึ้น จึงถือว่าเป็นการทำร้ายสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคลและดุลพินิจ

นอกจากนี้ สาเหตุสำคัญที่ประชากรนกแสกลดลง มาจากการที่มันถูกล่า หรือขับไล่ออกจากโพรงที่อาศัย เพราะคนกลัวว่านกแสกจะนำสิ่งชั่วร้ายมาให้ หรือเป็นลางบอกเหตุความตาย ทำให้ขาดแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งทำรังวางไข่ ที่พักพิงของนกแสกจึงเหลือเพียงซอก หรือโพรงใต้หลังคาโบสถ์ในวัดเก่าๆ หรือวัดเล็กๆ ตามต่างจังหวัด หากเป็นวัดใหญ่จะไม่ค่อยพบนกแสก เนื่องจากถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวการสร้างความปกสรก ขณะที่โรงนาเก่าๆ บ้านร้าง ต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงพอจะเป็นที่ทำรังก็มีจำนวนลดลง

สารเคมีก็มีผลต่อความอยู่รอด

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่มีผลต่อความอยู่รอดและจำนวนประชากรนักแสก คือ การใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดศัตรูพืช เพราะเมื่อนกแสกกินหนูก็รับสารเคมีจากหนูเข้าไปสะสมในร่างกาย ถ้าสะสมถึงระดับอันตราย นอกจากตายแล้วยังมีผลต่อการสืบพันธุ์ของนกแสก ทำให้เปลือกไข่บาง เมื่อแม่นกหย่อนตัวลงฟักก็ทำให้ไข่แตก บางครั้งทำให้เป็นหมัน ไข่ไม่ฟักออกเป็นตัว

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ตามกฎหมายไทย "นกแสก" ถูกจัดอยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นสัตว์ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สัตว์ทุกชนิดย่อมต้องการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอด นกแสกเองก็เช่นกัน หากเป็นไปได้ อย่าปล่อยให้ความเชื่อที่ว่า นกแสกเป็นนกผี หรือนกแห่งความตาย มาทำร้ายให้นกแสกลดน้อยลงไปกว่านี้ หากคุณพบเจอมัน ถ้าไม่พอใจ เพียงแค่ใช้มือไล่มันไปให้พ้นบ้าน อย่าเอาอะไรเขวี้ยงใส่ หรือทำร้ายมันด้วยวิธีอื่นๆเลย 

ลำพังการใช้ยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู ก็กระทบความอยู่รอดของเจ้านกตาโต ใบหน้าบ๊องแบ๊วผู้นี้มากพอแล้ว...

ขอบคุณข้อมูลจาก :
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
หรีดมาลา
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand
สารคดี 
บทความเรื่อง นกแสกผู้น่าสงสารกับความเชื่อแบบไทยๆ ของคุณฐิติพันธ์ พัฒนมงคล 
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000007932

logoline