svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สปสช.ดัน‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ช่วยคัดกรอง 13 โรคพื้นฐาน

04 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สปสช. สภาเภสัชกรรม ผนึก กทม. เยี่ยมร้านยาคุณภาพรูปแบบใหม่ ให้เภสัชกรเป็นร้านยาของชุมชน แนะนำ-คัดกรองอาการโรคพื้นฐาน 13 โรค หากเป็นสิทธิ์บัตรทองรับยาที่ร้านยาได้เลย พร้อมติดตามอาการคนไข้หลังรับยา 3 วัน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และ ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เยี่ยมชมร้านยาฟาร์มาสโตร์ รัชโยธิน ที่ ซ.พหลโยธิน 35 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านยาคุณภาพรูปแบบใหม่ ที่ร่วมให้บริการสุขภาพเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ พื้นที่กรุงเทพฯ 

 

ทั้งนี้ โครงการ “ร้านยารูปแบบใหม่ Common illness” เป็นร้านยาคุณภาพที่ใกล้ชิดกับประชาชน โดยร้านดังกล่าวเป็นหนึ่งในร้านที่สมัครเข้าร่วมหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายสปสช. ที่เภสัชกรจะสามารถให้คำแนะนำกับประชาชนที่มีอาการ หรือเจ็บป่วยเบื้องต้น หรือส่งต่อไปยังแพทย์เชี่ยวชาญในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามสิทธิ์ของผู้ป่วยบัตรทองได้ด้วย 

สปสช.ดัน‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ช่วยคัดกรอง 13 โรคพื้นฐาน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ร้านยารูปแบบใหม่ Common illness จะมีสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” หรือ “ร้านยาให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” ติดป้ายเอาไว้ที่หน้าร้านยา ซึ่งจะมีบริการมากกว่าร้านยาทั่วไป โดยมีทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้คำปรึกษาด้านการใช้ยาและเวชภัณฑ์ พร้อมทั้งติดตามดูแลอาการโรคเบื้องต้น (Common illness) สำหรับประชาชนทุกสิทธิการรักษา

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง จะได้รับบริการยา และเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ร้านยาชุมชนอบอุ่น จะมีเภสัชกรบริการแจกยาคุมกำเนิด และถุงยางอนามัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย 

สปสช.ดัน‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ช่วยคัดกรอง 13 โรคพื้นฐาน
 
เลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2566 สปสช.ยังเพิ่มบริการในร้านยาอบอุ่นและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิให้มากขึ้น รวมถึงแจกยาคุมฉุกเฉิน เพิ่มบริการตรวจดูการตั้งครรภ์ผ่านแผ่นตรวจปัสสาวะ บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก รวมถึงบริการคัดกรองปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

 

“เราพบว่า พฤติกรรมของประชาชน ส่วนใหญ่หากไม่ป่วยมาก จะเลือกไปร้านยามากกว่าโรงพยาบาล ร้านยาจึงมีความสำคัญในฐานะด่านแรกในการบริการผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐภูมิแล้วมากกว่า 200 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งร้านยามีความใกล้ชิดกับประชาชน กระจายไปยังชุมชนต่างๆ สปสช.จึงพยายามสร้างเครือข่ายร้านยาชุมชนอบอุ่นให้มีบริการสุขภาพที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก และไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล” นพ.จเด็จ กล่าว 

 

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ร้านยาเป็นอีกกลไกสำคัญ ที่เติมเต็มระบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ ให้สมบูรณ์มากขึ้น เพราะร้านยาถือเป็นหน่วยบริการที่ใกล้ชิดประชาชน มีความสะดวกไปรับบริการมากว่าไปโรงพยาบาล อีกทั้ง เมื่อร้านยาทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยอื่นๆ ในพื้นที่ ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น รวมถึงหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะ ก็จะทำให้มีช่องทางที่ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพในกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาอีก 73 แห่ง เมื่อรวมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น ตลอดจนหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะทาง เช่น ร้านยา คลินิกทันตกรรม คลินิกเวชกรรม จะทำให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิรวมแล้ว 700 แห่ง ซึ่งคิดว่าสามารถดูแลคนกรุงเทพฯ ได้ 

 

“สำหรับร้านยาที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายดูแลประชาชนในกรุงเทพฯ สามารถสมัครเข้าร่วมกับ สปสช.ได้ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมา กทม.และ สปสช.ได้ทำงานร่วมกันตลอด เพื่อหาช่องทางขยายหน่วยบริการปฐมภูมิในรูปแบบต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดหน่วยบริการปฐมภูมิเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการตั้งอยู่ หรือมีตู้บริการพบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลมากขึ้นด้วย” ผศ.ดร.ทวิดา กล่าว 

 

ด้าน ภญ.ปาริชาติ ธัมมรติ เภสัชกรประจำร้านยาฟาร์มาสโตร์ รัชโยธิน กล่าวว่า การบริการร้านยาคุณภาพรูปแบบใหม่ Common illness หรือโรคเบื้องต้น จะบริการตรวจอาการและให้คำแนะนำโรคเบื้องต้นพื้นฐาน 13 กลุ่มโรคกับผู้ป่วยที่มาร้านยา ซึ่งเป็นโรคที่คนไข้หรือผู้ป่วยมักมาซื้อยาที่ร้านขายยา เช่น ไข้หวัดแบบติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โรคท้องเสีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการผื่นตามผิวหนัง เป็นต้น 

 

สำหรับขั้นตอนการให้บริการจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน 2.หากผู้ป่วยมาที่ร้านยาเอง เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิ์คนไข้ว่าได้รับบริการตามสิทธิ์บัตรทองหรือไม่ หากมีสิทธิ์ก็รับยาตามอาการพร้อมคำแนะนำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือแนะนำให้พบแพทย์ ในกรณีที่พบว่ามีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ 

 

“เภสัชกรจะติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการรักษา หรือที่ได้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยทุกราย และร้านยาคุณภาพจะการจ่ายยาโดยพิจารณาจากอาการ ซึ่งเป็นการใช้ยาสมเหตุผล อีกทั้ง สปสช.ยังได้สนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย ก็เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนที่ใช้ยาในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่แล้ว เข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล” ภญ.ปาริชาติ กล่าว 

 

logoline