svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"นิด้าโพล" เผย ปชช.กว่าครึ่งไม่เห็นด้วยแนวคิด "ผู้เสพคือผู้ป่วย"

16 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจความคิดเห็น ปชช. ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด "ผู้เสพยาเสพติดคือผู้ป่วย" หวั่นผันตัวกลายเป็นผู้ขาย ชี้ควรมีบทลงโทษที่เฉียบขาด มอง กม.ยาเสพติดอ่อนแอเกินไป

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ยึดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของยาบ้าในปัจจุบัน พบว่า

  • ร้อยละ 48.63 ระบุว่า ยาบ้าหาซื้อได้ง่าย
  • ร้อยละ 48.02 ระบุว่า กฎหมายยาเสพติดอ่อนแอเกินไป
  • ร้อยละ 47.86 ระบุว่า ยาบ้ามีราคาถูก
  • ร้อยละ 31.83 ระบุว่า มาตรการการปราบปรามยาเสพติดไม่มีประสิทธิภาพ
  • ร้อยละ 30.92 ระบุว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายหย่อนยานในการดำเนินการ
  • ร้อยละ 26.56 ระบุว่า สภาพทางสังคมทำให้คนเสพยาเพิ่มขึ้น
  • ร้อยละ 26.49 ระบุว่า นโยบายของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ
  • ร้อยละ 25.42 ระบุว่า มาตรการการป้องกันยาเสพติดไม่มีประสิทธิภาพ
  • ร้อยละ 21.30 ระบุว่า ผู้เสพไม่มีจิตสำนึกเอง
  • ร้อยละ 20.31 ระบุว่า สภาพทางเศรษฐกิจทำให้คนเสพยาเพิ่มขึ้น

\"นิด้าโพล\" เผย ปชช.กว่าครึ่งไม่เห็นด้วยแนวคิด \"ผู้เสพคือผู้ป่วย\"

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ยึดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” พบว่า

  • ร้อยละ 50.15 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ควรมีบทลงโทษเพื่อป้องกันผู้เสพหน้าใหม่ ผู้เสพอาจกลายเป็นผู้ขายเนื่องจากไม่เกรงกลัวบทลงโทษตามกฎหมาย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ผู้เสพไม่มีความตั้งใจที่จะเข้ารับการบำบัดตั้งแต่ต้นอาจกลับมาติดยาเสพติดซ้ำ
  • ร้อยละ 20.31 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ผู้เสพอาจเป็นผู้หลงผิดจึงควรได้รับการบำบัดรักษา เป็นการให้โอกาสในการปรับตัวกลับเข้าสู่สังคม และผู้เสพที่เป็นเยาวชนมีจำนวนมากควรใช้วิธีการบำบัดแทนการจำคุก
  • ร้อยละ 15.57 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ผู้เสพที่ต้องการเลิกยาเสพติดสามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี ขณะที่บางส่วนระบุว่า การบำบัดเป็นการช่วยแก้ปัญหานักโทษล้นคุก
  • ร้อยละ 13.89 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ผู้เสพควรได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย หากไม่มีบทลงโทษอาจทำให้มีผู้เสพเพิ่มมากขึ้น และควรแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ การนำผู้เสพมาบำบัดอาจไม่ช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดในสังคม
  • ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อปริมาณการครอบครองยาบ้าเพื่อเสพที่จะเข้ากับหลักการ “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” พบว่า

  • ร้อยละ 34.96 ระบุว่า ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย/ไม่ค่อยเห็นด้วยกับหลักการ “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย”
  • ร้อยละ 30.76 ระบุว่า ไม่เกิน 1 เม็ด
  • ร้อยละ 16.11 ระบุว่า ประมาณ 2-3 เม็ด
  • ร้อยละ 7.33 ระบุว่า ประมาณ 4-6 เม็ด
  • ร้อยละ 3.59 ระบุว่า ประมาณ 10-12 เม็ด
  • ร้อยละ 2.75 ระบุว่า ประมาณ 7-9 เม็ด และไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
  • ร้อยละ 1.75 ระบุว่า ประมาณ 13-15 เม็ด

 

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการรู้จักคนเสพหรือเคยเสพยาเสพติด พบว่า

  • ร้อยละ 56.11 ระบุว่า ไม่รู้จัก
  • ร้อยละ 43.89 ระบุว่า รู้จัก
logoline