svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ย้อน "โศกนาฏกรรมตากใบ" ครบ 20 ปีตามปฏิทินอิสลาม ชนวนเหตุป่วนใต้กลางรอมฎอน

22 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อน "โศกนาฏกรรมตากใบ" ครบรอบ 20 ปีตามปฏิทินอิสลาม ชนวนเหตุป่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ครั้งใหญ่กลางเดือนรอมฎอน เพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์

เป็นเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งใหญ่ปี 2567 กรณีกลุ่มคนร้ายปฏิบัติการเผาสถานที่ต่าง ๆ ช่วงคืนวันที่ 21 ต่อเนื่องเข้าวันที่ 22 มี.ค. 67 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ถึง 44 จุด สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง รวมถึงมีผู้เสียชีวิต
ย้อน \"โศกนาฏกรรมตากใบ\" ครบ 20 ปีตามปฏิทินอิสลาม ชนวนเหตุป่วนใต้กลางรอมฎอน

เหตุการณ์ครั้งนี้ มีการวิเคราะห์ถึงมูลเหตุจูงใจ เนื่องจากเกิดเหตุ ในห้วงคืนที่ 10 ต่อเนื่องวันที่ 11 ของเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด ของชาวมุสลิม ที่จะมีความสงบเกิดขึ้นในช่วงนี้ 

อีกทั้งก่อนหน้า ฝ่ายความมั่นคงได้มีแผนปฏิบัติการ “รอมฎอนสันติสุข” ควบคุมระวังเหตุ รวมถึงมีการตกลงกรอบการทำงาน ร่วมกับกลุ่มบีอาร์เอ็น บนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

เหตุที่เกิดขึ้น จึงตรงกับการประเมินของ กอ.รมน. "พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์" แม่ทัพน้อยที่ 4 ที่เคยออกมาประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าว่า ปีนี้อาจไม่เกิด “รอมฎอนสันติสุข” 
ย้อน \"โศกนาฏกรรมตากใบ\" ครบ 20 ปีตามปฏิทินอิสลาม ชนวนเหตุป่วนใต้กลางรอมฎอน

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่ตกใจจาก พันเอก เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ว่า การสร้างสถานการณ์ในครั้งนี้ ตรงกับการครบรอบ 20 ปี "เหตุโศกนาฏกรรมตากใบ" หากนับตามปฏิทินอิสลาม 11 รอบ ในช่วงรอมฎอน ซึ่งจะไม่ตรงกับปฏิทินสากล ที่จะครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 
พันเอก เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

Nation STORY จะพาไปย้อนถึง "เหตุโศกนาฏกรรมตากใบ" ว่า ครั้งนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผลจากนั้นเป็นอย่างไร จึงทำให้กลายเป็นเหตุ ให้กลุ่มคนร้ายนำมาเป็นชนวนเหตุจูงใจในการก่อเหตุร้ายครั้งนี้....  
 

ย้อน "โศกนาฏกรรมตากใบ" 

"เหตุโศกนาฏกรรมตากใบ" ต้องย้อนไปในปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นและต่อเนื่อง 

เริ่มจากเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ก่อนที่จะมีประโยคที่สังคมจดจำ จากคำพูดของ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า "โจรกระจอก" พร้อมมีการประกาศขยายการใช้กฎอัยการศึก จากเดิมที่มีประกาศอยู่แล้ว ในบางพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี

ต่อมา ช่วงเช้าตรู่ของ 28 เม.ย. 2547 ได้เกิดเหตุ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการ ของเจ้าหน้าที่รัฐนับสิบจุด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดการปะทะกันในหลายจุด เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายคน มีผู้เสียชีวิตรวม 108 ราย ในจำนวนนี้ มี 5 คนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และอีก 32 คน คือกลุ่มผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิตขณะเข้าไปหลบภัย ในมัสยิดหรือเซะ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมนาน 9 ชั่วโมง และใช้อาวุธหนักยิงถล่ม
ย้อน \"โศกนาฏกรรมตากใบ\" ครบ 20 ปีตามปฏิทินอิสลาม ชนวนเหตุป่วนใต้กลางรอมฎอน
 

จากนั้น เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ได้เกิดเหตุ ประชาชนประมาณ 2,000 คนได้มารวมตัวกัน บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ชาวมลายูมุสลิม 6 คน ที่อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ถูกกล่าวหาว่า มอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ

ก่อนที่ผู้ชุมนุม จะมีการขว้างปาก้อนหิน และพยายามจะบุกสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้พยายามสลายการชุมนุม ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมประท้วง ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเจ็ดคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ 

ภายหลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วง 1,370 คน ผูกมือไพล่หลัง และบังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหาร ส่งผลให้มี 85 คนที่เสียชีวิตจากการถูกกดทับ หรือขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง

ผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวโดยทหาร และต่อมามีการส่งตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งชุมพรและสุราษฎร์ธานี เพื่อควบคุมตัวเพิ่มเติมอีกเป็นเวลาเจ็ดวัน  
ย้อน \"โศกนาฏกรรมตากใบ\" ครบ 20 ปีตามปฏิทินอิสลาม ชนวนเหตุป่วนใต้กลางรอมฎอน

จากนั้น ในวันที่ 24 มกราคม 2548 พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส ได้สั่งฟ้องผู้ถูกควบคุมตัว 58 คน ในข้อหาร้ายแรง รวมทั้งขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 139 และ 215 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามลำดับ  ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 พนักงานอัยการได้ถอนฟ้องคดีทั้งหมดโดยอ้างเหตุว่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการ 11 คนเพื่อสืบสวนหาความจริง คณะกรรมการได้รายงานข้อค้นพบกับรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2548 แต่ข้อค้นพบดังกล่าวไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปว่าวิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธและใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์ และทหารพราน ซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุมนั้น เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมไม่เป็นไปตามแบบแผน และวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล 

นอกจากนี้คณะกรรมการดังกล่าวยังพบว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องละเลยไม่ควบคุมดูแลการลำเลียง และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมประท้วงที่ถูกควบคุมตัวให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อยที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์
ย้อน \"โศกนาฏกรรมตากใบ\" ครบ 20 ปีตามปฏิทินอิสลาม ชนวนเหตุป่วนใต้กลางรอมฎอน

ในส่วนการดำเนินคดีฝั่งเจ้าหน้าที่ "แอมเนสตี้" รายงานเมื่อปี 2566 ว่า ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ตามที่คณะกรรมการระบุถึงแต่อย่างใด มีเพียงแต่รายงานข่าวว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ถูกโยกย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลให้ใช้โอกาสนี้ อำนวยให้เกิดความยุติธรรม กับผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ ก่อนคดีจะหมดอายุความในเดือนตุลาคม 2567

เหตุการณ์โศกนาฏกกรมตากใบ รัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบในทางคดี สูงถึงเกือบ 700 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.ยอดเงินเยียวยาที่จ่ายเมื่อปี 2556 ตามมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวม 641,451,200 บาท แบ่งเป็น

-ผู้เสียชีวิต 85 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 561,101,000 บาท
-ผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย จ่ายรายละ 1 ล้านบาทขึ้นไปตามอาการ รวมเป็นเงิน 60,455,000 บาท
-ทุพพลภาพ 1 ราย เป็นเงิน 6,380,000 บาท
-ผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอัยการถอนฟ้อง 58 ราย เป็นค่าเยียวยาจิตใจ รายละ 30,000-50,000 บาท เป็นเงิน 2,025,200 บาท
-ผู้ที่ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 1,280 ราย เป็นค่าขาดโอกาสในการทำมาหารายได้ รวม 11,490,000 บาท ส่วนนี้ยังจ่ายไม่ครบ เพราะมีผู้ที่ไม่กล้าออกมาแสดงตัวอีกจำนวนหนึ่ง

2.ค่าเสียหายทางแพ่ง ที่กองทัพบกจ่ายให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย รวม 42 ล้านบาท
ย้อน \"โศกนาฏกรรมตากใบ\" ครบ 20 ปีตามปฏิทินอิสลาม ชนวนเหตุป่วนใต้กลางรอมฎอน

โดยสรุปได้ว่า คดีความจากเหตุการณ์โศกนาฏกรมตากใบ มีคดีใหญ่ ๆ 3 คดี ประกอบด้วย

1.คดีอาญากรณีผู้เสียชีวิต 78 รายระหว่างเคลื่อนย้ายโดยรถยีเอ็มซีของทหาร         

ผลของคดี อัยการสั่งไม่ฟ้องหลังศาลมีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพว่า ผู้ตายขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏว่าถูกใครทำให้ตาย แต่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายฟ้องคดีเอง

อย่างไรก็ดี เรื่องคำสั่งไต่สวนการตายนั้น มีประเด็นที่ต้องบันทึกไว้ คือ ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพ (หรือไต่สวนการตาย) เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ตายเพราะ "ขาดอากาศหายใจ" โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย ซึ่งแม้มีข่าวอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีเอง

แต่ตลอดมา กลับไม่มีการยื่นฟ้องเอง สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะครอบครัวผู้สูญเสียหวาดกลัว ไม่อยากเป็นความกับรัฐ แต่ก็มีความพยายามขององค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ ผลักดันให้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายดังกล่าว และสู้กันจนถึงชั้นฎีกา สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2556 ว่า ศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคำร้องในเรื่องนี้ เพราะผู้เสียหายต้องไปยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนี้ (ซึ่งพ้นเวลาที่กฎหมายเปิดช่องให้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งไต่สวนการตายไปนานแล้ว)

2.คดีอาญาที่รัฐฟ้องแกนนำ 58 คนปลุกปั่นยุยงให้เกิดการชุมนุมประท้วง

ผลของคดี อัยการถอนฟ้องตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

3.คดีแพ่งที่ญาติผู้สูญเสียฟ้องหน่วยงานรัฐ ต่อมากองทัพบกเจรจาไกล่เกลี่ยยอมความ และจ่ายค่าเสียหายจำนวน 42 ล้านบาท
ย้อน \"โศกนาฏกรรมตากใบ\" ครบ 20 ปีตามปฏิทินอิสลาม ชนวนเหตุป่วนใต้กลางรอมฎอน

ขอบคุณภาพและข้อมูล : วิกีพีเดีย
https://www.isranews.org/content-page/item/60679-thirteen-60679.html
https://www.nationtv.tv/news/social/378934179

 

logoline