svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รัฐบาลทำอะไรบ้าง เมื่อมลพิษทางอากาศ ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

21 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐบาลทำอะไรบ้าง กรณีปัญหามลพิษทางอากาศ ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน หลังผู้คนแตกตื่นได้กลิ่นประหลาดกลางดึกจนติดเทรนด์โซเชียล แล้วคิดว่ามาตรการเหล่านี้ จะแก้ปัญหาได้หรือไม่?

กลับมาเป็นประเด็นให้สังคมตื่นตัวและพูดถึงอีกครั้ง สำหรับปัญหา PM2.5 มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ปัญหาเคย "พีค" และคลี่คลายลง จนผู้คนหลงลืมไป เหลือแต่เพียงมลพิษทางอากาศ "หมอกควัน ไฟป่า PM2.5" ในพื้นที่ภาคเหนือ และบริเวณที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ "เชียงใหม่" ที่ค่ามลพิษทางอากาศขึ้นอันดับ 1 โลก  

ปัญหามลพิษทางอากาศของผู้คนใน กทม. และปริมณฑล ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนมาก ออกมาโพสต์ผ่านโซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ว่า ได้กลิ่นไหม้ และกลิ่นคล้ายกำมะถัน ฟุ้งไปทั่วพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
รัฐบาลทำอะไรบ้าง เมื่อมลพิษทางอากาศ ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

และยังพบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงมาก เข้าระดับอันตรายต่อสุขภาพ โดยต่างเข้ามาถามถึงสาเหตุ ทั้ง ๆ ที่ฝนเพิ่งตกไป น่าจะทำให้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้นได้ ส่งผลให้แฮชแท็ก #กลิ่นไหม้ พุ่งติดเทรนด์ X อย่างรวดเร็ว
รัฐบาลทำอะไรบ้าง เมื่อมลพิษทางอากาศ ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

กรณีดังกล่าว ภายหลังได้คำอธิบายจากนักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไปคนละทิศละทาง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า กลิ่นเหม็นดังกล่าว มาจากประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่? 

ภาพจากดาวเทียมเว็บไซต์ Fire Information for Resource Management System (FIRMS) ที่พัฒนาโดย NASA ทำให้หลายคนที่ยังตั้งข้อสงสัย ต้นตอปัญหาน่าจะมาจากเพื่อนบ้านหรือไม่ พากันเชื่ออย่างสนิทใจว่า นี่คือต้นเหตุที่แท้จริง พร้อมตั้งคำถามว่า ประเทศไทยหรือรัฐบาล ไม่มีมาตรการหรือวิธีการใดหรือ ที่จะทำให้เพื่อนบ้านเหล่านี้ หาทางควบคุม หรือลดปริมาณจุดความร้อนที่เกิดขึ้น  

Nation STORY จะพาไปดูว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างไร ในการทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน ควบคุมปัญหาที่เกิดในพื้นที่ตนเอง และมาตรการเหล่านี้ จะได้ผลหรือไม่อย่างไร....
ปริมาณจุดฮอตสปอต (จุดความร้อน) ตลอด 24 ชั่วโมง ปรากฏจุดความร้อนสีแดง ล้อมรอบประเทศไทยอย่างหนาแน่น
 

สำหรับปัญหามลพิษทางอากาศ ไมว่าจะเป็น PM2.5 หมอกควันไฟป่านั้น ส่วนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีปัญหาอย่างหนัก ในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. ของทุกปี โดยที่ผ่านมาประเทศไทย ได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการแก้ปัญหาหมอกควัน มลพิษจากการเผา

ซึ่งประเทศไทยได้สนับสนุนข้อตกลงอาเซียน ว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 เป็นการวางนโยบายร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

พบว่า ในพื้นที่ของไทย สามารถลดปัญหาได้อย่างเป็นลำดับ แต่ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านกลับพบว่า การแก้ปัญหายังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก 

โดยในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณามาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ในการที่จะทำให้เพื่อนบ้าน เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตามแผนผ่าน "มาตรการทางการค้า" 

มาตรการ "บอยคอตสินค้าเกษตร" คุมการเกิดจุดความร้อนในเพื่อนบ้าน

โดยวันพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม จะเดินทางไปกัมพูชา เพื่อประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย -กัมพูชา ครั้งที่ 16 ที่โรงแรมการ์เด้น ซิตี้ กรุงพนมเปญ ซึ่งนายสุทิน ระบุ จะมีการพูดคุยเรื่องปัญหา PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในฝั่งประเทศกัมพูชา โดยจะขอความร่วมมือว่า "อย่าเผา"

อีกทั้งในการประชุม ครม. มีการพูดกันในภาพรวมปัญหาว่า จะมีการบอยคอตสินค้าเกษตร ที่เกิดจากการเผา แต่มาตรการนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องทำในประเทศให้ได้ก่อน เพราะมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศระบุไว้ว่า  การจะบังคับกับชาติอื่นได้ เราต้องทำภายในประเทศก่อน

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด กำลังเร่งดำเนินการออกมา เมื่อมีผลบังคับห้ามเผาในส่วนของเราแล้ว ต่อไปก็จะบอยคอตได้ การไปกัมพูชาครั้งนี้ก็จะเตือนเขาว่า ต้องมีการปรับแก้ เราจะไม่อุดหนุน หรือซื้อสินค้าที่มาจากการเผา ถ้ากฎหมายเสร็จ ก็จะบังคับใช้ได้ทันที
นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เชียงใหม่ เพื่อติดตามปัญหาหมอกควันไฟป่า และมลพิษทางอากาศ PM2.5 หลังเชียงใหม่ขึ้นอันดับ 1 โลก พื้นที่คุณภาพอากาศมีมลพิษมากที่สุด

นายเศรษฐา ได้กล่าวถึงปัญหาการเผา ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มาจากทิศทางลมและปัจจัยอื่น ๆ ว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการตั้งคณะทำงานพิเศษ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงลมพัดจากเมียนมาร์เข้ามา และเป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวของประเทศเมียนมาร์ โดยรัฐบาลต้องมีการพิจารณาออกมาตรการเด็ดขาด ซึ่งภายในประเทศไทย เช่น การควบคุมเรื่องการเผาป่า และทำอย่างไรให้เพื่อนบ้านหยุดเผา มีกรณีศึกษา ห้ามนำข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านช่วงไฮซีซั่น แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ 15 ม.ค. -  สิ้นเดือน เม.ย. อาจจะห้ามนำเข้าข้าวโพด
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  

ต้องแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ก่อนบังคับประเทศเพื่อนบ้าน

จึงอาจจะสรุปได้ว่า นอกจากการขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน ในการควบคุมการเกิดจุดความร้อนแล้ว รัฐบาลยังมีการพิจารณาถึงมาตรการ "บอยคอตสินค้าเกษตร" จากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นตัวเร่ง ให้มีการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม การจะบังคับประเทศเพื่อนบ้านได้ ประเทศไทยต้องดำเนินการ การแก้ไขปัญหานี้อย่างเข้มงวดเสียก่อน โดยผ่านร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ทั้งนี้ แม้ในภาพรวม การแก้ปัญหาการเกิดจุดความร้อน จากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน จะยังไม่สามารถบังคับใช้ยาแรงได้ แต่ก็มีตัวอย่างความพยายามจากเพื่อนบ้าน ในการแก้ปัญหานี้ อาทิ การออกแถลงการณ์ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) กองทัพรัฐฉาน(SSA-S) ที่ออกแฉลงการณ์ และให้เจ้าหน้าที่ของสภาฯ ในพื้นที่ควบคุมในเขตรัฐฉาน ประกาศห้ามประชาชนและเกษตรกร เผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร และเผาพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย เนื่องจากขณะนี้เกิดมลพิษในพื้นที่รัฐฉาน และพื้นที่ใกล้เคียง 
รัฐบาลทำอะไรบ้าง เมื่อมลพิษทางอากาศ ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐบาลทำอะไรบ้าง เมื่อมลพิษทางอากาศ ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

logoline