svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"สาหร่ายพวงองุ่น เพชรบุรี" ปชช.มีรายได้ ชุมชนมั่นคง

13 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สาหร่ายพวงองุ่น" จาก ฟาร์มทะเลตัวอย่าง จ.เพชรบุรี หนึ่งในโครงการพัฒนาความเป็นอยู่แก่พสกนิกร เนื่องในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ผลิตได้ประมาณ 2 ตันต่อวัน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ให้ราษฎรอย่างต่อเนื่อง สร้างอาชีพให้คนในชุมชนมั่นคง

นายนิรุทธ์ ศรีนวล ประธานกลุ่มประมงพัฒนาสาหร่ายทะเลเพชรบุรี กล่าวถึงความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นของราษฎรภายหลังจากการขยายผลจากฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี  
สาหร่ายพวงองุ่น (Sea Grapes) เป็นสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง มีการนิยมบริโภคสาหร่ายพวงองุ่นมากขึ้น เนื่องจาก
มีคุณประโยชน์มากมาย จัดเป็นอาหารสุขภาพมีคุณค่าทางอาหารสูง มีแร่ธาตุหลายชนิด อาทิ แมกนีเซียม แคลเซียม 
โพแตสเซียม สังกะสี ไอโอดีน เบต้าแคโรทีน และกรดอะมิโน ที่ไม่พบในพืชบนบก มีแคลอรีต่ำ กากใยสูง เกลือต่ำ ไขมันต่ำ    

 

 “วิถีชีวิตของคนที่นี่คือทำประมง ผู้ชายต้องออกเรือเพื่อไปหาสัตว์น้ำในท้องทะเล  ส่วนแม่บ้านก็มีรายได้จากสาหร่ายพวงองุ่น  เพราะว่าสามารถเพาะเลี้ยงในบ่อบริเวณบ้านได้ และรวมตัวเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสาหร่ายพวงองุ่น โดยส่วนหนึ่งรับจ้างทำงานในฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ทำหน้าที่เก็บและตัดแต่งสาหร่ายให้แก่ฟาร์ม ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” นายนิรุทธ์ ศรีนวล กล่าว

\"สาหร่ายพวงองุ่น เพชรบุรี\" ปชช.มีรายได้ ชุมชนมั่นคง

ด้านนางคมคาย มานิช หนึ่งในเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เผยว่าเมื่อก่อนเลี้ยงปูทะเล ปูม้า หอยแครง ปลากะพง  กุ้ง และ ทำนาเกลือ มีพื้นที่ 85 ไร่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะกลไกการตลาดมีความซับซ้อนทำให้ไม่คุ้มทุน 

“ได้รับคำแนะนำจากผู้อำนวยการฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ให้เลี้ยงสาหร่าย เมื่อ 8 - 9 ปีที่แล้ว ได้ทำตามขั้นตอนที่ทางฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ เข้ามาแนะนำ และมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตที่ออกมาผ่านการรับรองตามมาตรฐานของกรมประมงทุกประการ วันนี้ประสบความสำเร็จจนสามารถจัดตั้งเป็นฟาร์มผลิตเชิงพาณิชย์ ในชื่อ แฟมิลีฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น มีรายได้ประมาณ 80,000 ถึง 100,000 บาท ต่อเดือน สามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาโท 2 คน และปริญญาตรี 1 คน และไม่มีหนี้ไม่มีสินใดๆ ในปัจจุบัน” นางคมคาย มานิช กล่าว

\"สาหร่ายพวงองุ่น เพชรบุรี\" ปชช.มีรายได้ ชุมชนมั่นคง

สำหรับฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ เป็นผลสืบเนื่องมาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยราษฎรที่ประกอบอาชีพประมงไม่สามารถออกหาปลาได้เนื่องจากน้ำมันมีราคาแพง จึงพระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ให้ทำฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานขึ้น  พร้อมพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์  ซึ่งนางวาสนา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายจำนวน 82 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ณ หมู่ที่ 5 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จัดทำฟาร์มตัวอย่างเพื่อให้ทั้งผู้จับสัตว์น้ำ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำไปปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของตนเอง

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประทับแรม ณ วังไกลกังวล พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรบริเวณชายฝั่งทะเล ทรงพบว่ามีชาวประมงชายฝั่งมาช้อนลูกปลาและได้ปลาจำนวนมาก พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาแนวทางในการผลิตแพลงก์ตอน เพื่อให้ราษฎรที่
นำลูกปลาไปเพาะเลี้ยงมีอาหารให้ลูกปลาและรอเจริญเติบโตส่งขายเป็นรายได้ต่อไป  ซึ่งทางฟาร์มฯ ได้สนองพระราชดำริและประสบความสำเร็จจนขยายผลการผลิตแพลงก์ตอนสู่ราษฎรได้” นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี กล่าวในระหว่างลงพื้นที่ติดตามผลสัมฤทธิ์ของฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ พร้อมกับร่วมกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และพบปะกลุ่มเกษตรกร เมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565

 

ในการนี้องคมนตรีได้เปิดเผยถึงการดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริของฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ที่ผ่านมาว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทุกประการ มีการค้นคว้าศึกษาวิจัยจนประสบความสำเร็จแล้วขยายผลสู่การประกอบกิจการของราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละกิจกรรม เช่นการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล การเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอน  ไปจนถึงการผลิตน้ำทะเลผงเพื่อใช้ประโยชน์ทางการค้า 

\"สาหร่ายพวงองุ่น เพชรบุรี\" ปชช.มีรายได้ ชุมชนมั่นคง

“เมื่อก่อนไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์น้ำทะเลในพื้นที่น้ำจืด แต่ปัจจุบันสามารถทำได้แต่ยังมีปัญหาเรื่องน้ำทะเลที่ใช้เลี้ยง ทางฟาร์มศึกษาทดลองจนประสบความสำเร็จผลิตน้ำทะเลผงได้ ทำให้พื้นที่ห่างไกลทะเลสามารถเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลได้  หรือประเทศที่ไม่ติดทะเล อย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็จะสามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลได้ กิจการผลิตน้ำทะเลผงที่ได้ขยายผลสู่ราษฎรก็จะเกิดประโยชน์อีกทางหนึ่งในด้านรายได้ของราษฎร” นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี กล่าว

 

ทั้งนี้การดำเนินงานของฟาร์มฯ ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2552 โดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่ กรมประมง ในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีจุดเรียนรู้และสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 4 จุด ได้แก่จุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์สองน้ำ หรือน้ำกร่อย ได้แก่ การอนุบาลกุ้งก้ามกราม การเลี้ยงกุ้งขาว การเลี้ยงปลานิลแดง และปลากะพงขาว จุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลและสาหร่ายทะเล ได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเล ปลาช่อนทะเล ปลาจะละเม็ดทอง ปลาการ์ตูน หอยเป๋าฮื้อ และหมึกกระดอง  การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดิน พร้อมทั้งมีการสาธิตการแปรรูปสัตว์น้ำ สาหร่าย หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทนเค็มสูงและเกลือทะเล การเลี้ยงอาร์ทีเมียในบ่อดิน การผลิตเกลือแกงและน้ำทะเลผง และจุดสาธิตการทำฟาร์มทะเล เช่น การสร้างแพเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือก การเลี้ยงหอยแมลงภู่ในบ่อดิน การจัดทำธนาคารปูม้า และปลาหมึก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำร่วมกับชุมชน ได้แก่ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปูม้า ปลากะพงขาว และหมึกกระดอง รวมทั้งกิจกรรมบริการและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อีกด้วย 

 

ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ จึงเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ ดูงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการด้านประมงและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ให้ความสนใจเยี่ยมชมกว่า 7,000 คน มีการฝึกอบรมอาชีพแก่ราษฎรที่สนใจ จำนวน 28 รุ่น ประมาณ 1,000 กว่าคน ปัจจุบันฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นในเขตจังหวัดเพชรบุรีมีประมาณ 48 ฟาร์ม มีมูลค่าการตลาดต่อปี ประมาณ 26 ล้านบาท

\"สาหร่ายพวงองุ่น เพชรบุรี\" ปชช.มีรายได้ ชุมชนมั่นคง

logoline