svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำความรู้จัก "อุเทนถวาย" จากเพาะช่าง สู่เทคโนโลยีราชมงคล กับปัญหาย้ายสถาบันฯ

27 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดข้อมูล ทำความรู้จัก "อุเทนถวาย" จากโรงเรียนเพาะช่าง สู่ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ก่อนเปลี่ยนชื่อล่าสุด เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย กับปัญหาการย้ายสถาบันที่เป็นประเด็นร้อนในวันนี้

หลายคนรู้จักชื่อ "อุเทนถวาย" ในฐานะสถาบันการศึกษาชื่อดัง ประสิทธิ์ประสาทวิชาช่างก่อสร้าง ย่านปทุมวัน มาอย่างยาวนาน ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 225 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในวันที่ 1 ก.พ.2477 หรือ เมื่อ 90 ปีที่แล้ว
ทำความรู้จัก \"อุเทนถวาย\" จากเพาะช่าง สู่เทคโนโลยีราชมงคล กับปัญหาย้ายสถาบันฯ
ทำความรู้จัก "อุเทนถวาย"
ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. พ.ศ. 2477 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง หรือ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ก่อนที่จะเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ในปัจจุบัน

สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีน้ำเงิน สีขาว

คติพจน์ "ถ้าเรารักสมัครจิต ก็ต้องคิดสมัครมือ ถิ่นสีน้ำเงิน คือ ที่รวมรักสมัครคง"

ทั้งนี้ ทางสถาบัน ได้ยึดเอาวันที่ 1 ก.พ.ของทุกปี เป็น วันครบรอบวันสถาปนาสถาบัน หรือมีอีกชื่อว่า "วันบลูเดย์"

ไทม์ไลน์ อุเทนถวาย

  • เริ่มต้น เปิดสอนในหลักสูตรการศึกษาชั้นประถมวิสามัญและชั้นมัธยมวิสามัญ เป็นชั้นมัธยมวิสามัญช่างก่อสร้าง หลักสูตรปีที่ 1 ถึง 8 
  • ปี พ.ศ.2518 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ยกฐานะจากโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเป็น “วิทยาลัยอุเทนถวาย” และโอนเข้าสังกัดในวิทยาลัยอาชีวศึกษา และเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาวิทยาเขตอุเทนถวาย” แบ่งการเรียนออกเป็น 4 คณะวิชา คือ คณะวิชาสามัญ คณะวิชาสัมพันธ์ คณะวิชาช่างโยธา และคณะวิชาออกแบบ
  • วันที่ 15 กันยายน 2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตอุเทนถวาย” ขยายการศึกษาในระดับปริญญาตรี 2 คณะวิชา ได้แก่ ช่างโยธา และ สถาปัตยกรรม

 

  • ปี พ.ศ. 2548 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ยกฐานะเป็นหนึ่งในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548  เปิดสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี ใน 7 สาขาวิชา ได้แก่
  1. วิศวกรรมโยธา
  2. วิศวกรรมก่อสร้าง
  3. วิศวกรรมเคมี
  4. เทคโนโลยีสถาปัตยกรรม
  5. สถาปัตยกรรมศาสตร์
  6. สถาปัตยกรรมภายใน
  7. การจัดการโลจิสติกส์และระบบขนส่ง

รวมทั้งสอนระดับปริญญาโท 2 สาขาวิชา ได้แก่ วิศวกรรมโยธา และการบริหารงานก่อสร้าง

อุเทนถวาย ในอดีต
เว็บไซต์ สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย เปิดประวัติโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย โดยนำข้อมูลจาก "บุญเตือน ศรีวรพจน์" อดีต ผอ.สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ที่เขียนลงในนิตยสารเล่มหนึ่ง ระบุว่า..

จุดเริ่มต้นของอุเทนถวายนั้น ต้องย้อนกลับไปในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชปรารภไว้ แต่ยังมิทันได้โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการ ก็เสด็จสวรรคตก่อน

กระทั่งปี 2456 กระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ซึ่งมีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นเสนาบดี ได้จัดการก่อสร้างโรงเรียนฝึกการหัตถกรรม เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ รัชกาลที่ 5 ที่บริเวณถนนตรีเพชร และนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "โรงเรียนเพาะช่าง" และเสด็จพระราชดำเนินเปิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2456 ครั้งนั้นมีพระราชดำรัสตอบความตอนหนึ่งว่า..

“ตามที่เจ้าพระยาพระเสด็จฯ อ่านรายงานเรื่องสร้างโรงเรียนแห่งนี้ว่า ได้กระทำขึ้นเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถของเรานั้น เราเชื่อว่าถ้ามีวิถีอันใดที่กิตติศัพท์อันนี้จะทราบถึงพระองค์ได้ แม้จะเสด็จอยู่สถานที่ใดก็ตาม คงจะยินดีและพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก เพราะว่าพระองค์ได้มีพระราชประสงค์อยู่นานแล้วที่จะทรงบำรุงศิลปวิชาการของไทยเราให้เจริญ

ตัวเราเองก็เคยได้ฟังกระแสพระราชดำริอยู่เสมอ เราเห็นพ้องด้วยกระแสพระราชดำรินั้นตั้งแต่ต้นมา คือเราเห็นว่าศิลปวิชาช่างเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งสำหรับแสดงให้ปรากฏว่าชาติได้ถึงซึ่งความเจริญเพียงใดแล้ว…ฯลฯ…

เราเคยได้ปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จฯ และผู้เกี่ยวข้องด้วยการศึกษาที่จะใช้วิชาช่างที่ตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเราแล้ว และขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนเอาพันธุ์พืชของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา แล้วบำรุงให้เติบโตงอกงาม ดีกว่าเอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกในแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน”

โดยความประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาเสด็จฯ มาขอชื่อโรงเรียน เราขอระลึกผูกพันอยู่ในความเปรียบเทียบกับต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราจึงขอตั้งชื่อให้โรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนเพาะช่าง”
ทำความรู้จัก \"อุเทนถวาย\" จากเพาะช่าง สู่เทคโนโลยีราชมงคล กับปัญหาย้ายสถาบันฯ
จาก "เพาะช่าง" สู่ "อุเทนถวาย"
โรงเรียนเพาะช่าง มีการเรียนการสอนวิชาหัตถกรรมไทยมาแต่แรก มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่ปี 2462 ก่อนจะเข้ามาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียน และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงเรียน กระทั่งสิ้นพระชนม์

วันที่ 8 ก.ค.2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินการพระราชกุศล เป็นเงิน 10,000 บาท ให้สร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

ส่วนการก่อตั้ง "อุเทนถวาย" เริ่มต้นจากคณะราษฎรยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ต่อมา เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้มีคำสั่งเรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้าง เป็นการส่งเสริมวิชาช่างไทย ความในคำสั่งมีดังนี้

บัดนี้ถึงเวลาอันสมควรที่จะจัดตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชาชีพต่อไป เพราะฉะนั้นให้ตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาขึ้นที่โรงงานของโรงเรียนเพาะช่างถนนพญาไท เชิงสะพานอุเทนถวาย ตำบลพญาไทโรงหนึ่งให้ชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” แล้วขึ้นแขวงวิสามัญกับให้มีกรรมการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นคณะหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่งแต่ ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2475
(ลงนาม) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
เสนาบดี
ทำความรู้จัก \"อุเทนถวาย\" จากเพาะช่าง สู่เทคโนโลยีราชมงคล กับปัญหาย้ายสถาบันฯ
เปิดที่มาชื่อ "อุเทนถวาย"
ที่มานาม "อุเทนถวาย" นั้น มาจากสถานที่ตั้งโรงงานโรงเรียนเพาะช่าง การก่อสร้างโรงงานโรงเรียนเพาะช่าง เพราะช่วงเวลาดังกล่าวขาดแคลนช่างที่เป็นคนไทย ส่วนมากหัวหน้าช่างมักจะเป็นชาวจีน เพื่อเป็นการทำนุบำรุงวิชาช่างก่อสร้างไทย ปี 2474 จึงได้มีการเปิดสอนวิชาช่างแผนกแบบแปลน และเปิดวิชารับเหมาก่อสร้างขึ้นที่เชิงสะพานอุเทนถวาย อันเป็นที่ตั้งโรงงานเพาะช่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สร้างขึ้น ในปี 2466 ซึ่งตอนนั้นให้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกก่อสร้าง

ส่วนที่มาของชื่อ สะพานอุเทนถวาย นั้น ก่อสร้างโดยเงินบริจาคของข้าราชการและพนักงานกรมสรรพากร จำนวน 8,015 บาท 40 สตางค์ ครั้งนั้น เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งกำกับดูแลกรมสุขาภิบาล เสนอชื่อสะพาน ทูลเกล้าฯ ถวายให้เลือก 4 ชื่อ ได้แก่ สะพานอุเทนอุทิศ สะพานสรรพากรอุทิศ สะพานบริวารถวาย และ สะพานเบญจมราชูทิศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “อุเทนถวาย”
ทำความรู้จัก \"อุเทนถวาย\" จากเพาะช่าง สู่เทคโนโลยีราชมงคล กับปัญหาย้ายสถาบันฯ
"อุเทนถวาย" ในปัจจุบัน 

เมื่อปี 2533 "อุเทนถวาย" โอนมาเป็นวิทยาเขตในสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ภายใต้ชื่อ "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย" จากนั้นจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 

ปัจจุบัน เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาต่าง ๆ ดังนี้

  • สาขาวิศวกรรมโยธา
  • สาขาวิศวกรรมก่อสร้าง
  • สาขาวิศวกรรมเคมี
  • สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม
  • สาขาสถาปัตยกรรมภายในภายนอก
  • สาขาออกแบบอุตสาหกรรม
  • สาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์และการจัดการระบบขนส่ง
  • สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย
  • สาขาการบริหารงานก่อสร้าง
  • สาขาการจัดการโลจิสติกส์ และซัพพลายเซน

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างสถาบัน ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีคำสั่งไปยังอธิการบดีฯ อุเทนถวาย ให้งดรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2567 เพื่อลดปริมาณนักศึกษา เพื่อดำเนินการย้ายสถาบันไปพื้นที่ใหม่ ตามคำสั่งศาลปกครองให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้

ขณะที่ กลุ่มศิษย์เก่าและนักศึกษาอุเทนถวาย ได้รวมพลใหญ่วันนี้ (27 ก.พ.) 3 พันคน ร่วมเดินขบวนคัดค้านการย้ายสถาบันออกจากพื้นที่เดิม 

ปัญหาเรื่องที่ดินตั้งสถาบัน "อุเทนถวาย" เป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่า สุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร??
ทำความรู้จัก \"อุเทนถวาย\" จากเพาะช่าง สู่เทคโนโลยีราชมงคล กับปัญหาย้ายสถาบันฯ

ขอบคุณข้อมูล

logoline