เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
การทำงานของรัฐสภาดำเนินมาจะครบ 4 ปี ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และกำลังจะมีการ"เลือกตั้ง66" ในส่วนของ"สมาชิกวุฒิสภา" ได้มีการศึกษารายงานการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของรัฐบาลซึ่งจะเป็นภาพสะท้อนไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังมีขึ้นอีกด้วย
จากการศึกษาพิจารณารายงานการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของรัฐบาลในรอบเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 ทางคณะกรรมาธิการการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ วุฒิสภา (ตสร.) มีข้อสังเกตว่าการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวมีความล่าช้าใน 3 เรื่อง คือ
1) การจัดทำชุดความรู้แก้ขัดแย้งสร้างสามัคคีปรองดองล่าช้า
2) พรบ.การมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะล่าช้า
3) พ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองล่าช้า
นั่นเป็นเรื่องของการรายงานตามแผนงานระดับชาติของประเทศ อันที่จริงแล้วประชาชนเองก็สามารถรับรู้และรู้สึกด้วยความเป็นห่วงกังวลระคนสิ้นหวังจากข่าวสารประจำวันของสื่อมวลชนทั่วไป ทั้งในด้านสถานการณ์บ้านเมืองและพฤติกรรมของนักการเมือง โดยไม่ต้องรอฟังรายงานจากสภาพัฒน์หรือรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ปฏิทินการเมืองของประเทศกำลังเดินเข้าสู่การ"ยุบสภา" ตามวาระและต้องมีการเลือกตั้ง สส.ครั้งใหม่ ภายใน 2-4 เดือนข้างหน้า จึงเป็นสิ่งที่ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มพลังทางการเมืองทั้งหลายจะต้องให้ความสำคัญกันเป็นพิเศษ
เพราะนี่คือหน้าต่างแห่งโอกาสของประเทศและสังคมไทยที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและองค์ประกอบของรัฐสภา อันเป็นกลไกอำนาจสูงสุดด้านนิติบัญญัติ ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้มี สส.น้ำดีเข้ามาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อย้อนกลับไปดูที่ตัวแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เราจะพบว่ามีแก่นสาระสำคัญและเป้าหมายใหญ่อยู่ 2 ประการ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนประชาชน(ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง)ให้เป็นพลเมือง(ที่มีคุณภาพ) 2) การเปลี่ยนพรรคการเมือง ( ของนายทุน ) ให้เป็นประชาธิปไตย ( ที่มวลสมาชิกเป็นเจ้าของพรรค )
คำถามที่สาธารณชนอยากทราบ คือ การเลือกตั้งภายหลังขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศผ่านไปแล้ว 5 ปี จะมีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิมบ้างหรือไม่ ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในคราวนี้จะมีพฤติกรรมประชาธิปไตยที่สะท้อนจิตสำนึกและวิธีคิดออกมาในการโหวตแตกต่างจากอดีตอย่างไร
ส่วนในด้านความเป็นประชาธิปไตยของพรรคการเมืองนั้น สังคมควรจับตาดูว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีพรรคการเมืองเชิงอุดมคติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นสักพรรคสองพรรคบ้างหรือไม่ กล่าวคือเป็นพรรคฐานมวลชน มีระบบประชาธิปไตยภายในพรรค และมีความเป็นสถาบันที่มุ่งพัฒนาการเมืองของประเทศในระยะยาว มากกว่าที่จะเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อชิงเก้าอี้สส.ในสภาเป็นคราวๆเท่านั้น
ทั้งสองเรื่องนี้ หน่วยงาน กกต.และสถาบันพระปกเกล้า ควรมีแผนงานโครงการที่จะศึกษาวิจัยเชิงติดตามประเมินผล และนำเสนอรายงานต่อวุฒิสภาอย่างเป็นรูปธรรมในโอกาสต่อไป
ส่วนเรื่องอื่นล้วนเป็นประเด็นปลีกย่อย รวมทั้งกิจกรรม-โครงการ Big Rocks และเรื่อง พรบ. 2 ฉบับ ซึ่งต้องรอให้มีรัฐสภาและรัฐบาลชุดใหม่มาว่ากันต่อไปตามสภาพการณ์ข้างหน้า