svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ย้อนตำนานเด้ง "บิ๊กโจ๊ก" เข้ากรุ หนแรกเกือบหลับแต่กลับมาได้ แล้วรอบนี้ล่ะ?

22 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประวัติไม่ธรรมดา ย้อนตำนานคำสั่งเด้ง "บิ๊กโจ๊ก" มาปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ คนเดียวเข้ากรุทำเนียบฯ สองรอบ หนแรกเกือบหลับแต่กลับมาได้ คราวนี้จะกลับไปผงาดกรมปทุมวันได้อีกสมฉายาแมวเก้าชีวิตหรือไม่

ยังเป็นที่จับตาของสัมคม กรณีปมร้อนศึกสีกากี ระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. จากปมคดีเว็บพนัน "เครือข่ายมินนี่" ที่ทำท่าจะลุกลามบานปลายสะเทือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  

แม้ตอนนี้ จะมีคำสั่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้ทั้งคู่มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี

แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ ยังต้องจับตากันต่อ เพราะหลังมีคำสั่งฟ้าผ่าใส่ทั้งคู่ สังคมได้มีการขยายประเด็นวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในฉากทัศน์ต่าง ๆ 
คำสั่งย้ายบิ๊กต่อ บิ๊กโจ๊ก
ย้อนตำนานเด้ง \"บิ๊กโจ๊ก\" เข้ากรุ หนแรกเกือบหลับแต่กลับมาได้ แล้วรอบนี้ล่ะ?

โดยเฉพาะคำพูดของ "บิ๊กโจ๊ก" ที่ระบุไว้เมื่อ 20 มี.ค. 67 หลังทราบคำสั่งย้ายว่า "มีคำสั่งผมก็พร้อมปฎิบัติ เพราะผมเป็นข้าราชการ ถ้ามีคำสั่งผู้บังคับบัญชา ผมก็ต้องไปทำตาม หน้าที่ ก็ไม่มีอะไรเดี๋ยวรอคำสั่งก่อน นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งมาแบบนั้น ผมก็ต้องไปปฎิบัติหน้าที่ แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็นคำสั่ง นี่ก็เป็นครั้งที่สองที่ได้ไปอยู่สำนักนายกฯ" 

ซึ่งคีย์เวิร์ดว่า "นี่ก็เป็นครั้งที่สองที่ได้ไปอยู่สำนักนายกฯ" ของ "บิ๊กโจ๊ก" ถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้มีบิ๊กตำรวจมากมาย ต้องมาสิ้นสุดเส้นทางสีกากีที่กรุสำนักนายกฯ แห่งนี้ ยกเว้นเพียง "บิ๊กโจ๊ก" เพียงคนเดียวเท่านั้น

นนำมาสู่คำถามว่า "บิ๊กโจ๊ก" จะเป็นแมวเก้าชีวิต กลับไปผงาดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อีกหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ มีบิ๊กตำรวจมากมาย ต้องมาจบเส้นทางชีวิตราชการที่กรุสำนักนายกฯ แห่งนี้ ยกเว้นเพียง "บิ๊กโจ๊ก" เพียงคนเดียวเท่านั้น

Nation STORY จะพาย้อนไปดูถึงคำสั่งย้าย "บิ๊กโจ๊ก" มาทำเนียบฯ ในครั้งแรก ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น แล้วทำอย่างไร "บิ๊กโจ๊ก" จึงกลับไปผงาดที่ ตร.ได้อีก ท่ามกลางคำถามว่า ครั้งนี้จะทำได้อีกไหม?....
ย้อนตำนานเด้ง \"บิ๊กโจ๊ก\" เข้ากรุ หนแรกเกือบหลับแต่กลับมาได้ แล้วรอบนี้ล่ะ?

ทั้งนี้ สำหรับคำสั่งย้าย "บิ๊กโจ๊ก" ของนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะ "บิ๊กโจ๊ก" เคยถูกสั่งย้ายให้มาปฏิบัติราชการ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี มาแล้วครั้งหนึ่งในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดยเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2562 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 2/2562 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มเติม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ระบุให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักหาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตำแหน่งบิ๊กโจ๊กขณะนั้น) อยู่ในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2558 ตามความในข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2558

ให้ข้าราชการตำรวจ (พล.ต.ท.สุรเชษฐ์) ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง  
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 2/2562

จากนั้นเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2563  พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ (ในขณะนั้น) ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง กรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งโอนย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

และเมื่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ (ในขณะนั้น)มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ ขอให้ทบทวนคำสั่งโอนย้าย นายกรัฐมนตรี และปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้พิจารณาดำเนินการสั่งให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นเดิม

เปิดคำพิพาษาศาลปกครองกลาง ยกฟ้อง"บิ๊กโจ๊ก"

ถัดมาวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ (ในขณะนั้น) (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง)

ต่อมาขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 จำนวนสองฉบับ ฉบับแรกทำถึงนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทบทวนและมีคำสั่งใหม่ให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฉบับที่สองทำถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2)

ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลศาลพิจารณาแล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยรวมสองประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการไม่พิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น

เห็นว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) เป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีหรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ซึ่งงานในหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีลักษณะงานเทียบเท่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง แต่งานในหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) มีเพียงเล็กน้อย ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งของผู้ฟ้องคดีเมื่อเทียบกับผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง

ตลอดจนในขณะที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการปฏิรูปราชการแผ่นดินแล้วกำหนดตำแหน่งหน้าที่อื่นให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการแต่อย่างใด อีกทั้งขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ผู้ฟ้องคดีไม่ได้อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชา

จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีเหตุจำเป็นที่จะดำรงตำแหน่งในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่2 มีหนังสือลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เสนอเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขอโอนกลับไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานเดิมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่1 พิจารณา และในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่2 ได้มีหนังสือลงวันที่1 ธันวาคม 2563 และหนังสือลงวันที่5 มีนาคม2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่1

มีเนื้อหาใจความทำนองเดียวกันกับหนังสือ ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เพื่อให้พิจารณาเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขอกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดเดิม กรณีจึงถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่1 เพื่อให้พิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่2 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

ส่วนกรณีของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 นั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ได้รับหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 สิงหาคม2563 แล้ว รวมทั้งได้รับความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ข้างต้นแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องพิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดี ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม2562 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ไม่ได้มีคำสั่งว่าผู้ฟ้องคดีมีความจำเป็นหรือไม่มีความจำเป็นที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) กรณีจึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีด้วย

แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่1 เพื่อให้พิจารณาสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่1 พิจารณาแล้วได้มีคำสั่งเมื่อวันที่5 มีนาคม2564 เห็นชอบตามข้อเสนอของผู้ถูกฟ้องคดีที่2 ให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562

และต่อมาผู้ฟ้องคดีได้โอนกลับไปรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ 9 ) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงหมดสิ้นไป ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไปดำเนินการเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานเดิมได้อีกตามนัยมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ประเด็นที่สอง

ผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการไม่พิจารณาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน2562 ใหม่ตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่20 สิงหาคม 2563 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น

เห็นว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 26/2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เมษายน 2562 ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามข้อ ๕ และให้ผู้ฟ้องคดีขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง)

ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เป็นคำสั่งที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ดังนั้น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 2/2562 ลงวันที่9เมษายน 2562 จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองตามคำนิยามของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2536

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาใหม่คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามนัยมาตรา54 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการพิจารณาใหม่ตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 สิงหาคม2563 และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี พิพากษายกฟ้อง

ทำให้ในปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีคำสั่งย้าย "บิ๊กโจ๊ก" กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง โดยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสบ 9 ก่อนผงานขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร. ตามลำดับ
ย้อนตำนานเด้ง \"บิ๊กโจ๊ก\" เข้ากรุ หนแรกเกือบหลับแต่กลับมาได้ แล้วรอบนี้ล่ะ?


รู้จักปูมหลัง "บิ๊กโจ๊ก" แมวเก้าชีวิตแห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล​ หรือ "บิ๊กโจ๊ก" ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เกิดที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2513 เป็นบุตรของ นายดาบตำรวจ ไสว และ นางสุมิตรา หักพาล สมรสกับ ดร.ศิรินัดดา (สกุลเดิม พานิชพงษ์) 

"บิ๊กโจ๊ก" สำเร็จการศึกษาในชั้นอนุบาล โรงเรียนกลับเพชรศึกษา ซึ่งมารดาเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนนี้ สำเร็จการศึกษาในชั้นประถม โรงเรียนวิเชียรชม สำเร็จการศึกษาในชั้น มัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ และโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31 

ระดับชั้นปริญญาตรี

รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 47 เป็นหัวหน้านักเรียนของ นรต.รุ่น47

ระดับปริญญาโท

สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสามารถสอบคัดเลือกเข้าเรียนได้เป็นอันดับ 1 

ระดับปริญญาเอก

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย 
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล 
ปัจจุบันกำลังศึกษา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคค่ำ (นอกเวลาราชการ) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยังจบหลักสูตร และ รับมอบประกาศเกียรติบัตร ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 21 (ปปร.21) จาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี

เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นสถาบันพระปกเกล้า จาก นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตร ว.ป.อ.ปีการศึกษา 2565

นอกจากนี้ "บิ๊กโจ๊ก" ยังมีบทบาทในตำแหน่งอื่น ๆ ดังนี้ 

นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์
รองผู้อำนวยการ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
อดีตที่ปรึกษา​สำ​นักงาน​ตำรวจแห่ง​ชาติ​ (สบ.9)
อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.)
ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ ผู้กำกับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

เปิดเส้นทางสายตำรวจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เริ่มต้นรับราชการตำรวจ ยศ "ร.ต.ต." เริ่มรับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 จนได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็นสารวัตรในกองวินัย

ต่อมาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 จนได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 และเป็นผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547

ระดับผู้กำกับการ

หลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พ.ต.อ. "พ.ต.อ.สุรเชษฐ์" ในขณะนั้น ได้รับตำแหน่งผู้กำกับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552 จึงได้เป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ได้เป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ถูกส่งไปเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการณ์ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาส่วนหน้า รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาที่เป็น "พื้นที่สีแดง" เสี่ยงต่อภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้

ระดับผู้บังคับการและผู้บัญชาการ

ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พล.ต.ต. ในตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี รายงานต่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น หลังจากนั้นทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557

นับเป็นนายพลตำรวจคนแรก ที่มีอายุราชการน้อยที่สุด ตั้งแต่มีการก่อตั้ง “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ด้วยวัยเพียง 42 ปีเท่านั้น

จนในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ได้เป็นผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ จนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 เข้ามาทำหน้าที่รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จนได้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 จนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พล.ต.ท. และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ซึ่งเป็นผู้บัญชาการอายุน้อย ติดยศ พล.ต.ท. ด้วยวัยเพียง 48 ปี สร้างประวัติศาสตร์วงการสีกากีอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย 

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งโอนย้ายมาเป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 ก่อนที่ปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จะย้ายกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสบ 9 ขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร. ตามลำดับ ก่อนจะมีคำสั่งให้มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 มี.ค. 67 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

จะเห็นได้ว่า ตลอดเส้นทางสีกากีของ "บิ๊กโจ๊ก" ต้องเผชิญวิบากในอาชีพมาแล้วไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสมัยเป็น ผกก.ค้ามนุษย์ ก็เคยถูกเรื่องร้องเรียน จนถูกตั้งกรรมการ ก่อนจะเอาตัวรอดพ้นมลทินมา ก่อนได้เป็น ผกก.สภ.หาดใหญ่ ได้รับการเกื้อกูลสนับสนุนจากรุ่นพี่ เริ่มใกล้ชิด "บิ๊กป้อม" และเติบโตเร็วเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง บารมีมากมาย จนได้สมญา "ผบ.ตร.น้อย" ในยุคหนึ่ง หรือการถูกย้ายฟ้าผ่า ให้พ้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อต้นปี 2562 

จากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่า เมื่อ "บิ๊กโจ๊ก" นายตำรวจผู้เคยสร้างปรากฏการณ์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติคนนี้ เมื่อต้องผจญมลทินในคดีเครือข่าย "เว็บพนันมินนี่" และถูกเด้งเข้ากรุทำเนียบฯ "บิ๊กโจ๊ก" จะสามารถต่อสู้เอาตัวรอด กลับมาผงาดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมฉายา "แมวเก้าชีวิต" อีกหรือไม่

logoline