svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ย้อนมหากาพย์ ปมย้าย "อุเทนถวาย" ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน ระดม 3 พันคน ยื่นหนังสือคัดค้าน

27 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นการ "ย้ายอุเทนถวาย" ออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงอุดมศึกษาฯ ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ว่า อุเทนถวาย ยังต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ต้องย้ายไปวิทยาเขตอื่น และยืนยันว่า ศิษย์เก่าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

"Nation STORY" ชวนย้อนอ่านมหากาพย์ 49 ปี จุฬาฯ ขอคืนพื้นที่ "อุเทนถวาย" จนถึงวันที่ รมว.กระทรวงอุดมศึกษาฯ มีคำสั่งไปยังอธิการบดีฯ อุเทนถวาย ให้งดรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2567 และจะดำเนินการย้ายให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้

จนเป็นที่มาศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน ระดม 3 พันคน จัดกิจกรรม "รวมพล ศิษย์เก่า อุเทนถวาย เราจะเดินขบวน ไปทวงความยุติธรรม" คัดค้านย้าย "อุเทนถวาย" ในวันนี้ (27 ก.พ. 67)

เปิดมหากาพย์ 49 ปี จุฬาฯ ขอคืนพื้นที่อุเทนถวาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการขอคืนพื้นที่ของจุฬาฯ ที่ให้อุเทนถวายเช่า ว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ทำสัญญาเช่ากับจุฬาฯ บนพื้นที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2478-2546

โดยจุฬาฯ ได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา เนื่องจากจุฬาฯ มีโครงการที่นำความรู้เพื่อสนองตอบการแก้ปัญหาของสังคมอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องใช้สถานที่ เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนของชาติ และเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอันใกล้นี้ตามนโยบายของรัฐบาล

ปี 2545 กระทรวงศึกษาธิการ ได้เคยมีความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่บริเวณอุเทนถวายต่อจุฬาฯ เพื่อจัดตั้ง สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยจะประสานงานจัดการเรื่องการย้ายอุเทนถวายไปยังสถานที่ที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการขยายพื้นทางการศึกษาของอุเทนถวายด้วย

ดังนั้น เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาดังกล่าว จุฬาฯ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย ประมาณ 30-50 ไร่ ซึ่ง กรมธนารักษ์ได้เสนอพื้นที่ ต.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการจำนวน 36 ไร่ ให้กับอุเทนถวาย

จนกระทั่งในปี 2547 อุเทนถวาย จึงมีการทำบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้กับจุฬาฯ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 โดยหากมีความจำเป็นก็จะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น

ในปี 2548 จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ จุฬาฯ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและอุเทนถวาย โดยมีสาระสำคัญในการตกลงที่อุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ ที่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และจะดำเนินการย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548

โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่ากับอุเทนถวายแล้ว สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) ก็จะมาใช้พื้นที่นี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนแผนการย้าย คณะรัฐมนตรีได้จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการต่อไปอีกด้วย

จุฬาฯ ได้มีการส่งหนังสือเพื่อให้อุเทนถวายส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่จุฬาฯ ทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันที่ 6 ธันวาคม 2549, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 รวมถึงมีหนังสือถึงรมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณางบประมาณในสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่แห่งใหม่ให้อุเทนถวายด้วย

ในปี พ.ศ. 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) โดยในระหว่างการพิจารณาดังกล่าวนั้นนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง

ย้อนมหากาพย์ ปมย้าย \"อุเทนถวาย\" ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน ระดม 3 พันคน ยื่นหนังสือคัดค้าน

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 กยพ. ได้มีมติชี้ขาดโดยให้ อุเทนถวาย ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้กับ จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ โดยมติที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า ในการย้ายนั้น ขอให้กระทรวงศึกษา ประสานงานกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุและงบประมาณสนับสนุนเพื่อการนี้ต่อไปด้วย

ปี พ.ศ.2553 คณะรัฐมนตรีรับทราบมติดังกล่าว และอัยการสูงสุดแจ้งผลชี้ขาดของ กยพ. ต่อจุฬาฯ และอุเทนถวาย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว สำหรับผลการทูลเกล้าถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. ถึงอุเทนถวาย ฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554

หลังจากนั้นจุฬาฯ จึงมีหนังสือสอบถามความคืบหน้าการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ไปยังอุเทนถวาย ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 แต่จนถึงปัจจุบัน อุเทนถวาย ยังไม่ได้ปฏิบัติตามการชี้ขาดจาก กยพ. แต่ประการใด

ย้อนมหากาพย์ ปมย้าย \"อุเทนถวาย\" ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน ระดม 3 พันคน ยื่นหนังสือคัดค้าน

ศาลปกครองสั่งย้ายภายใน 60 วัน ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน รวมตัวคัดค้าน

14 ธันวาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้อุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังจากมีคำสั่ง

ขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้บริหารของอุเทนถวาย ได้ประสานกับกรมธนารักษ์เพื่อเจรจาขอพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ที่เหมาะสมมาตลอด ล่าสุดได้ขอพื้นที่ในส่วนของ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ แต่ทางอุเทนถวาย คงไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดเพียงแห่งเดียว เพราะพื้นที่ดังกล่าว ม.ศิลปากร ก็ขอใช้เช่นเดียวกัน ส่วนจะได้พื้นที่กี่ไร่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมธนารักษ์ จ.สมุทรปราการ

16 กุมภาพันธ์ 2566 ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กว่า 500 คน รวมตัวคัดค้านไม่ประสงค์จะย้ายอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน ออกจากพื้นที่ พร้อมตั้งคำถามว่า สถานศึกษาแห่งนี้ "ควรเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการค้าพาณิชย์"

โดย รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการบดีฯ ได้ร่วมหารือกับตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน พร้อมระบุว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ และศึกษารายละเอียด ทั้งส่วนได้ส่วนเสีย โดยยืนยันได้ว่า ถ้ายังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็จะคุยกันจนกว่าจะหาข้อสรุปได้

จากนั้นตัวศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ได้ประกาศยุติการชุมนุม โดยระบุว่า หากมหาวิทยาลัยผิดข้อตกลงจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ

ย้อนมหากาพย์ ปมย้าย \"อุเทนถวาย\" ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน ระดม 3 พันคน ยื่นหนังสือคัดค้าน

ถกนัดแรกยังไม่ได้ข้อสรุป ความรุนแรงเสมือนตัวเร่งย้ายออกเร็วขึ้น

ย้อนไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ ตัวแทนจากอุเทนถวาย ได้ร่วมประชุมนัดแรกหาทางออกข้อพิพาทที่ดิน นานกว่า 2 ชั่วโมง แต่ไม่ได้ข้อสรุป ขณะเดียวกัน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ได้ฝากอุเทนถวายและจุฬาฯ วางระบบส่งเสริมการศึกษาระหว่างกัน

อย่างไรก็ตามปัญหาความรุนแรงระหว่างอุเทนถวายและสถาบันคู่ขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เสมือนเป็นตัวเร่งให้ต้องย้ายออกจากพื้นที่เร็วขึ้น โดยอ้างอิงจากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่ต้องการลดความรุนแรง และป้องกันปัญหาที่อาจลุกลามบานปลายมากกว่านี้


ขอบคุณข้อมูล : Chulalongkorn University, ฐานเศรษฐกิจ

logoline