svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"อยากลาออก กลัวพลุระเบิด" ลูกสาวบ่นกับแม่ ก่อนเกิดเหตุสลดในวันรุ่งขึ้น

19 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อยากลาออก กลัวพลุระเบิด" ลูกสาวบ่นกับแม่ ก่อนเกิดเหตุสลดในวันรุ่งขึ้น ด้าน พิสูจน์หลักฐาน นำเจ้าของโรงงานชี้แผนผังที่ตั้งต่างๆ เจ้าตัว ระบุ ยังไม่รู้สาเหตุที่เกิดขึ้น ขณะ ที่ "นายกฯ" สั่ง เร่งพิสูจน์อัตลักษณ์-เยียวยา จ่อคุย รมว.อุตฯ หามาตรการควบคุมโรงงานพลุขนาดเล็ก

19 มกราคม 2567 อัปเดตความคืบหน้ากรณี โรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี โดยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานกลาง พร้อมหน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด พา นายสุริยา วัชระพิมลมิตร สามี นางเเสงเดือน ปานจันทร์ เจ้าของโรงงาน เเละ ลูกสาว เข้าตรวจสอบภายในโรงงานที่เกิดเหตุระเบิด เพื่อให้ชี้ตำเเหน่งต่าง ๆ บนแผนผังจุดที่ตั้งต่างๆ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณหาสาเหตุ เพื่อเชื่อมโยงกับหลักฐาน

"อยากลาออก กลัวพลุระเบิด" ลูกสาวบ่นกับแม่ ก่อนเกิดเหตุสลดในวันรุ่งขึ้น

โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ภายหลังจากเสร็จสิ้น นายสุริยา กล่าวว่า ยังไม่รู้สาเหตุของการระเบิด ให้เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่ ยอมรับว่าตกใจกับสภาพที่เห็น 

โรงงานเขาเร่งให้ทำงาน เขาเคยรอดชีวิตปี 65 

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามกับ ญาติ นางพรทิพย์ พันเเตง เเละ นายรุ่งโรจน์ อุ่มน้อย 2 สามีภรรยาผู้เสียชีวิต ที่ตอนนี้ยังไม่พบเจอร่าง นางพรทิพย์ ครอบครัวอยากให้พิสูจน์ร่างคืนให้ได้โดยเร็ว เพื่อนำไปทำพิธีทางศาสนาต่อไป กล่าวว่า นางพรทิทย์ เคยเจอเหตุมาเเล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 65 เเต่ครั้งนี้ไม่สามารถรอดชีวิตออกมาได้ และเคยห้ามเขาเเล้วไม่ให้ทำงานที่นี่ แต่เขาไม่ฟัง 

ลูกสาวบ่นอยากลาออก กลัวพลุระเบิด

ขณะที่ครอบครัว น.ส.น้ำฝน บุญเกิด อายุ 29 ปี ชาวกาญจนบุรี นิมนต์พระสงฆ์ มาเชิญวิญญาณ น.ส.น้ำฝน โดยป้า น.ส.น้ำฝน เปิดเผยว่า น.ส.น้ำฝน ได้กลับไปนอนกับเเม่ได้เพียงหนึ่งวัน และบ่นว่าอยากจะลาออกเพราะกลัวพลุระเบิด เเต่ปรากฏว่าพอกลับมาทำงานก็ประสบเหตุ วันนี้ญาติจึงมาเชิญวิญญาณ อีกทั้ง เมื่อคืนที่ผ่านมา (18 ม.ค.) แม่น.ส.น้ำฝน เล่าให้ฟังว่า น.ส.น้ำฝน มาหาเเม่เเละลูก โดยมาลูบหัวลูกชาย ทำให้ลูกชายตกใจตื่น และได้เล่าให้เเม่น้ำฝนฟัง ถึงความฝัน 

เจ้าของโรงงานพลุ

"อยากลาออก กลัวพลุระเบิด" ลูกสาวบ่นกับแม่ ก่อนเกิดเหตุสลดในวันรุ่งขึ้น

"อยากลาออก กลัวพลุระเบิด" ลูกสาวบ่นกับแม่ ก่อนเกิดเหตุสลดในวันรุ่งขึ้น

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการเยียวยาครอบผู้เสียชีวิตกว่า 23 ราย ว่า เรื่องการเยียวยาตอนนี้อยู่ที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะมันเกิดขึ้นบ่อย ซึ่งตอนนี้ต้องเอาเรื่องของผู้เสียชีวิตว่า ต้องได้รับการเยียวยาที่ถูกต้อง รวมถึงการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิต เพื่อคืนศพให้กับญาติพี่น้อง ซึ่งเข้าใจว่า ตอนนี้มีการพิสูจน์อัตลักษณ์แล้ว 15 ราย และทยอยนำร่างคืนไป 

ส่วนเรื่องการแก้ไขกฎหมายต้องดูให้ดี เพราะมีโรงงานแบบนี้อยู่จำนวนมาก ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดการเรื่องนี้ให้ดี ส่วนเรื่องมาตรฐานโรงงานผลิตพลุ หวังว่าจะมีการกำกับดูแลที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเข้าใจว่าโรงงานผลิตพลุไม่ได้มีการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากมีขนาดที่เล็กกว่า จึงต้องดูกฎหมายว่า มีตรงไหนที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ เรื่องของความปลอดภัย 

ส่วนจะต้องทำให้โรงงานผลิตพลุ ไปอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่ เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นหลายครั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันมีกฏที่โรงงานผลิตพลุต้องถูกควบคุมดูแล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ด้วยโรงงานมีขนาดเล็ก ซึ่งต้องมีการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องมีการขยายหรือไม่ เพราะโรงงานผลิตมีความอันตรายต้องถูกควบคุมใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และต้องจำกัดประเภทธุรกิจ หรือสินค้าว่ามีขนาดที่ไม่ใหญ่ แต่หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น มีความหายนะสูง ก็อาจต้องถูกดูแลโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลมากยิ่งขึ้น

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ร่วมกันแถลง ภายหลังการประชุมแนวทางการบริหารจัดการ การอนุญาตให้ทำและค้าดอกไม้เพลิง การเยียวยา และแนวทางการแก้ไขในอนาคต 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้แนวทางไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ทั้งในเรื่องพลุ และสถานที่เก็บวัตถุอันตราย ซึ่งมีหลายหน่วยงานมาร่วมประชุมในวันนี้(19 ม.ค.) โดยมีข้อสรุปการแก้ปัญหาที่จะบูรณาการทำงาน ไม่ให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีก ทั้งนี้ เรื่องของการเยียวยา หากยังไม่ได้ใบมรณบัตรครบถ้วน จะยังไม่สามารถเยียวยาได้ครบทุกคน แต่คาดการณ์ว่า การออกใบมรณบัตร จะออกได้ครบภายในวันนี้

ส่วนการให้คำปรึกษาเรื่องผู้จัดการมรดก เพราะเงินหรือทรัพย์สินที่จะได้จากหน่วยงานต่างๆ แต่ละรายจะได้ไม่เท่ากัน หากบางคนมีบุตรยังเรียนหนังสืออยู่ อายุไม่เกิน 25 ปี อาจจะได้อีก 5 หมื่นบาท หรือบางคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว อาจจะได้เพิ่มประมาณ 3 หมื่นบาท นอกจากนี้ ส่วนที่มีความล่าช้าอยู่คือ การตรวจดีเอ็นเอ เพราะสภาพร่างบางรายไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการตรวจดีเอ็นเอ ก็ต้องรอผลตรวจ

ส่วนการบูรณาการกฎหมาย ว่าจะแก้ปัญหาในอนาคตอย่างไร เพราะระยะหลังเหตุเกิดขึ้นทุกปี นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องมี 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ประกาศที่ออกมาเป็นประกาศรวม ที่ประชุมจึงเห็นว่า ควรมีการปรับประกาศบางเรื่อง โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดู และจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อให้ส่วนรวมได้พิจารณาอีกครั้งว่า โรงงานประเภทที่มีกำลังน้อยกว่า 50 แรงม้า หรือคนงานน้อยกว่า 50 คน ที่ไม่เข้าข่ายในการควบคุมของกระทรวงอุตสาหกรรม จะควบคุมอย่างไรให้ปลอดภัย โดยให้เวลา 7-10 วัน ส่งความเห็นกลับมาที่ตน เพื่อที่จะส่งให้นายกฯ พิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่า จะมีการหารือกับกระทรวงแรงงาน ในการพิจารณาทำประกันชีวิตให้คนงานในโรงงานพลุหรือไม่ เนื่องจากมีความเสี่ยง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เคยคุยแล้ว แต่จะฝากผู้เกี่ยวข้องไปดูว่า จะขัดกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่ก็ฝากเรื่องไปแล้ว

ด้าน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เราดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกี่ยวกับ โรงงาน โรงประกอบการ สถานที่จำหน่าย และสถานที่เก็บ ว่าต้องมีลักษณะอย่างไร รวมถึงการกำกับดูแลต่างๆ เป็นไปตามประกาศตั้งแต่ปี 2547 ดังนั้น นายสมศักดิ์ จึงมีดำริให้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทั้ง 5 กระทรวง จะเร่งดำเนินการต่อไป

ส่วนการปรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 ปัจจุบันจะครอบคลุมเฉพาะโรงงานเกิน 50 คน และเกิน 50 แรงม้า ซึ่งขณะนี้ในประเทศมี 8 โรงงานที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่วนอีก 42 โรงงานไม่ได้อยู่ในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม การจะเข้าไปตรวจสอบ ต้องประสานกระทรวงมหาดไทย

ขณะที่ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครอง รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งพลุเป็นส่วนประกอบของดอกไม้เพลิง นอกจากนี้ยังมีอนุบัญญัติเกี่ยวกับดอกเพลิงหลายฉบับ ที่กำหนดการจัดเก็บพลุ รวมถึงมีหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทย ได้กำชับไปยังนายอำเภอ ให้ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย สถานที่จัดเก็บ และโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง

จากข้อมูลของกรมการปกครองมีผู้ขออนุญาต จำหน่าย ผลิต นำเข้า ดอกไม้เพลิง 1,200 กว่าแห่ง แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นร้านค้าเฉพาะฤดูกาล ส่วนโรงงานผลิตมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือสั่งการไปยังนายอำเภอ ให้ออกไปตรวจตราตามอนุบัญญัติที่ออกตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมกับประกาศของ 5 กระทรวงข้างต้น ส่วนที่ต้องปรับปรุง ต้องดูปัจจัยหลายเรื่อง ทั้งจำนวนสารเคมี ระยะห่างจากชุมชนกับสถานที่ตั้ง เป็นต้น 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) พบว่า โรงงานพลุที่ระเบิดนพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี มีหลายสัดส่วน ทั้งส่วนการผลิต ครัวทำอาหาร รวมถึงที่จัดเก็บสารเคมีในการทำพลุ ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ขณะเดียวกันยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ อาทิ โทรศัพท์มือถือ พัดลม เครื่องปรับอากาศ อยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า มาจากสาเหตุใด ซึ่งต้องรอหน่วยพิสูจน์หลักฐาน แต่มองว่าในบริเวณดังกล่าว ไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้อยู่ 

นอกจากนี้ จะให้นายอำเภอไปตรวจสอบทุกแห่งที่มีการทำพลุ ทั้งที่ขึ้นทะเบียน และไม่ขึ้นทะเบียน บางที่ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพราะคิดว่า ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิต ขณะที่โรงงานขนาดเล็กกฎหมายก็เอื้อมไม่ถึง ก็ต้องไปแก้กฎหมาย ส่วน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการแก้ไข ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาต และการเพิ่มบทลงโทษ 

ล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (19 ม.ค.) ได้มีการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เหยื่อโรงงานพลุระเบิดได้เพิ่มแล้วเป็น 15 ศพ ซึ่งญาติได้ทยอยมารับศพ โดยบรรยากาศในศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดสุพรรณบุรี ภายในวัดโรงช้าง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี แพทย์นิติเวชจากโรงพยาบาลตำรวจและแพทย์จากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี ยังคงช่วยกันเร่งพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่เป็นเหยื่อเหตุพลุภายในโรงงานระเบิด เพื่อให้ญาติได้รับร่างไปบำเพ็ญกุศลต่อไป

ขณะที่ วันนี้เจ้าหน้าที่ฯ สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้เพิ่มเติมอีก 7 ศพ โดยเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ญาติดำเนินการรับศพไปประกอบพิธีการทางศาสนาได้ 4 ศพ ได้แก่

  • นายธงชัย กำเนิดนนท์ ญาติตั้งใจจะบำเพ็ญกุศลศพที่ศาลากลางเปรียญภายในวัดโรงช้าง
  • น.ส.ภัสสร เล็กพอใจ ญาติรับไปบำเพ็ญกุศลศพที่วัดพระธาตุ ต.ศาลาขาว
  • นางสุณี ขวัญอ่อน , นางนึก บุญกล่อม ญาติรับศพไปบำเพ็ญกุศลศพที่วัดลาดกะจับ ต.ศาลาขาว ทั้งหมดอยู่ระหว่างประสานรับศพออก

ส่วนอีก 1 ใน 4 ศพ คือ นายธงชัย ญาติยังไม่สะดวกรับตั้งบำเพ็ญกุศล เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ภรรยาเสียชีวิตด้วยเช่นกัน จึงฝากร่างไว้ที่รถห้องเย็นหลังศาลาฯ เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้ก่อน และจะมีการตั้งบำเพ็ญกุศลศพพร้อมกัน ส่วนอีก 3 ศพ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ทั้งนี้ เมื่อวาน (18 ม.ค.) สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ได้ทั้งหมด 8 ศพ โดยเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ญาติดำเนินการรับศพไปประกอบพิธีทางศาสนาครบท้้งหมด

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ประชาชนผู้ประสบอัคคีภัย ที่วัดโรงช้าง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี พร้อมอัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งความห่วงใย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เชิญสิ่งของพระราชทาน จำนวน 23 ชุด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชน และเดินทางไปดูพื้นที่ที่ประสบอัคคีภัย ที่โรงงานผลิตพลุ  

"อยากลาออก กลัวพลุระเบิด" ลูกสาวบ่นกับแม่ ก่อนเกิดเหตุสลดในวันรุ่งขึ้น

"อยากลาออก กลัวพลุระเบิด" ลูกสาวบ่นกับแม่ ก่อนเกิดเหตุสลดในวันรุ่งขึ้น

เชียงใหม่คุมเข้มโรงงานผลิตพลุ

วันนี้ (19 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุระเบิด ในพื้นที่ ต.ศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย เมื่อช่วงบ่าย วันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด จ.เชียงใหม่ ได้สั่งคุมเข้ม ตรวจสอบโรงงานผลิตพลุ ดอกไม้ไฟภายในจังหวัด เพื่อป้องกันการเกิดเหตุในลักษณะเดียวกัน

นายศิวะ ธมิกานนท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เชียงใหม่ ก็เคยเกิดเหตุ ในลักษณะคล้ายกัน เมื่อปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด เพื่อไม่ให้เกิดกรณีพลุระเบิดอีก จึงได้มีการสำรวจโรงงานพลุในพื้นที่ พบว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตถูกต้องตามกฏหมาย 3 ราย นำเข้า 5 ราย และจำหน่าย 607 ราย

โดยขณะนี้ได้กำชับเน้นย้ำ ให้นายอำเภอทุกแห่งและฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้ง โดยเฉพาะ โรงงาน หรือพื้นที่ ที่มียังมีการลักลอบผลิตพลุโดยไม่ขอใบอนุญาต เพราะถือว่ามีความอันตราย รวมถึงประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนถึงความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบ ที่จ.สุพรรณบุรี รวมถึงมีการตรวจร้านจำหน่ายสารโพแทสเซียมไนเตรต ควบคู่กันไปด้วย 

ด้าน นายพุฒ คำสวน ชาวบ้านตำบลน้ำแพร่ อ.หางดง อดีตเคยเป็นช่างผลิตพลุ ที่ใช้ตามงานศพ งานมงคล หรือ งานเฉลิมฉลองต่างๆ เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ผลิตพลุ เช่น ดินประสิว ถ่าน ขี้เหล็ก และท่อยิงพลุ  แต่เขาได้เลิกผลิตพลุแล้ว เพราะมีความอันตราย เสี่ยงที่จะเกิดเหตุระเบิดได้ และอาจจะส่งผลกระทบกับคนในชุมชน หากช่างไม่มีความชำนาญ และ อยู่ในความประมาท

หัวใจสำคัญและเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตพลุ คือ โพแทสเซียมไนเตรต ถ้าไม่มีความชำนาญในการผลิต อาจทำให้เกิดระเบิดแบบที่เป็นข่าวได้ ซึ่งปัจจุบันช่างพลุในเชียงใหม่ต่างทยอยเลิกทำ เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุระเบิดขึ้น จึงทำให้ เจ้าภาพงานต่างๆ นิยมไปซื้อพลุแบบสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากจีน ซึ่งมีขายตามย่านถนนช้างม่อยเก่าและย่านสันป่าข่อย ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพราะสะดวกกว่าและถูกกว่า ซึ่งสามารถนำมาจุดได้เลย เพื่อลดความเสี่ยงในขั้นตอนการผลิต

พม.อำนวยความสะดวกญาติเพื่อรับศพเหยื่อ

ขณะที่ ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งประสานเจ้าหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่นำสายสิญจน์ไปวนรอบบริเวณที่เกิดเหตุแล้วโยงออกมาภายนอก เพื่อที่จะให้ญาติผู้เสียชีวิต ได้มาทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณ ในเวลา 16:00 น. วันนี้ อีกทั้ง ยังได้ประสานให้เจ้าหน้าที่นำไฟฟ้ามาติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณที่เกิดเหตุด้วย

ทางด้าน "พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ" ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กล่าวว่า ขณะนี้สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้แล้ว 15 ร่าง และวันนี้จะพยายามตรวจให้เสร็จทั้ง 23 ร่าง แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะตรวจได้ครบหรือไม่ เพราะต้องมีกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ การตรวจ DNA แต่ไม่น่าจะเกินวันพรุ่งนี้ก็แล้วเสร็จ

ส่วนการตรวจที่เกิดเหตุได้เก็บพยานหลักฐานครบถ้วนแล้วตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา โดยขั้นตอนจากนี้ จะต้องนำหลักฐานชิ้นส่วนที่พบทั้งหมด มาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของการเกิดเหตุระเบิดครั้งนี้ จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะทราบผลเมื่อใด แต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด
 

 

logoline