svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อุ๊งอิ๊งค์" ฝัน ปั้นไทยแลนด์มาร์ค ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

18 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แพทองธาร ฝัน 2570 ประเทศไทยเป็นแลนด์มาร์ค การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก หวังรายได้ 3 ล้านล้าน พร้อมเสนอ 4 เรื่อง ผลักดันถึงเป้า

18 ธันวาคม 2565 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษา ด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก กล่าวถึง การเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่พรรคเพื่อไทย โดยร่วมแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2570 โดยตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีข้อความดังนี้ 

ใครๆ ก็บอกว่าการท่องเที่ยวเป็น engine สำคัญที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย แต่พอถึงวิกฤตโรคระบาคโควิด-19 การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที จนทุกวันนี้แม้โควิด-19 จะซาลง รัฐบาลลดมาตรการควบคุมโรคระบาด นักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาเที่ยวกันแล้ว แต่ปัญหาหลายอย่างก็ยังคงอยู่ อนาคตการท่องเที่ยวไทยจะไปทางไหนก็ยังไม่มีทิศทางชัดเจน

เป็นเสียงสะท้อนจากวงแลกเปลี่ยนความคิด จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ที่ทำให้กลับมาคิดตกตะกอนอะไรได้หลายอย่างมาก 

พูดกันตามจริง ในฐานะผู้ประกอบการเหมือนกัน การท่องเที่ยวบ้านเรายังไม่ฟื้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ ตั้งแต่ก่อน โควิด-19 การท่องเที่ยวของบ้านเรา ไม่มีรากฐานที่แข็งแรงมากพอ เมื่อเจอ worst case scenario จึงล้มลงและยากที่จะฟื้นฟูให้เป็นเหมือนเดิม

อุ๊งอิ๊งค์ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว

 

จะดีกว่าหรือเปล่า ถ้ารัฐบาลในสมัยหน้ามองการณ์ไกล หรือรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงที จนไม่ทำให้ engine ที่สำคัญของ GDP ไทย ต้องตกหลุมตกบ่อ ชะงักงันขนาดนี้ และจากการพูดคุยในวงนี้ทำให้รู้เลย การพาให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตมากกว่าก่อนโควิด-19 มี 4 เรื่องที่ต้องทำดังนี้

1) อ่านเทรนด์โลกให้ขาด แต่เดิม ภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวไทย พึ่งตลาดจีนกว่า 60% แต่พอมีนโยบาย Zero-Covid ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถมาเที่ยวเมืองไทยได้ การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที การท่องเที่ยวบ้านเราจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เราควรมองเทรนด์ผู้บริโภคให้ขาด ทุกวันนี้คนเราหันมาสนใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 

ตัวเลขจาก Global Wellness Institute ประเมินว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก มีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 15 ของตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกในปี 2020 และมีแนวโน้มว่า จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้ว ก็น่าสนใจ เพราะตลาดนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์และอิสระทางเวลา ถ้าประเทศไทยสามารถปักหมุดเรื่องนี้ เท่ากับเราสามารถดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามา

อุ๊งอิ๊งค์ เสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว

2) สร้างแรงงานให้พร้อม ไทยเรามีแรงงานด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1.4 ล้านคน แต่ช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องลดพนักงานลง พอประเทศเปิด ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มเข้าที่เข้าทาง แรงงานไทยเราก็กลับเข้าสู่ระบบไม่ทัน ตั้งแต่กลุ่มอาชีพสายบริการ การโรงแรม จนไปถึงธุรกิจการบิน ถ้าไทยจะปักหมุดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้อยู่ในใจคนทั่วโลก การส่งเสริมและสนับสนุนภาคการศึกษา เพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับธุรกิจนี้ หรือจะเป็นการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้แรงงานต่างชาติ เข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้น ในบางสาขางานของอุตสาหกรรมนี้ ที่หาแรงงานได้ยาก ก็น่าจะนับเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่น่าสนใจค่ะ

3) กิโยตินกฎหมาย กฎหมายไทยเราซับซ้อนมากเกินไป แต่ละหน่วยงานมีระเบียบของตัวเอง บางระเบียบก็ขัดแย้งกัน เช่น เรามี พ.ร.บ.โรงแรมที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน แต่ พ.ร.บ.นี้กลับอยู่ในอำนาจมหาดไทย ขณะที่เรื่องโฮมสเตย์ กลับอยู่ในอำนาจของกรมการท่องเที่ยว ส่วนเรื่องการทำแพ เป็นเรื่องของกรมเจ้าท่า การอนุญาตให้ตั้งที่พักในอุทยานแห่งชาติ ก็เป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ ฉะนั้นแล้ว กฎหมายอะไรที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย ควรยกเลิกและแก้ไขได้แล้ว เพราะว่าไปแล้ว กฎหมาย นอกจากทำหน้าที่ควบคุมระเบียบสังคม ก็ควรเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการทำธุรกิจด้วยหรือเปล่า?

4) สุดท้ายคือ สร้างการตลาดทำให้คนทั่วโลกเชื่อมั่น และมั่นใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แต่เดิม Sea Sand Sun ของบ้านเราเป็นที่นิยมชมชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวให้มากกว่าแค่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็น ‘ธรรมชาติ+สุขภาพ+วิทยาศาสตร์’ แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มความรับรู้ของนักท่องเที่ยว ผ่านหลายช่องทางของการสื่อสาร จะสร้างมูลค่าได้เพิ่มอีกมาก

ทั้งหมดนี้ไม่ได้พูดแค่ในฐานะผู้ประกอบการ แต่อยากลองแชร์ไอเดีย ในฐานะคนหนึ่งคนที่อยากเห็นการท่องเที่ยวของประเทศไทยดีขึ้นทั้งระบบ เพราะทุกคนในระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต่างก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย 

แน่นอน การจะผลักดันเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการศึกษา พูดคุย จนเกิดความร่วมมือในระดับวงกว้างกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยกระดับการท่องเที่ยวทั้งระบบ และร่วมกันกำหนดว่าการท่องเที่ยวไทยควรไปในทิศทางใด 

เหมือนที่พรรคเพื่อไทยเสนอไว้ว่าในปี 2570 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย จะต้องกลายเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของโลก สร้างงานสร้างรายได้มากกว่า 3 ล้านล้านบาท และเทศกาลต่างๆ ในไทย เช่น สงกรานต์ หรือ ลอยกระทง จะต้องถูกนักท่องเที่ยวต่างชาติปักหมุดไว้ในปฏิทินของตน

แค่คิดอยู่ในหัวยังตื่นเต้นเลย ยังไงก็ขอบคุณทุกคนในวงเสวนา ที่มาบอกเล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิด และแชร์แง่มุมต่างๆ ให้ฟังกัน เป็นวันที่ได้รับอาหารสมองมากมายเลยค่ะ

อุ๊งอิ๊งค์ เสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว

logoline