svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เดดไลน์ กติกาเลือกตั้ง บีบสามมิตร-สมศักดิ์ ซบเพื่อไทย

06 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

3 แกนนำหลักกลุ่มสามมิตร “สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อนุชา นาคาศัย” ภาพที่เห็นยังไม่เด่นชัด คงต้องใช้ยุทธศาสตร์ แยกกันเดิน ร่วมกันตี

กลุ่มสามมิตร หากเสร็จ"ศึกเลือกตั้ง66" ค่อยมารวมตัวจัดทัพ ต่อรองเพื่อเข้าสู่เป้าหมายหลัก คือ การยืนอยู่ข้างผู้ชนะ แบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี จึงมีบางคนในกลุ่มสามมิตรต้องเดินออกจากพลังประชารัฐ เห็นจะเป็นแบบนั้น 

หากดูตามเนื้อผ้าฟากฝั่ง “อนุชา นาคาศัย” บ้านใหญ่ชัยนาท ชัดเจนจะขอร่วมงานรวมไทยสร้างชาติ ช่วยงานหนุน “บิ๊กตู่” ดันให้กลับมานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ต่ออีกสมัย ด้วยความเชื่อมั่นในฝีไม้ลายมือของ “บิ๊กตู่” ในการนำเรือแป๊ะอยู่ตลอดรอดฝั่งตลอดช่วง 8 ปี แม้จะมีอาการโคลงเคลงบ้างตามกระแสคลื่นการเมือง แต่ไม่เคยล่มอัปปาง อยู่ตลอดรอดเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย

อนุชา นาคาศัย

เหลืออีก 2 คน 2 ส. “สมศักดิ์ & สุริยะ” ที่ยังรอเส้นตายทางการเมืองผู้สมัคร ส.ส. ต้องเข้าสังกัดพรรคการเมือง ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ แนวโน้มอาจเปิดกว้างที่จะย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งได้ตลอดเวลา ท่ามกลางสะพัดหนาหูดีลลับสัมพันธ์ลึก ยุคไทยรักไทย เจ๊แดง “เยาวภา วงศ์สวัสด์” หัวหน้ากลุ่มวังบัวบาน โดย “สมศักดิ์” แกนนำกลุ่มวังน้ำยม เตรียมย้ายกลับบ้านเก่าพรรคเพื่อไทย ที่ “เจ๊แดง สมศักดิ์” ล้วนมีบทบาทนำทีมสร้างผลงานปรากฎอย่างเด่นชัด 

สมศักดิ์ เทพสุทิน

กลุ่มวังน้ำยมเคยอยู่ในความดูแลของ "สุริยะ" ขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ส่วน สมศักดิ์ นั่งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ปี 19 กันยายน 2549 "กลุ่มวังน้ำยม" เป็นอันต้องปิดฉากลง ก่อนที่ "กลุ่มวังน้ำยม" จะทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ก่อนที่ สมศักดิ์ จะไปก่อตั้ง พรรคมัชฌิมาธิปไตย ก่อนถูกยุบไปในที่สุด 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

โดยช่วงก่อนปฏิวัติสมาชิก กลุ่มวังน้ำยม มีบทบาทต่อขุมพลังต่อ "ไทยรักไทย" ชัดเจน ประกอบด้วย ส.ส.ภาคเหนือ 40 คน ภาคกลาง 20 คน และ ภาคอีสาน อีก 50 คน รวมถึงบางส่วนจากสนามเมืองหลวง หากมีเสียงข้างมากเยอะก็ต่อสามารถสร้างแรงต่อรองได้มากเช่นกัน
 

อดีต "สมศักดิ์" ได้มีการก่อตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย ร่วมกับ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และถูกยุบไปในที่สุด กระทั่ง 2 ธันวาคม 2551 ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยตัดสินยุบพรรค พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด (วันเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550) มีอยู่ทั้งสิ้น 109 คน

แบ่งเป็น พรรคพลังประชาชน 37 คน ชาติไทย 43 คน และ มัชฌิมาธิปไตย 29 คน จนทำให้ สมศักดิ์ ต้องย้ายหนียกทีมนำ ส.ส. ย้ายซบ "ภูมิใจไทย"

ต้นเดือน ธ.ค.2556 "ปู ยิ่งลักษณ์" ขณะนั่งตำแหน่งนายกฯ ประกาศยุบสภา "สมศักดิ์" จึงพาอดีต ส.ส. 7 คน กลับเข้ามาสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย

เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์

กระแสดีลเงื่อนไขข้อตกลง “สมศักดิ์” นำทีมต้องให้ “เพื่อไทย” แลนด์สไลด์สุโขทัย ให้เจ๊แดง จึงเป็นที่ถูกจับตาอีกรอบว่าอาจหวนคืนถิ่นคนชุดแดงอีกรอบ เช่นเดียวกับรอบนี้ ส่งสายตรง “โกทรัพย์ ภูดิท อินสุวรรณ์” ส.ส.พิจิตร พรรคพลังประชารัฐ ไปเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พิจิตร เขต 2 พรรคเพื่อไทย พร้อมจ่อดัน “พรรณสิริ กุลนาถศิริ” น้องสาว ส.ส.สุโขทัย เขต 1 (เขต อ.เมือง) และชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัย เขต 2 (เขต อ.กงไกรลาศ) ตามไปสมทบกับพรรคเพื่อไทยอีกแรง

ก่อนหน้านี้ เพื่อไทย เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สุโขทัย 2 คน “ประภาพร ทองปากน้ำ (เขต อ.ศรีสัชนาลัย) และจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล (เขต อ.สวรรคโลก)” ไปล่วงหน้าแล้ว

ขณะเดียวกันขุมกำลัง กลุ่มสามมิตร ฝั่งราชบุรี แรงดูดลดลง หลังจาก กำนันตุ้ย วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี และบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี ตกลงไม่หนีตีจาก “บิ๊กป้อม” ขอรวมค่าย "พลังประชารัฐ" เสร็จศึกเลือกตั้ง ค่อยมาร่วมคุยทิศทางอนาคตกันอีกรอบก็เป็นได้ 

แม้นว่า "อนุชา" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส.ส.ชัยนาท อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และธนกร วังบุญคงชนะ รมต.สำนักนายกฯ ยืนยันชั้นนี้แล้วว่า จะไปช่วย "บิ๊กตู่" กับ รวมไทยสร้างชาติ แปลว่ามือขวา มือซ้ายของ "สมศักดิ์" แยกไปแตะมือ "ลุงตู่" 

เดดไลน์ กติกาเลือกตั้ง บีบสามมิตร-สมศักดิ์ ซบเพื่อไทย

ส่วนแกนหลักอีกคนที่เป็นเสมือนเงาของ "สมศักดิ์" คือ "สุริยะ" นั้น ยันชัดว่าไม่ได้ย้ายไปไหน ประกอบกับโครงสร้างพรรค พลังประชารัฐ ไม่กี่วันก่อนหน้านี้พบว่า "สุริยะ" นั่งแท่นรองหัวหน้าพรรคอีกด้วย 

สิ่งหนึ่งที่น่าคิดในตอนนี้คือ การชี้มูลความผิด กรณีสินบนเครื่องบินของการบินไทย สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ที่มีกระแสข่าวว่า ป.ป.ช. ชี้มูลเบื้องต้นมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหา "ทักษิณ ชินวัตร" เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พิเชษฐ สถิรชวาล สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม ,ทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย และ กนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสแบบ A340-500 และแบบ A340-600 จำนวน 10 ลำ ในช่วงปี 2546-2547 ทำให้ บมจ.การบินไทย ได้รับความเสียหาย 

แน่นอนว่า ดันมีชื่อ "สุริยะ" ในฐานะอดีต รมว.คมนาคม ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป เนื่องจากในขณะที่มีการอนุมัติให้มีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ

"สุริยะ" ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบและกำกับดูแล บมจ.การบินไทย แต่เป็น พิเชษฐ ในฐานะ รมช.คมนาคม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล บมจ.การบินไทย ตรงนี้เกิดคำถามลอย ๆ ขึ้นทันที คดีนี้ยืดเยื่อมาสิบกว่าปี และมีการขยายเวลาการไต่สวน สอบสวนมาเรื่อย ๆ แต่เพิ่งแน่ชัดในช่วงปลายรัฐบาลนี้ และรมว.คมนาคม ในตอนนั้นที่เป็นเจ้ากระทรวงคล้ายกับว่าไม่ต้องรับผิด

หากตีความจะสื่อความถึงอะไร และบวกกับการยืนยันของ "สุริยะ" กับสื่อมวลชนว่า ไม่ย้ายพรรคนั้น สองเรื่องราวนี้สอดรับอย่างลงตัวแบบไม่น่าเชื่อ แปลเป็นไทย อาจมีอะไรบางอย่างดลใจให้ "สุริยะ" ปักหลักช่วย "ลุงป้อม" ไปอีกยกหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เป็นเดิมพันหรือไม่

อย่าลืมว่าคดีทุจริตจำนำมันสำปะหลัง ที่มีกระแสข่าวว่า ป.ป.ช. ชี้มูลว่า พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีส่วนทุจริตโครงการจำนำมันสำปะหลัง แต่คนแวดล้อม รมว.พาณิชย์ ในตอนนั้น มีส่วนร่วมทุจริตคือคนการเมืองใน จ.ราชบุรี และคนการเมืองเหล่านี้คือคนในสายของ สมศักดิ์ และอนุชา แทบทั้งนั้น 

ดังนั้นการที่ "สุริยะ" ยังอยู่กับลุงป้อม แต่กระแสคดีที่มัดตัวใน ป.ป.ช. ยังฝังอยู่ หากใครเป็น "สุริยะ" น่าจะยื่นเงื่อนไขปักหลักสู้ในยกนี้ เพื่อแสงสว่างปลายอุโมงค์ของตัวเอง

ส่วนบุทสรุป สมศักดิ์ และสามมิตร ที่เหลือมีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะยังไม่สละเรือตอนนี้ เพื่อรักษามารยาทการเมืองในพรรคร่วม ถ้าให้ไปเลยวันนี้อาจจะซ้ำรอยเคส กำนันป้อ "ภท." ที่สุดท้ายต้องลาออกจากเก้าอี้รัฐมนตรี แค่ทู่ซี้ อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี จนนาทีสุดท้ายก็ถือว่าไม่เสียหายอะไร ไหนเลยภารกิจในกระทรวงยังมีอะไรให้ทำอีกแยะ จนแล้วจนเล่ารอ "บิ๊กตู่" ยุบสภาช่วง มีนาคม ก็เท่ากับมีเวลา 30 วัน ให้ย้ายพรรคก็ยังทันถมเถ ถ้าไม่ลืม "สมศักดิ์" มักเปรยให้สื่อฟังเสมอ ยังมีเวลาชัดเจนถึง 7 กุมภาพันธ์   

ชื่อชั้น "สามมิตร" ยังต้องการความชัวร์เพื่อเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล หรือง่าย ๆ ต้องชนะเท่านั้น ไม่งั้นสามมิตรไม่เอาด้วยแน่ นี้ความเก๋าของ "สามมิตร" ยังเป็นตำนานในอดีตตราบเท่าทุกวันนี้...!  

logoline