svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ตร.ไซเบอร์ เผยสถิติภัยไซเบอร์ปี 65 หลอกซื้อของออนไลน์พุ่งอันดับ 1

31 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตร.ไซเบอร์ เผยสถิติภัยไซเบอร์ปี 65 หลอกซื้อของออนไลน์พุ่งอันดับ 1 เร่งลุยเชิงรุกเต็มสูบปี 66 ประกาศสงครามสกัดกั้นภัยไซเบอร์ แนะปชช.ต้องรู้เท่าทัน ระวังตกเป็นเหยื่อ

31 ธันวาคม 2565 พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท หรือตำรวจไซเบอร์ เผยถึงการรับมือกับ "ภัยออนไลน์" ตลอดจนแนวทางปราบปรามในปี 2566 ว่า ปัจจุบันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยไซเบอร์ มีรูปแบบที่หลากหลาย มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง วิธีการหลอกลวงเหยื่ออยู่สม่ำเสมอ และเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญ 

ซึ่งปัญหานี้ทาง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการมาทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหา 

ในการแก้ปัญหา ที่ผ่านมาทางรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการช่วยกันที่จะแก้ไขปัญหา ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ ให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ตลอดจนการหาแนวทางป้องกัน ไม่ให้คนร้ายใช้ช่องว่างมาก่อเหตุ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ 
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท หรือตำรวจไซเบอร์

อย่างไรก็ตามจะพบว่า คนร้ายใช้ทุกวิธีทาง เพื่อให้ยากต่อการติดตามจับกุม ซึ่ง "บัญชีม้า - ซิมโทรศัพท์" เป็นหนึ่งในเครื่องมือ ที่คนร้ายนำมาใช้เป็นช่องทาง ในการรับเงินและถ่ายโอนเงิน ที่ได้มาจากการกระทำความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐาน เชื่อมโยงมาถึงตัวได้ ที่ผ่านมาทาง บช.สอท.มีการจับกุมหลายครั้ง และมีการนำมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยแนวทางจากนี้ หากพบธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย ก็จะเพิ่มแผนประทุษกรรม ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจพบ ทั้งในรายละเอียดของแผนประทุษกรรมของคนร้าย รวมทั้งธุรกรรมต้องสงสัยทั้งหมด ให้ธนาคารดำเนินการ  เช่น บัญชีมีการเคลื่อนไหวโอนเงินจำนวน 5 หมื่นบาท ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว หรือมีการโอนเงินจำนวนมากๆ , บัญชีไม่เหมาะสมกับรายได้ 

ซึ่งทาง ปปง.จะเพิ่มไปในธุรกรรมต้องสงสัยทั้งหมด เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ธปท. ยังเตรียมร่างข้อกำหนด ให้สถาบันการเงินปฎิบัติตาม ในการแก้ไขเรื่องบัญชีม้า อาทิ หากมีการโอนเงินเกิน 5 หมื่นบาท อาจจะตัองมีการยินยันตัวตน หรือการโอนเงินจำนวนมาก ๆ จะต้องยืนยันตัวตนเช่นกัน 

ขณะที่ในส่วนของกระทรวงดีอี เตรียมจัดร่างกฎหมาย พรก.ในการแก้ไขอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั้งหมด เพื่อให้มีผลบังคับใชั อาทิ ให้อำนาจสถาบันการเงิน สามารถตรวจสอบบัญชีต้องสงสัยได้ , รวมทั้งมีการกำหนดโทษที่ชัดเจน สำหรับบุคคลที่รับเปิดบัญชีม้า รวมทั้งโทษการซื้อขายบัญชีม้าทางออนไลน์   
ตร.ไซเบอร์ เผยสถิติภัยไซเบอร์ปี 65 หลอกซื้อของออนไลน์พุ่งอันดับ 1
 

ส่วน กสทช. ได้ออกข้อกำหนด ให้สามารถซื้อซิมโทรศัพท์ได้สูงสุด 5 เลขหมาย หากมากกว่านี้ ต้องไปยืนยันที่ศูนย์บริการ เพื่อแสดงตัวตน รวมทั้งหากพบว่า มีการนำซิมโทรศัพท์ไปใช้ในการกระทำความผิด เจ้าของเลขหมายต้องถูกดำเนินคดี  นอกจากนี้ยังมีการหาแนวทางร่วม ในการป้องกันภัยหลอกลวงจากเงินดิจิตอลอีกด้วย ทั้งหมดเพื่อเป็นการหยุดช่องว่างไม่ให้คนร้ายก่อเหตุได้ง่ายขึ้น

ผบช.สอท. กล่าวว่า สอท. ได้สั่งการให้ชุดทำงาน ระดมกวาดล้างอาชญากรรมความผิด เกี่ยวกับออนไลน์ทั้งหมด เช่นฉ้อโกงประชาชน ,พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันได้นำข้อมูลจากศูนย์รับแจ้งความ และการแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ มาวิเคราะห์เครือข่าย แผนประทุษกรรมของคนร้ายที่ก่อเหตุทั้งหมด ก่อนส่งให้ชุดสืบสวน ทั้งในระดับกองบังคับการและในระดับกองบัญชาการทำการจับกุม  

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. ประสานความร่วมมือกับทางกระทรวงดีอี , กสทช. ในเรื่องมาตรการเชิงรุก ปิดช่องทางการใช้เครือข่ายโทรศัพท์นอกประเทศ  ทั้งนี้หากสามารถจัดการกับบัญชีม้า และเครือข่ายโทรศัพท์ได้ จะเป็นการตัดโอกาส ในการที่คนร้ายจะก่อเหตุ อีกทั้งเชื่อว่า อาชญากรรมทางออนไลน์จะลดน้อยลง 
พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท.

สิ่งสำคัญประชาชนต้องมีสติ รู้จักที่จะตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ได้มามีความเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และการทำธุรกรรมในแต่ละครั้ง ต้องเพิ่มความระมัดระวัง รวมถึงการเสริมภูมิคุ้มกัน จากภัยออนไลน์ให้กับประชาชน โดยรวบรวมแผนประทุษกรรมต่าง ๆ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรับทราบเพื่อจะได้รู้ทัน และมีภูมิคุ้มกันไซเบอร์ให้กับตนเองและคนในครอบครัว จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์  ผบช.สอท.กล่าว 

รายงานระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุปภาพรวมสถิติของการหลอกลวงสูงสุด 10 อันดับแรกทางไซเบอร์ในปี 2565 พบว่า หลอกลวงซื้อขายสินค้า จำนวน 47,864 ครั้ง คิดเป็น 32.78% ความเสียหาย 695,562,100 บาท , หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม จำนวน 20,325 ครั้ง คิดเป็น 13.92% ความเสียหาย 2,297,494,979 บาท , หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน จำนวน 17,559 ครั้ง คิดเป็น 12.02% ความเสียหาย 742,731,024 บาท ,

หลอกให้ลงทุน (ที่ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกง) จำนวน 13,572 ครั้ง คิดเป็น 9.29% ความเสียหาย 66,100,207,026 บาท , หลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นขบวนการ (call center) จำนวน 11,178 ครั้ง คิดเป็น 7.65% ความเสียหาย 2,338,579,710 บาท , หลอกลวงซื้อขายสินค้า (เป็นขบวนการ) จำนวน 8,022 ครั้ง คิดเป็น 5.49% ความเสียหาย 54,309,000 บาท,หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน จำนวน 4,158 ครั้ง คิดเป็น 2.85% ความเสียหาย 166,253,946 บาท ,

หลอกให้โอนเงิน (ไม่เป็นขบวนการ) จำนวน 2,711 ครั้ง คิดเป็น 1.86% ความเสียหาย 17,926,215 บาท,หลอกให้รักแล้วลงทุน จำนวน 2,444 ครั้ง คิดเป็น 1.67% ความเสียหาย 1,063,173,413 บาท และเงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยเกินอัตรา จำนวน 1,996 ครั้ง คิดเป็น 1.37% ความเสียหาย 17,208,545 บาท 
หนึ่่งในรูปแบบการหลอกลวงทางไซเบอร์
 

logoline