svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

นักวิชาการแนะรัฐใช้มาตรการเฉพาะจุดสกัดเงินเฟ้อ

12 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากดูตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวมในเดือน ส.ค.เอยู่ที่ 7.8% แต่กลับพบว่าสินค้าบางรายการปรับเพิ่มขึ้นกว่านี้มากหรือต่ำกว่านี้มาก สะท้อนว่าปัจจัยกระทบต่อเงินเฟ้อมีความหลากหลาย

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดร.นุวัต หนูขวัญ เปิดเผยงานวิจัย “เจาะลึกเงินเฟ้อไทยผ่านข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อย” โดยใช้ข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์เงินเฟ้อไทยในเชิงลึก ระบุว่า หากดูตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวมในเดือน ส.ค.เอยู่ที่ 7.8% แต่กลับพบว่าสินค้าบางรายการปรับเพิ่มขึ้นกว่านี้มากหรือต่ำกว่านี้มาก สะท้อนว่าปัจจัยกระทบต่อเงินเฟ้อมีความหลากหลาย โดยแบ่งปัจจัยที่ขับเคลื่อนเงินเฟ้อมาจาก 2 กลุ่มหลัก คือ ปัจจัยร่วม หรือปัจจัยมหภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ และปัจจัยเฉพาะ เช่น มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าบางรายการ ที่มีผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และบริการนั้นๆ

 

ซึ่งพบว่า ปัจจัยร่วมมีผลต่อความผันผวนของเงินเฟ้อเพียง 15% เท่านั้น ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อหลักๆ ของไทยในปัจจุบันมาจาก ปัจจัยเฉพาะ 85% เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาหมู สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อราคาน้ำมัน จึงเป็นเหตุให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เงินเฟ้อไทยไม่ค่อยอ่อนไหวไปกับปัจจัยมหาภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ ที่ แต่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะของแต่ละสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงาน

       นักวิชาการแนะรัฐใช้มาตรการเฉพาะจุดสกัดเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ผลของปัจจัยเฉพาะไม่ได้มีการส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ในวงกว้างเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารกลางในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน ทำให้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะสามารถคลี่คลายไปได้เองและไม่ส่งผลยืดเยื้อ

ดังนั้น นโยบายการเงินต้องมองทะลุ มองผ่าน ความผันผวนระยะสั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว เงินเฟ้อจะสามารถคลี่คลายไปได้เอง ซึ่งมองว่านโยบายที่เหมาะสมที่เป็นแนวทางที่ดีในการนำมาใช้ ได้แก่ มาตรการภาครัฐที่มีความสามารถจัดการปัญหาเฉพาะจุดได้มากกว่านโยบายการเงิน แต่หากเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะมีความรุนแรงมากขึ้น และกระทบต่อค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต หรือกระทบมากขึ้นในวงกว้าง และนำไปสู่การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าว่าจะสูงขึ้น จะนำมาซึ่งการต่อรองการขึ้นค่าจ้าง และราคาสินค้า

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือดูแลไม่ให้เงินเฟ้อคาดการณ์ได้รับผลกระทบ มาตรการภาครัฐยังไม่สามารถตอบได้ว่าเพียงพอหรือไม่ แต่การทำนโยบายเฉพาะจุด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ การดูแลราคาน้ำมันผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทุกอย่างล้วนมีต้นทุนในระยะยาว ซึ่งการดำเนินการจะต้องทำในเวลาที่เหมาะสม และต้องถอนมาตรการในเวลาที่เหมาะสมเช่นกัน ขณะที่ราคาอาหารบางส่วนที่มีการปรับขึ้น สะท้อนถึงค่าครองชีพสูง สิ่งที่จะบรรเทาได้คือการปรับขึ้นค่าจ้างค่าแรง เพื่อให้คนมีอำนาจซื้อกลับมา

 

อย่างไรก็ตาม การติดตามเงินเฟ้อของ ธปท. มีหลายเครื่องชี้ที่ใช้ติดตามเงินเฟ้อ เช่น เครื่องชี้จากครัวเรือน ของธุรกิจ และเงินเฟ้อคาดการณ์ ที่สามารถสกัดจากตลาดการเงิน หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และสกัดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์เงินเฟ้อระยะสั้น และระยะปานกลาง 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งหากดูเงินเฟ้อวันนี้ ยังมองว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2% แม้เงินเฟ้อระยะสั้นผันผวน

นักวิชาการแนะรัฐใช้มาตรการเฉพาะจุดสกัดเงินเฟ้อ

ในบริบทของไทยที่ปัจจัยเฉพาะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อ การดำเนินนโยบายการเงินจึงย่อมมีความท้าทาย เนื่องจากปัจจัยเฉพาะเหล่านี้มักมีความผันผวนสูงและเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่นโยบายการเงินไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายควรมองผ่าน (look through) ความผันผวนระยะสั้นเหล่านี้ และให้ความสำคัญกับการปรับตัวของเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลางเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี หากปัจจัยเฉพาะมีความรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องเข้าดูแลเพื่อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน

 

นอกจากนี้ ผลการวิจัยนี้ยังมีนัยต่อการติดตามและประเมินความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีความจำเป็นมากขึ้น ที่ต้องอาศัยข้อมูลราคาในเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ที่มาของเงินเฟ้อ และประเมินการส่งผ่านผลกระทบของปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นนั้นด้วย

logoline