svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

92% ของเมืองทั่วโลก มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินเกณฑ์ WHO

19 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รายงานฉบับใหม่ บ่งชี้ว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาของทั้งโลก พบในปี 2566 มีประเทศและดินแดนไม่ถึง 10% ของทั้งโลก มีค่า PM2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของอนามัยโลก และ 99 ใน 100 เมืองที่มีมลพิษแย่ที่สุด อยู่ในเอเชีย ซึ่ง 83 แห่งอยู่ในประเทศเดียว

รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศฉบับใหม่ที่รวบรวมโดย IQAir บริษัทในสวิตเซอร์แลนด์ ที่ติดตามคุณภาพอากาศทั่วโลก เผยผลการศึกษาเกี่ยวกับค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่สำรวจใน 7,812 เมือง ใน 134 ประเทศและดินแดนทั่วโลกในปีที่แล้ว พบว่า 92.5% ของเมืองเหล่านี้มีระดับมลพิษทางอากาศเฉลี่ยทั้งปีสูงเกินกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดว่า จะต้องมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

และมีเพียง 10 ประเทศและดินแดนจาก 134 แห่ง มีคุณภาพอากาศดีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ได้แก่ ฟินแลนด์, เอสโตเนีย, เปอร์โตริโก, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เบอร์มิวดา, เกรนาดา, ไอซ์แลนด์, มอริเชียส และเฟรนช์ โพลินิเซีย

นอกจากนี้ใน 99 เมืองจาก 100 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลกอยู่ในเอเชีย และ 83 เมืองอยู่ในอินเดีย ซึ่งเมืองเหล่านี้มีคุณภาพอากาศเกินกว่าเกณฑ์ของ WHO มากกว่า 10 เท่า

ส่วนเมืองเบกูซาไร ที่มีประชากรราว 5 แสนคน ในรัฐพิหารทางภาคเหนือของอินเดีย เป็นเมืองที่มีมลพิษเลวร้ายที่สุดของโลกในปีที่แล้ว โดยมีค่าเฉลี่ย PM2.5 ตลอดปี ที่ 118.9 หรือ 23 เท่าเกินกว่าเกณฑ์ของ WHO รองลงมา คือ เมืองคุวาหาตีในรัฐอัสสัม, กรุงนิวเดลี และเมืองมัลลานปุระ ในรัฐปัญจาบ และประชากร 1.3 ล้านคน หรือ 96% ของประชากรทั้งหมดในอินเดีย อาศัยอยู่ในพื้นที่ทีมีคุณภาพอากาศเลวร้ายกว่าเกณฑ์ของ WHO มากถึง 7 เท่า

92% ของเมืองทั่วโลก มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินเกณฑ์ WHO ขณะที่ 4 ประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดจากการจัดอันดับของ IQAir ในปีที่แล้ว คือ บังกลาเทศ, ปากีสถาน, อินเดีย และทาจิกิสถาน โดยบังกลาเทศมีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยทั้งปีเกินเกณฑ์ของ WHO เกือบ 16 เท่า ทำให้เป็นประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก

รายงานระบุว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วเอเชียมีระดับมลพิษเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงจีน ที่มีค่ามลพิษทางอากาศในปี 2566 สูงขึ้น 6.3% แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีคุณภาพอากาศดีขึ้น โดยในกรุงปักกิ่งมีค่า PM2.5 สูงขึ้น 14% ในปีที่แล้ว

รายงานของ IQAir ยังพบว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีฟิลิปปินส์เพียงประเทศเดียวที่ระดับมลพิษทางอากาศตลอดปีในปี 2566 ลดลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีระดับมลพิษสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2565 ส่วนเวียดนาม และประเทศไทย มีเมืองที่มีค่า PM2.5 เกินเกณฑ์ของ WHO กว่า 10 เท่า

แฟรงค์ แฮมเมส ซีอีโอ ของ IQAir กล่าวว่า ทุกส่วนในชีวิตของคนเราได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ และในบางประเทศที่มีมลพิษมากที่สุด อาจทำให้ประชากรมีอายุสั้นลงราว 3-6 ปี
92% ของเมืองทั่วโลก มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินเกณฑ์ WHO รายงานของ IQAir ระบุด้วยว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล มีส่วนสำคัญที่ทำให้ระดับมลพิษในอากาศสูงขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงแบบแผนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมและปริมาณฝน ซึ่งส่งผลต่อการกระจายตัวของมลพิษ และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังนำไปสู่การเกิดไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้นในหลายภูมิภาค และทำให้ละอองเกสรฟุ้งกระจายมากขึ้นและยาวนานขึ้น ยิ่งซ้ำเติมปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

แฮมเมส บอกด้วยว่า มีการทับซ้อนเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ ลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งจะส่งผลลัพธ์อย่างใหญ่หลวงในระยะยาว เพื่อปรับปรุงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกลับกันควรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ

logoline