svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดปม "ย้ายอุเทนถวาย" ออกจากที่ดินของจุฬาฯ ด้าน นักศึกษารวมตัวคัดค้าน

30 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนมหากาพย์ 48 ปี จุฬาฯ ขอคืนพื้นที่ "อุเทนถวาย" ต้องย้ายออกตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ด้าน เด็กอุเทนฯ รวมตัวคัดค้าน ไม่ขอย้ายออกจากพื้นที่ นัดอีกครั้ง 1 พ.ย. นี้

ยังคงเป็นมหากาพย์ยืดเยื้อ มานานกว่า 48 ปี ปม "ย้ายอุเทนถวาย" ออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ ล่าสุดวันนี้ (30 ตุลาคม 2566) กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย จำนวน 130 คน รวมตัวคัดค้านไม่ขอย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่ โดยมีการติดป้ายข้อความคัดค้าน ส่วนบริเวณด้านหน้าสถาบัน มีกลุ่มศิษย์เก่า นักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ตั้งโต๊ะแถลงข่าว และบางส่วนไปยื่นหนังสือที่ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ

เด็กอุเทนฯ รวมตัวคัดค้านการย้ายสถาบัน : 30 ต.ค. 66

นายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา ได้อ่านแถลงการณ์ว่า จากกรณีการประชุมหาทางออก ร่วมกันระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคลตะวันออก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่เดิม เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ให้กำหนดให้ย้ายออก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น

คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวายขอเรียนว่า เมื่อผู้บริหารคณะฯ ได้รับรู้ข่าวสารการประชุมจากช่องทางต่างๆ ในวันเดียวกันนั้น คณบดีได้เรียนปรึกษาไปยังท่านอธิการบดี และเชิญมาพบปะกับประชาคมอุเทนถวาย เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน

ดังนั้น คณะฯ จึงขอเชิญอาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่า และนักศึกษาทุกท่าน เข้าร่วมประชุมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ อาคาร 7 ชั้น 2 โดยพร้อมเพรียงกัน

เด็กอุเทนฯ รวมตัวคัดค้านการย้ายสถาบัน : 30 ต.ค. 66

เปิดมหากาพย์ 48 ปี จุฬาฯ ขอคืนพื้นที่อุเทนถวาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการขอคืนพื้นที่ของจุฬาฯ ที่ให้อุเทนถวายเช่า ว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ทำสัญญาเช่ากับจุฬาฯ บนพื้นที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2478-2546

โดยจุฬาฯ ได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา เนื่องจากจุฬาฯมีโครงการที่นำความรู้เพื่อสนองตอบการแก้ปัญหาของสังคมอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องใช้สถานที่ เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนของชาติ และเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอันใกล้นี้ตามนโยบายของรัฐบาล

เปิดปม \"ย้ายอุเทนถวาย\" ออกจากที่ดินของจุฬาฯ ด้าน นักศึกษารวมตัวคัดค้าน

ปี 2545 กระทรวงศึกษาธิการ ได้เคยมีความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่บริเวณอุเทนถวายต่อจุฬาฯ เพื่อจัดตั้ง สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยจะประสานงานจัดการเรื่องการย้ายอุเทนถวายไปยังสถานที่ที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการขยายพื้นทางการศึกษาของอุเทนถวายด้วย

ดังนั้น เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาดังกล่าว จุฬาฯ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย ประมาณ 30-50 ไร่ ซึ่ง กรมธนารักษ์ได้เสนอพื้นที่ ต.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการจำนวน 36 ไร่ ให้กับอุเทนถวาย

จนกระทั่งในปี 2547 อุเทนถวาย จึงมีการทำบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้กับจุฬาฯ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 โดยหากมีความจำเป็นก็จะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น

นักศึกษาอุเทนถวาย ชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษา คัดค้านย้ายออกจากพื้นที่จุฬาฯ : แฟ้มภาพ 25 กุมภาพันธ์ 2547

ในปี 2548 จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ จุฬาฯ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและอุเทนถวาย โดยมีสาระสำคัญในการตกลงที่อุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ ที่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และจะดำเนินการย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548

โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่ากับอุเทนถวายแล้ว สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) ก็จะมาใช้พื้นที่นี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนแผนการย้าย คณะรัฐมนตรีได้จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการต่อไปอีกด้วย

จุฬาฯ ได้มีการส่งหนังสือเพื่อให้อุเทนถวายส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่จุฬาฯ ทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันที่ 6 ธันวาคม 2549, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 รวมถึงมีหนังสือถึงรมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณางบประมาณในสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่แห่งใหม่ให้อุเทนถวายด้วย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย : แฟ้มภาพ 25 กุมภาพันธ์ 2547

ในปี พ.ศ. 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) โดยในระหว่างการพิจารณาดังกล่าวนั้นนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 กยพ. ได้มีมติชี้ขาดโดยให้ อุเทนถวาย ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้กับ จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ โดยมติที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า ในการย้ายนั้น ขอให้กระทรวงศึกษา ประสานงานกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุและงบประมาณสนับสนุนเพื่อการนี้ต่อไปด้วย

ปี พ.ศ.2553 คณะรัฐมนตรีรับทราบมติดังกล่าว และอัยการสูงสุดแจ้งผลชี้ขาดของ กยพ. ต่อจุฬาฯ และอุเทนถวาย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว สำหรับผลการทูลเกล้าถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. ถึงอุเทนถวาย ฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554

หลังจากนั้นจุฬาฯ จึงมีหนังสือสอบถามความคืบหน้าการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ไปยังอุเทนถวาย ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 แต่จนถึงปัจจุบัน อุเทนถวาย ยังไม่ได้ปฏิบัติตามการชี้ขาดจาก กยพ. แต่ประการใด



ศาลปกครองสั่งย้ายภายใน 60 วัน ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน รวมตัวคัดค้าน

14 ธันวาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้อุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังจากมีคำสั่ง

ขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้บริหารของอุเทนถวาย ได้ประสานกับกรมธนารักษ์เพื่อเจรจาขอพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ที่เหมาะสมมาตลอด ล่าสุดได้ขอพื้นที่ในส่วนของ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ แต่ทางอุเทนถวายคงไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดเพียงแห่งเดียว เพราะพื้นที่ดังกล่าว ม.ศิลปากร ก็ขอใช้เช่นเดียวกัน ส่วนจะได้พื้นที่กี่ไร่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมธนารักษ์ จ.สมุทรปราการ

16 กุมภาพันธ์ 2566 ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กว่า 500 คน รวมตัวคัดค้านไม่ประสงค์จะย้ายอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน ออกจากพื้นที่ พร้อมตั้งคำถามว่า สถานศึกษาแห่งนี้ "ควรเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการค้าพาณิชย์" 

ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน ปิดถนนประท้วง คัดค้านย้ายอุเทนถวาย ออกจากพื้นที่ : แฟ้มภาพ 16 กุมภาพันธ์ 2566

โดย รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการบดีฯ ได้ร่วมหารือกับตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน พร้อมระบุว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ และศึกษารายละเอียด ทั้งส่วนได้ส่วนเสีย โดยยืนยันได้ว่า ถ้ายังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็จะคุยกันจนกว่าจะหาข้อสรุปได้

จากนั้นตัวศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ได้ประกาศยุติการชุมนุม โดยระบุว่า หากมหาวิทยาลัยผิดข้อตกลงจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ

ศุภมาส เชิญ "จุฬา-อุเทนถวาย" ประชุมหาทางออก ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

25 ตุลาคม 2566 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อดำเนินการตามคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. รักษาราชการแทนปลัดกระทรวง อว. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกรมธนารักษ์ ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เข้าร่วมประชุม

หลังการหารือ น.ส.ศุภมาส เปิดเผยว่า การประชุมหารือครั้งนี้ถือเป็นการหาทางออกร่วมกันภายหลังศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) วิทยาเขตอุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังจากมีคำสั่ง

เปิดปม \"ย้ายอุเทนถวาย\" ออกจากที่ดินของจุฬาฯ ด้าน นักศึกษารวมตัวคัดค้าน

ตนในฐานะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานทั้งสองแห่ง รู้สึกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าของอุเทนถวาย แต่เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปตามหลักนิติรัฐ ที่ยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 

กระทรวง อว. จำเป็นต้องยึดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่จะให้ทางอุเทนถวายส่งมอบพื้นที่เดิมและหาพื้นที่ใหม่สำหรับจัดการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการผ่อนปรนมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ตนจะดูแลให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงจะดูแลในมิติทางสังคม โดยเฉพาะอัตลักษณ์ของอุเทนถวายที่มีมายาวนานกว่า 93 ปี

ดิฉันได้ขอให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องและ มทร.ตะวันออก ทำแผนการย้ายเพื่อไม่ให้กระทบนักศึกษา ขณะที่การจัดหาพื้นที่ใหม่สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และหน่วยงานรัฐจะช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ และจะช่วยเร่งดำเนินการประสานงานไปยังหน่วยงาน เช่น กรมธนารักษ์ในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นที่พึงพอใจกับทุกฝ่ายต่อไป 

โดยได้มีการสั่งการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) และคำสั่งศาล รวมถึงจัดทำแผนในการขยับขยายและจัดหาพื้นที่ใหม่ โดยจะเชิญศิษย์เก่าอุเทนถวายเข้าร่วมเป็นคณะทำงานชุดนี้ด้วย ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวจะมีการจัดประชุมในสัปดาห์หน้า

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า บนพื้นที่ปัจจุบันของ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย มีบุคลากรสายวิชาการ จำนวน 64 คน บุคลากรสายสนับสนุน จำนวน 45 คน นักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 682 คน นักศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 143 คน และนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 14 คน ซึ่งหลังจากนี้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. จะเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขอบคุณข้อมูล : Chulalongkorn University, ฐานเศรษฐกิจ

logoline