svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"ทนายด่าง" ค้านตำรวจขอฝากขังศาลอาญา "ตะวัน-แฟรงค์" ปมบีบแตรขบวนเสด็จ

14 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตำรวจคุมตัว "ตะวัน-แฟรงค์" ฝากขังศาลอาญาพร้อมค้านประกัน ด้าน "ทนายด่าง" เตรียมยื่นค้านฝากขัง ชี้ไม่มีเหตุผลจำเป็น ย้ำตั้งข้อหา ม.116 หนักเกินไป มองหมายจับ "สายน้ำ" สิ้นผลตั้งแต่ตร.ไม่ยอมจับหลังปรากฏตัวหลายครั้ง

14 กุมภาพันธ์ 2567 สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับ "น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์" หรือ "ตะวัน ทะลุวัง" และ "นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร" หรือ "แฟรงค์" จากเหตุการณ์บีบแตรขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา  

ล่าสุ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมตัว น.ส.ทานตะวัน และนายณัฐนนท์ ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวมาฝากขังที่ศาลอาญา หลังจากที่ได้นำทั้งคู่ไปแยกฝากขัง โดย น.ส.ทานตะวัน ถูกนำตัวไปขังไว้ที่ สน.ฉลองกรุง ขณะที่ นายณัฐนนท์ ถูกคุมตัวไว้ที่ สน.ดินแดง 

ขณะที่ "นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์" หรือ "สายน้ำ" นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีพ่นสีกำแพงวัง ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ขณะนี้ยังไม่ได้นำตัวมาที่ศาลอาญา และที่สน.ทุ่งสองห้องก็ยังไม่มีมวลชนเดินทางไปให้กำลังใจเช่นกัน

โดย "พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา" ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 กล่าวว่า ที่ต้องมีการคุมตัว น.ส.ทานตะวัน และนายณัฐนนท์ มาที่ศาลอาญารัชดา ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เนื่องจากเพื่อให้เข้าระบบและกระบวนการของศาลตั้งแต่ช่วงเช้า และเพื่อให้เสร็จสิ้นกระบวนการในขั้นตอนของพนักงานสอบสวน เพราะไม่มีเหตุที่จะประวิงเวลาเอาตัวไว้ จึงได้นำตัวฝากขังที่ศาลฯ ตามขั้นตอน

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำแล้ว และซักถามตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การหรือไม่อย่างไรก็ได้ โดยพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัวในท้ายคำร้องก่อนนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขัง ส่วนสาเหตุที่ต้องแยกคุมขัง 3 ผู้ต้องหาเมื่อวานนี้ (13ก.พ.) เนื่องจากป้องกันเหตุการณ์ความวุ่นวาย และเพื่อความปลอดภัย

 


   

ด้าน "พ.ต.อ.เด่นโดม ลาภานันต์" ผู้กำกับการ สน.ฉลองกรุง กล่าวว่า น.ส.ทานตะวัน มีอาการปกติไม่ได้มีความเครียด และไม่ได้แสดงอาการต่อต้าน สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยตำรวจก็เปิดโอกาสให้ญาติ และทนายความเข้าเยี่ยมและนำอาหารไปให้ได้ตามสิทธิ์

สำหรับบรรยากาศที่บริเวณศาลอาญา ตั้งแต่ช่วงเช้า มีมวลชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาที่ศาล ซึ่งตำรวจศาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลได้วางแผงเหล็กกั้น และสังเกตุการณ์ดูแลความสงบเรียบร้อย

วันเดียวกัน "นายกฤษฎางค์ นุตจรัส" ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาที่ศาลตั้งแต่ช่วงเช้า พร้อมเปิดเผยว่า วันนี้มายื่นคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 3 คน คือ ตะวัน แฟรงค์ และสายน้ำ เนื่องจากมองว่า เป็นกรณีไม่มีเหตุผลที่จะไปจับเด็กมาขัง เพราะเป็นการเสียสิทธิ์

ทั้งนี้ โดยตาม ป.วิอาญา การฝากขังนัดแรก ศาลต้องไต่สวนผู้ฝากว่ามีเหตุผลอะไร ซึ่งเมื่อวานนี้ ก็มีปัญหาที่ไม่ยอมไต่สวน เพราะการฝากขังต้องมีเหตุผลตามกฎหมาย โดยประเด็นที่จะคัดค้านเป็นเรื่องข้อกฎหมาย เพราะไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และข้อหาที่ตั้ง มาตรา 116 มองว่า เป็นข้อหาที่หนักเกินไป และมองว่าที่ตำรวจคัดค้านการประกันตัว ก็ไม่ผิดไปจากที่คิด

ส่วนจะประกันตัวหรือไม่หากกรณีที่ศาลรับฝากขัง ก็ขอพูดคุยกับน้อง ๆ ก่อน เนื่องจากเมื่อวานนี้ ยังไม่ได้พบกันเพราะตำรวจแยกขังคนละที่ ส่วนการแยกขังมองว่า ไม่เป็นไปตามกฎหมายอาญา เพราะหมายจับระบุถึง สน.ดินแดง ก็ต้องส่งตัวไปที่ สน.ดินแดง ดังนั้น กฎหมายระบุชัดว่าจะต้องส่งไปยังปลายทางของพนักงานสอบสวนที่ศาลออกหมายให้ ซึ่งการทำแบบนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ซึ่งก็คงต้องนำเสนอศาลด้วยว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
 

สำหรับกรณีของนายนภสินธุ์ ที่ตำรวจเพิ่งจะมาทำการจับกุม ทั้งที่มีหมายจับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 นั้น มองว่า ทุกคนก็สงสัยว่าทำไมไม่ไปจับ เนื่องจากสายน้ำเคยไปปรากฎตัวที่ สน.พระราชวัง หลายครั้ง แต่ตำรวจไม่ทำการจับกุม ซึ่งตามกฎหมาย หากมีหมายจับ นั่นหมายความว่าจะต้องจับตัวผู้ต้องหาไปที่ สน. กรณีสายน้ำ เมื่อเคยไปแล้วไม่จับ ก็ทำให้หมายจับสิ้นผลไป ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าการจับกุมสายน้ำทำถูกต้องหรือไม่ ส่วนจะเรียกร้องอย่างไรหรือไม่จะต้องพูดคุยกับสายน้ำอีกครั้ง

ต่อมา นายกฤษฎางค์ เปิดเผยภายหลังยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ว่า ศาลได้ไต่สวนตำรวจไปแล้ว 2 ปาก โดยทางตำรวจอ้างว่าสาเหตุที่ต้องนำตัวมาฝากขังและคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ไปก่อเหตุอันตราย ซึ่งฝ่ายทนายก็ได้แย้งว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และการฝากขังทำให้เสียสิทธิเสรีภาพ รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 48 ชั่วโมง เหตุใดจึงต้องรีบฝากขังต่อศาล โดยศาลนัดอ่านคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ ในเวลา 14.00 น. วันนี้ 

 

"หากศาลไม่อนุญาตให้ฝากขัง ทั้งสองคนก็สามารถกลับบ้านได้ แต่หากศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทีมทนายจะต้องพูดคุยกับตะวันและแฟรงค์ว่า ต้องการจะให้ยื่นประกันตัวหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นพูดคุยกันว่าจะใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ และคงไม่รบกวนนักการเมืองมาเป็นหลักประกันให้ เพราะช่วงนี้ถูกจับจ้อง ประกอบกับ นักกิจกรรมเยาวชนไม่อยากสร้างความเดือดร้อนให้กับนักการเมือง" นายกฤษฎางค์ ระบุ

 

ส่วนกรณีตำรวจ 3 สน.ได้ ยื่นขอถอนประกัน "ตะวัน" ในคดีอื่น ๆ ไป จะส่งผลต่อการพิจารณาของศาลในการอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ นายกฤษฎางค์ มองว่า เป็นคนละส่วนกัน ตามกฎหมายต้องพิจารณาเป็นคดีไป อีกทั้ง กรณีนี้มีเพียงข่าวว่าจะมายื่นถอนประกัน แต่ยังไม่มีการยื่นคำร้องเข้ามาที่ศาล โดยสภาพจิตใจของ "ตะวัน" และ "แฟรงค์" จากที่ได้พูดคุยกัน ทั้งสองคนยังมีสภาพจิตใจปกติ ไม่อิดโรย หรือมีความเครียดกังวลแต่อย่างใด 

ส่วนกรณีของนายนภสินธุ์ มีการนำตัวมาส่งที่ศาลอาญาตั้งแต่เวลา 11.00 น. แต่ทราบว่ายังไม่ได้รับคำร้องฝากขังจากพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ โดยกระบวนการของสายน้ำ ยังคงต้องรอคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนก่อน คาดว่าจะมีการไต่สวนช่วงบ่ายวันนี้ 

สำหรับประเด็นที่มีการแยกขังทั้ง 3 คน คนละ สน. นั้น จากการสอบถามตำรวจเบื้องต้น แจ้งเพียงว่าเป็นคำสั่งของผู้ใหญ่ เนื่องจากกลัวจะเกิดเหตุวุ่นวาย ซึ่งตนได้เตือนไปว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ป.วิอาญา นอกจากนี้ กระบวนการในการควบคุมตัว ยังผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ด้วย เนื่องจากไม่ได้แจ้งอัยการ ซึ่งเรื่องนี้ "สายน้ำ" ได้แจ้งความกลับกับตำรวจชุดควบคุมตัวแล้ว ที่ สน.พระราชวัง ส่วน ตะวัน-แฟรงค์ ยังไม่มีโอกาสได้แจ้งความ เพราะถูกแยกขังก่อน 

ด้าน พล.ต.ต.อัฏธพร ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยถึงเงื่อนไขการขอคัดค้านการประกันตัวท้ายคำร้องต่อศาลได้ แต่หากศาลอนุญาตให้ฝากขัง และทนายความฝั่งผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะยกเงื่อนไขประมาณ 2-3 ข้อ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 มาใช้แสดงต่อศาล

ทั้งนี้ โดยเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนจะยื่นต่อศาลอันเป็นเหตุควรเชื่อว่าไม่ให้สั่งปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ให้ประกันตัวตามกฎหมายมาตราดังกล่าว ประกอบไปด้วย 5 เงื่อนไข ได้แก่ 

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
  2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
  3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประกันอื่น
  4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
  5. การปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือศาล 
     
logoline