svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ถวิลวดี บุรีกุล"เผยงานวิจัยพบปชต.ยุดถดถอยช่วงปี 50-60

27 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ถวิลวดี บุรีกุล"เผยผลวิจัย"อนาคตกับฉากทัศน์การเมืองไทย" ชี้ปชต.ถดถอยตั้งแต่ปี 50-60 ขณะที่ปัจจุบันเป็นการเมืองรุ่นใหม่และการเฟื่องฟูของเทคโนโลยีการสื่อสาร 

27 กันยายน 2565 "นางถวิลวดี บุรีกุล" ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอผลงานวิจัย "อนาคตและฉากทัศน์การเมืองไทย" ในงานสัมมนางานวิจัยเด่นในรอบ 20 ปี สถาบันพระปกเกล้า เนื่องในโอกาสครบรอบ 24 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า 

 

โดย นางถวิลวดี ระบุว่า งานวิจัยชุดนี้เริ่มศึกษาตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน พบว่าในยุค 2475 เป็นยุคครอบงำอำนาจโดยอำมาตยาธิปไตยจนถึงปี 2500 และปี 2516 ถึง 2519 เป็นยุคของการเรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนปี 2519 ถึงปี 2529 ถือเป็นยุคถดถอยของการเมืองภาคพลเมือง ก่อนจะเข้ายุคก่อตัวของการเมืองภาคพลเมืองในปี 2530 ถึงปี 2540

 

ขณะเดียวกัน ปี 2540 ถึงปี 2549 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตอนจะเข้าสู่ยุคถดถอยของระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งในปี 2550 ถึงปี 2560 และในยุคปัจจุบันคือเป็นยุคการเมืองรุ่นใหม่และการเฟื่องฟูของเทคโนโลยีการสื่อสาร 

ส่วนความแตกต่างระหว่างการเมืองภาคประชาชนและการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งลักษณะของการเมืองภาคประชาชน เป็นลักษณะของการที่ประชาชนพยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ โดยประชาชนมีความไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมั่นในรัฐ จนทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้น เช่น การประท้วง การรวมตัวบนท้องถนน เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ที่ก่อให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือการล้มล้างอำนาจอธิปไตยเป็นต้น 

 

สำหรับการเมืองภาคพลเมือง คือ ประชาชนเข้าไปมีอิทธิพลต่อการใช้อำนาจของรัฐ คือ การที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง และต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหากฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่งคุณภาพของพลเมืองไทยมีความแตกต่างกันออกไป แต่และช่วงเวลา และอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม

 

"พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการบริหารจัดการภายในชุมชนการถูกกดทับจากโครงสร้างอำนาจการเมืองที่ไม่สมดุล ประชาชนรอรับความช่วยเหลือ และส่วนใหญ่ยังไม่สามารถตระหนักในอำนาจของตัวเอง" นางถวิลวดี กล่าว  

อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาคุณภาพพลเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งด้านการสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน ด้านการศึกษา การสร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านสถาบันครอบครัว และสังคม ด้านการพัฒนาผู้นำและคนรุ่นใหม่ตลอดจนการ พัฒนาชุมชนและเครือข่าย ทั้งด้านการสื่อสารและการเผยแพร่ข้อมูลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมด้านกฎหมาย รวมถึงด้านการกระจายอำนาจ 


สำหรับฉากทัศน์ความเป็นพลเมืองนั้น ยังมี
 

1.พลเมืองที่ไม่สนใจการเมือง คือ สังคมที่ประชาชนเฉยชาและไม่สนใจการเมืองเลย ซึ่งจะถูกครอบงำได้ง่าย

 

2.พลเมืองแบบดั้งเดิมที่ไม่เรียกร้องและยอมอยู่ภายใต้อำนาจ

 

3.พลเมืองที่มีสำนึกผูกพัน ซึ่งมีความกระตือรือร้นและเสียสละเพื่อบ้านเมืองจะทำให้มีประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมมากขึ้น

 

4.พลเมืองรูปแบบใหม่ ที่ต้องการหาความเป็นธรรมทางสังคมมากขึ้น

 

นอกจากนี้ สุดท้ายพบว่าตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา พลเมืองมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลเมืองรุ่นใหม่มากขึ้น รับรู้ข่าวสารและเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ยังพบปัญหาที่ผู้นำหากเป็นพลเมืองก็จะอ่อนแอ แต่ถ้าเป็นทหารมักจะอยู่ในอำนาจนาน รวมไปถึงรัฐสภาที่มักจะถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหารและอายุสั้น ขณะที่พรรคการเมืองล้มลุกคุกคลาน 

 

ทั้งนี้ งานวิจัยอยากเห็นการเมืองที่สมดุลของทุกอำนาจ โดยต้องสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน เริ่มสร้างคุณภาพให้กับพลเมืองสร้างสภาพแวดล้อมพร้อมวางแผนกลยุทธ์ในการรับมือเปลี่ยนแปลงทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว


 

logoline