svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

ถอดรหัส "อุ๊งอิ๊งค์"นำทัพ"เพื่อไทย"ลงใต้ หวังชิมลางหรือเก็บคะแนนสะสม

"อุ๊งอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร "หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย" พร้อม "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย เปิดแคมเปญลงใต้ครั้งแรก "แหลงจริง ทำได้ คนใต้หรอยแรง" เทียบฟอร์มพรรคต่อพรรค"เพื่อไทย" มีโอกาสคว้าเก้าอี้หรือแค่เช็กเรทติ้ง

 

11 ธันวาคม 2565  เป็นวันฤกษ์ดีนาทีทอง เมื่อ "อุ๊งอิ๊งค์" แพทองธาร  ชินวัตร  หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำคนสำคัญ นำทัพเพื่อไทยลงพื้นที่ภาคใต้  และที่ขาดไม่ได้คือ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ต้องตามประกบติด 

 

ทันทีที่เดินทางมาถึง "อุ๊งอิ๊งค์" และคณะ เดินทางเข้า"วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร" เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่เมือง"นครศรีธรรมราช" เพื่อความเป็นสิริมงคลในการลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งแรก ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่เคยมี ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ และการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยหวังปักธงให้ได้ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้

 

ถอดรหัส \"อุ๊งอิ๊งค์\"นำทัพ\"เพื่อไทย\"ลงใต้ หวังชิมลางหรือเก็บคะแนนสะสม

 

หากพิจารณายุทธศาสตร์การลงพื้นที่หาเสียง ของ"พรรคเพื่อไทย" ในระยะเวลาที่ผ่านมา "เพื่อไทย" ให้ความสำคัญกับพื้นที่ "อันมีแสงแห่งความหวัง" ไว้ที่พื้นที่ "ภาคอีสาน  เหนือ  กทม."  ฉะนั้นการวางกำหนดการลง"พื้นที่ภาคใต้" และถือเป็นการลงพื้นที่เป็นครั้งแรกเสียด้วย จึงถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ตอนท้ายๆ   

 

เหตุผลสำคัญเป็นการ "ตีจุดแข็งของคู่แข่ง" และ "เสริมแกร่งจุดอ่อนของตนเอง"  ยิ่งท่ามกลางสถานการณ์ของคู่แข่งที่เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "ลุงตู" พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แม้ผลสำรวจอย่าง"นิด้าโพล" รวมถึง "โพลรัฐบาล" ตามที่เนชั่นทีวีได้นำเสนอ ชี้ว่า "ลุงตู่" มีคะแนนนิยมมาเป็นอันดับหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้  แต่ด้วยท่าที"ลุงตู่" ที่ยังคงแทงกั๊ก จะไป "พลังประชารัฐ" หรือ "รวมไทยสร้างชาติ"  จึงเป็นจังหวะประเหมาะที่"เพื่อไทย" ได้ใช้โอกาสช่วงชิงกระแสความสับสนคู่แข่งมาเป็นความได้เปรียบชิงฐานมวลชน      

 

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากปูมหลัง "พรรคไทยรักไทย" ไม่ใช่เคยมี ส.ส.ใต้แค่ "นายกฤษ สีฟ้า"  เมื่อปี 2548 ด้วยเหตุผลเรื่องผลงานด้านจิตอาสาช่วงสึนามิเท่านั้น แต่"ไทยรักไทย" เคยมี ส.ส.ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาบ้าง ทั้งชนะเลือกตั้งซ่อม และดูด ส.ส.กลุ่มวาดะห์ จากพรรคความหวังใหม่ เข้าร่วมพรรคไทยรักไทย (จึงอาจมองว่าไม่ใช่ “เนื้อแท้”) 

 

แต่ ส.ส.ชายแดนใต้ก็มลายหายไปหมดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 จากเอฟเฟกต์ของเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ที่ทำให้คนมุสลิมมลายูปฏิเสธ "ทักษิณ" และพรรคไทยรักไทย เหลือเพียง ส.ส.ภาคใต้ตอนบนที่พังงา คือ "นายกฤษ สีฟ้า" และเป็น ส.ส.หนึ่งเดียวของไทยรักไทยในภาคใต้ เมื่อปี 2548

 

ถอดรหัส \"อุ๊งอิ๊งค์\"นำทัพ\"เพื่อไทย\"ลงใต้ หวังชิมลางหรือเก็บคะแนนสะสม

 

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2550 นายซูการ์โน มะทา น้องชายของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็เคยปักธงได้ที่ยะลา ในสีเสื้อพรรคพลังประชาชน พรรคใหม่ของไทยรักไทยหลังถูกยุบ และซูการ์โน ก็เป็น ส.ส.ภาคใต้หนึ่งเดียวของพรรคในการเลือกตั้งปีนั้น จากนั้น"พรรคทักษิณ" ไม่เคยได้ ส.ส.ใต้อีกเลย ทั้งในการเลือกตั้งปี 2554 และ 2562 ในชื่อพรรคเพื่อไทย 

 

แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มวาดะห์ได้ไปจับมือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ตั้งพรรคใหม่ชื่อ "พรรคประชาชาติ"  และกวาด ส.ส.ไปได้ถึง 6 คน จาก 11 คนในการเลือกต้งปี 2562 เป็นแชมป์ชายแดนใต้ กวาดประชาธิปัตย์คู่แข่งตลอดกาลตกขอบ โดยมีพรรคพลังประชารัฐตามมาห่างๆ 3 ที่นั่ง 

 

การเลือกตั้งปี 2566 แต่เดิม"พรรคเพื่อไทย"จะไม่ส่ง ส.ส.ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหลีกทางให้"พรรคประชาชาติ" ภายใต้การนำของ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" และ "พ.ต.อ.ทวี" ซึ่งเป็นขั้วการเมืองฝ่ายเดียวกัน แต่ภายหลังเนื่องจากความกังวลว่าจะไม่แลนด์สไลด์ ทำให้ต้องเก็บทุกเม็ด จัดหนักทุกคะแนน จึงเปลี่ยนใจส่งครบทุกเขต อย่างน้อยก็หวังคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 

 

แต่เป้าหมายของเพื่อไทย โดยเฉพาะ ส.ส.เขต จะมุ่งไปที่ภาคใต้ตอนกลาง เนื่องจากภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้พรรคประชาชาติไปสู้แทน เพราะสุดท้ายทุกเก้าอี้ ส.ส.ก็ไหลมารวมกันเพื่อตั้งรัฐบาลอยู่ดี อย่างในวันนี้( 11 ธันวาคม 2565 )  งานลงพื้นที่ของ "อุ๊งอิ๊งค์" ที่นครศรีธรรมราช "พ.ต.อ.ทวี" จะเดินทางไปปรากฏตัวด้วย 

 

ถอดรหัส \"อุ๊งอิ๊งค์\"นำทัพ\"เพื่อไทย\"ลงใต้ หวังชิมลางหรือเก็บคะแนนสะสม

 

พื้นที่ภาคใต้เฉพาะที่เป็นจังหวัดใหญ่ และประชาธิปัตย์แชมป์เก่าถูกเจาะยางในการเลือกตั้งปี 2562 มีอยู่ 2 จังหวัด 

 

1. สงขลา โดนไป 5 ที่นั่งจาก 8 ที่นั่ง (พลังประชารัฐ 4 ภูมิใจไทย 1 ประชาธิปัตย์เหลือแค่ 3) 

 

2. นครศรีธรรมราช โดนไป 3 ที่นั่งจาก 8 ที่นั่ง แล้วยังแพ้เลือกตั้งซ่อมให้กับพลังประชารัฐที่เขต 3 เมื่อต้นปี 2564 อีกด้วย ทำให้เก้าอี้ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถูกหารแบ่งกับพลังประชารัฐครึ่งๆ พรรคละ 4 ที่นั่ง ผิดกับสุราษฎร์ธานี จังหวัดใหญ่อีกจังหวัดหนึ่งที่ยังรักษาไว้ได้ทั้งหมด 6 ที่นั่ง (แต่เลือกตั้งครั้งหน้าก็ไม่แน่) 

 

ณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ  ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย

 

นี่คือสาเหตุที่เพื่อไทยยุคหัวหน้าครอบครัวชื่อ "อุ๊งอิ๊งค์" เลือกปักธงที่นครศรีธรรมราช เพราะถือเป็นพื้นที่ผันแปรสูง "ประชาธิปัตย์" อ่อนแรงลง "พลังประชารัฐ"ก็เช่นกัน แถมยังมีรวมไทยสร้างชาติ กับภูมิใจไทยเบียดแทรกเข้ามา เมื่อยักษ์ชนยักษ์ ฝั่งอนุรักษ์นิยมและพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันปะทะกันเอง โอกาสจึงอาจเป็นของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง "เสี่ยเต้น" เป็นคน อ.สิชล โดยกำเนิดด้วย  

 

ฉะนั้น เลือกตั้งครั้งหน้า ปี 2566 นครศรีธรรมราช เพิ่มเป็น 9 เขต เมื่อแบ่งเขตใหม่ และมีเขตใหม่ ย่อมเป็นโอกาสช่วงชิงของทุกพรรค เนื่องจากไม่มีเจ้าของพื้นที่เดิมที่ชัดเจน