svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อัปเดตสถานการณ์ "ปะการังฟอกขาว" ล่าสุด พบในเขตอุทยานฯ 12 แห่ง สั่งปิดพื้นที่ห้ามรบกวน

09 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยังต้องตามกันต่อสำหรับปรากฏการณ์ "ปะการังฟอกขาว" ล่าสุด เกิดขึ้นที่ "เกาะลิบง" แหล่งอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเลของไทย ชาวบ้าน-นทท. หวั่นกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง ขณะที่ "พัชรวาท" รองนายกฯ และรมว.ทส. สั่งติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ด้าน กรมอุทยานฯ พบปะการังฟอกขาวในเขตอุทยานฯ 12 แห่ง เร่งปิดพื้นที่ห้ามรบกวน

จากการที่ปี 2567 นี้ สภาพสิ่งแวดล้อมน้ำทะเลมีความผิดปกติ โดยเฉพาะอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น จากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ "ปะการังฟอกขาว" ในหลายพื้นที่ ซึ่งหลายคนก็คงจะเห็นกันตามข่าวมาบ้างแล้ว

วันนี้ (9 พ.ค. 67) Nation STORY ขอพาไปสำรวจทะเลตรัง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว จากภาวะโลกร้อน และยังคงเกิดขึ้นและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ไม่กี่วันมานี้ "ดอกไม้ทะเล" แหล่งอาศัยของปลาการ์ตูน หรือ ปลานีโม่ ที่บริเวณอ่าวฝรั่ง ของเกาะมุก ในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ก็เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวเป็นจำนวนมาก ทำให้คนในพื้นที่เป็นห่วงว่า หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อบ้านของการ์ตูนได้ในอนาคต

ล่าสุด สถานการณ์ปะการังฟอกขาวจะเป็นอย่างไร เราไปสำรวจกัน

อัปเดตสถานการณ์ \"ปะการังฟอกขาว\" ล่าสุด พบในเขตอุทยานฯ 12 แห่ง สั่งปิดพื้นที่ห้ามรบกวน พบปะการังฟอกขาวลามที่เกาะลิบง

พาไปที่บริเวณหาดหลังเขา ของเกาะลิบง ซึ่งถือเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่สุดของประเทศไทย โดยหลังจากที่น้ำทะเลได้ลดลง ก็ต้องกับตกตะลึงกับภาพปะการังจำนวนมากที่โผล่อยู่ทั่วชายหาด ในสภาพที่บางส่วนมีสีซีดจางลง หรือบางส่วนกลายเป็นสีขาวไปหมดแล้ว ทั้งที่ปกติปะการังเหล่านี้จะมีความสวยงามหลากหลากสีสัน 
อัปเดตสถานการณ์ \"ปะการังฟอกขาว\" ล่าสุด พบในเขตอุทยานฯ 12 แห่ง สั่งปิดพื้นที่ห้ามรบกวน โดย นายจิตตพล ตันอนุสรณ์ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นผู้ถ่ายคลิปปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ที่หน้ารีสอร์ทแห่งหนึ่ง บริเวณหาดหลังเขา หมู่ที่ 5 ของเกาะลิบง หลังจากที่น้ำทะเลลดลง ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความแตกตื่นให้กับชาวบ้านและนักท่องเที่ยวอย่างมาก เนื่องจากเดิมทีบริเวณนี้จะเป็นจุดที่มีปะการังสมบูรณ์มากมาย เช่น ปะการังสมอง ปะการังรังผึ้ง ปะการังตาข่าย ปะการังเขากวาง ทำให้มีปลาและหอย รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ มาอาศัยอยู่จำนวนมาก 
อัปเดตสถานการณ์ \"ปะการังฟอกขาว\" ล่าสุด พบในเขตอุทยานฯ 12 แห่ง สั่งปิดพื้นที่ห้ามรบกวน แต่เมื่อมาเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงเช่นนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้ตนเองรู้สึกกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และอยากให้ทุกฝ่ายรีบเร่งช่วยกันแก้ปัญหาโดยด่วน

ไม่ใช่แค่เกาะลิบง ที่จังหวัดกระบี่ก็เจอ "ปะการังฟอกขาว" 
เครดิตภาพจาก FB ทราย สก๊อต
ขณะที่ นายสิรณัฐ สก๊อต หรือ "ทราย สก๊อต" นักอนุรักษ์ทางทะเลชื่อดัง ที่เคยทำสถิติว่ายน้ำตัวเปล่าข้าม 3 จังหวัดอันดามันมา ได้นำภาพของแนวปะการัง ซึ่งมีสภาพเป็นสีขาว มาโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก โดยระบุข้อมูลไว้ว่า 

นี่เป็นสภาพปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะรอก ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยแต่ละภาพจะเห็นว่าแผ่นปะการังขนาดใหญ่ จะมีสภาพเปลี่ยนเป็นสีขาวบางจุด ปะการังบางแผ่นก็กลายสภาพเป็นสีขาวทั้งแผ่น แม้แต่ดอกไม้ทะเล ที่เป็นบ้านของปลาการ์ตูน หรือปลานีโม่ ซึ่งปกติจะเป็นสีเหลืองออกส้ม แต่ตอนนี้กลายสภาพเป็นสีขาวซีดไปแล้ว โดยยังมีปลานีโม่ว่ายอาศัยอยู่ 

"ทราย สก๊อต" ให้ข้อมูลว่า ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวที่เห็นในภาพนั้น ตัวเขาเองไปถ่ายมาขณะไปดำน้ำเก็บขยะทะเลกันที่เกาะรอก เกาะที่ได้ชื่อว่าปะการังน้ำตื้นสวยที่สุดแห่งหนึ่งของกระบี่ ตอนนี้พบว่าสภาพปะการังหลายจุดเริ่มกลายเป็นสีขาว จากวิกฤติปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น เท่าที่เขาไปดำน้ำสำรวจมาหลายจุดสำคัญของกระบี่ อาทิ เกาะไก่ เกาะรอก เกาะห้า เกาะห้อง ก็พบสภาพนี้มากขึัน และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นห่วง 

ที่ผ่านมาสังคมไทยอาจจะไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่อย่าลืมว่าเวลาคุณมาดำน้ำดูปะการัง เพราะคุณต้องการมาดูสีสันที่สวยงามของมัน แต่วันนี้สีสันมันเริ่มหายไปแล้ว ปีนี้ถือว่าสถานการณ์ฟอกขาวมาเร็ว และรุนแรงมากกว่าทุกปี เป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ ว่านี่คือผลจากการกระทำของมนุษย์ จึงอยากเรียกร้องให้สังคมไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เริ่มจิตสำนึกในการลดก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

นายสิรณัฐ ยังบอกด้วยว่า จากที่เขาดำน้ำสำรวจ จะพบว่าปะการังที่เริ่มฟอกขาว จะอยู่ตั้งแต่ระดับความลึก 5 เมตร ลึกลงไปกว่านััน อาจจะยังไม่กระทบมาก เพราะอุณหภูมืของน้ำยังไม่ร้อนมาก

"พัชรวาท" ลงพื้นที่ภูเก็ต รับฟังปัญหาสถานการณ์ปะการังฟอกขาว

อัปเดตสถานการณ์ \"ปะการังฟอกขาว\" ล่าสุด พบในเขตอุทยานฯ 12 แห่ง สั่งปิดพื้นที่ห้ามรบกวน อีกด้านหนึ่ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วยร้อยเอก รชฏ พิสิฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ปะการังฟอกขาว จากนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

โดยมีข้อสรุปคือปัจจุบันมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย (SST) และคาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทยในช่วงระหว่างเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2567 ระดับความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด ถ้าหากพบการเกิดปะการังฟอกขาวขั้นรุนแรง ให้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาความเครียดของปะการัง และจัดตั้งทีมประสานงานร่วมกับในพื้นที่ ให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน 

นอกจากนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาปิดจุดดำน้ำบางแห่งที่พบปะการังฟอกขาวเป็นจำนวนมาก และให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พยายามช่วยชีวิตปะการังโดยดำเนินการตามหลักวิชาการ เช่น การลดปริมาณแสงโดยการใช้วัสดุปิดบังแสงในแนวปะการังน้ำตื้น และการย้ายปะการังบางชนิดลงไปในระดับน้ำที่ลึกมากขึ้น และที่มีอุณหภูมิน้ำต่ำกว่าปกติ เพื่อให้ปะการังได้พักฟื้นกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ดังเดิมอีกครั้ง


พบ "ปะการังฟอกขาว" ในเขตอุทยานฯ 12 แห่ง - สั่งปิดพื้นที่ห้ามรบกวน

ตามที่ " พล.ต.อ.พัชรวาท" กำชับให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลรักษาระบบนิเวศที่สำคัญของท้องทะเลไทย นั้น

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานการสำรวจ ติดตามการเกิดปะการังฟอกขาว ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล จากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1-5  ซึ่งสาเหตุการเกิดปะการังฟอกขาวนั้น เกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมน้ำทะเลผิดปกติ เช่น น้ำทะเลร้อน มีคราบน้ำมัน มีตะกอนทับถมในปะการัง หรือปะการังผึ่งแห้งเป็นเวลานานเมื่อน้ำทะเลลงต่ำสุด 
ภาพจาก FB กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้ จึงส่งผลให้ปะการังเกิดความเครียดที่สูง และทำให้ปะการังขับสาหร่ายเซลล์เดียวออกจากตัวปะการัง (สาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae)) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของปะการัง และทำให้ปะการังมีสีสันด้วย เมื่อสูญเสียสาหร่ายดังกล่าวไป ปะการังเข้าสู่ภาวะอ่อนแอและกลายเป็นสีขาวโพลน หากเป็นเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ปะการังจะตายทันที 
ภาพจาก FB กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ปิดรายชื่อพื้นที่เกิดการฟอกขาวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลมี 12 แห่ง 

สำหรับพื้นที่ที่เกิดการฟอกขาวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลมี 12 แห่ง (ข้อมูลระหว่างวันที่ 2 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2567) แบ่งเป็น

  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง 
  • อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด 
  • อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด 
  • อุทยานแห่งชาติหาดวนกร 
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร 
  • อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 
  • อุทยานแห่งชาติสิรินาถ 
  • อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 
  • อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี 
  • อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา 

ด้านพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการฟอกขาวมากกว่า 50% ขึ้นไป มีดังนี้

1. อุทยานแห่งชาติหาดวนกร บริเวณเกาะจานทิศตะวันตก ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80%
2. อุทยานแห่งชาติสิรินาถ บริเวณเกาะปลิง ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80% (ดำเนินการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว)
3. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร
3.1 เกาะคราม ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 70 %
3.2 เกาะง่ามน้อย ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 60%
3.3 เกาะง่ามใหญ่ ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80%
ภาพจาก FB กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังในขณะเกิดการฟอกขาว กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีแนวทางและมาตราการในการป้องกันการเกิดปะการังฟอกขาว คือการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาว ในอุทยานแห่งชาติทางทะเล จนกว่าสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังจะคลี่คลายลง

"ปะการังฟอกขาว" คืออะไร มีผลกระทบอย่างไรกับโลกใต้ทะเล

อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อธิบายเกี่ยวกับ "ปะการังฟอกขาว" (Coral bleaching) ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสีย "สาหร่ายซูแซนเทลลี" (zooxanthellae) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป มีน้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด

นอกจากนี้ "ปะการังฟอกขาว" ยังเป็นสัญญาณเตือนหนึ่งของวิกฤตโลกร้อน เนื่องจากปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในมหาสมุทร การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียง 1–2 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้นได้

ผลกระทบ

เมื่อปะการังเกิดการฟอกขาว ย่อมส่งผลกระทบต่อโลกใต้ท้องทะเล เช่น

  • ปริมาณสัตว์น้ำลดลงเนื่องจากขาดแหล่งอนุบาล
  • ปะการังฟอกขาวทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรม ส่งผลให้กระทบต่อสมดุลในระบบนิเวศแนวปะการัง
  • ปะการังเกิดความเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว


ปะการังฟอกขาว จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด อีกทั้ง สิ่งมีชีวิตอย่างปะการัง มีคุณค่ากับท้องทะเลเช่นเดียวกับสัตว์น้ำอื่นๆ หากมันหายไปย่อมส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล 

ซึ่งเราเองก็สามารถช่วยกันดูแลรักษา และอนุรักษ์แนวปะการังได้ โดยเริ่มจากการลดการสร้างมลภาวะ เช่น ไม่ทิ้งขยะลงทะเลและตามชายฝั่ง , หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นการทำลายแนวปะการัง เป็นต้น 

หากพบเห็นการเกิดปะการังฟอกขาว สามารถแจ้งข่าวสารผ่านเว็บไซต์ https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th/th เพื่อทุกฝ่ายจะได้เตรียมพร้อมรับมือและลงพื้นที่ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิดต่อไป

ขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วนจาก : 
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 
เฟซบุ๊ก ทราย สก๊อต
เฟซบุ๊กเพจ Environman
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1117126
https://sciplanet.org/content/8276
https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/65637
https://km.dmcr.go.th/c_3/d_1772
https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/848470
https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th/th/blog_coral/detail/83
Scimath คลังความรู้
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

logoline