svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำความรู้จัก "โอมิครอน XBB" โควิดกลายพันธุ์ล่าสุด มีวิธีป้องกันทำอย่างไร?

15 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โควิดวันนี้ "โอมิครอน XBB" โควิดกลายพันธุ์ใหม่ที่พบการระบาดที่น่ากังวล ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อ 3 รายที่ฮ่องกงเดินทางจากประเทศไทย "เนชั่นออนไลน์" เปิดข้อมูลและรวบรวมวิธีป้องกัน "โควิด XBB" ไว้ที่นี่แล้ว

15 ตุลาคม 2565 "โควิดวันนี้" พบโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน XBB" พบการระบาดในฮ่องกงจำนวนมาก โดยกรมควบคุมโรค สั่งคุมเข้มสนามบิน ยกระดับเฝ้าระวัง "โควิด XBB" หลังฮ่องกงตรวจพบผู้ติดเชื้อ 3 ราย เป็นผู้เดินทางจากประเทศไทย พร้อมประสานสอบสวนที่มาของโรค ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ทำความรู้จัก "โอมิครอน XBB" โควิดกลายพันธุ์ล่าสุด มีวิธีป้องกันทำอย่างไร?

 

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจพบโอมิครอนกลายพันธุ์ตัวใหม่ "โควิดกลายพันธุ์" ไม่ว่าจะเป็น  "BQ.1.1" และ “XBB” สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว และดื้อภูมิคุ้มกันมากกว่าทุกสายพันธุ์ ว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ ยังไม่มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย การแพร่ระบาดส่วนใหญ่เป็น "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.5 
 

ทั้งนี้จากฐานข้อมูล GISAID ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ประเทศไทยพบเชื้อโควิด BA.4 จำนวน 218 ราย, BA.2.75 และลูกหลาน BA.2.75.1, BA.2.75.2 พบ 24 ราย สายพันธุ์ BA.5 และลูกหลาน พบ 2,152 ราย โดยสายพันธุ์ย่อยหลักที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่ สายพันธุ์ BA.5.2 พบรายงานจำนวน 1,709 ราย ซึ่งแนวโน้มสอดคล้องกับทั่วโลก คือ BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก ส่วน BA.4, BA.2.75 และลูกหลาน เช่น BA.2.75.1, BA.2.75.2 และ BA.2.75.x พบเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

 

อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัส สำหรับสายพันธุ์ BQ.1.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.5 ที่มีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งบนส่วนหนาม ได้แก่ R346T, K444T, และ N460K ช่วยให้สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดี ยังไม่พบรายงานในประเทศไทย 

ทำความรู้จัก "โอมิครอน XBB" โควิดกลายพันธุ์ล่าสุด มีวิธีป้องกันทำอย่างไร?

 "โอมิครอน XBB" มาจากไหน 

ส่วนสายพันธุ์ "โอมิครอน XBB" มีต้นตระกูลมาจาก BA.2 นั้น เป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ BJ.1 และ BA.2.75 ปัจจุบันทั่วโลกรายงานสายพันธุ์ XBB จำนวน 260 ราย BJ.1 จำนวน 114 ราย และ BA.2.75 จำนวน 9,047 ราย สำหรับประเทศไทยรายงานพบเฉพาะสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 18 ราย โดยยังไม่พบสายพันธุ์ BJ.1 และ XBB แต่เฝ้าระวังตลอดเวลา

 

“ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ ขอย้ำว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็น ขอให้ฉีดกระตุ้นอย่างน้อย 4 เดือน จากเข็มล่าสุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรับถึงเข็มที่ 4 เมื่อใดที่พบการระบาดเพิ่มขึ้น มาตรการป้องกันตนเองทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือและเว้นระยะห่าง ยังใช้รับมือการแพร่ระบาดได้ทุกสายพันธุ์  ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว 

 "โควิด XBB" ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด 

ขณะที่ "หมอธีระ" ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก"Thira Woratanarat" ถึง โควิด "โอมิครอน XBB" ถือเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพื่อดื้อต่อภูมิคุ้มกันมาก

 

หมอธีระ โพสต์แจ้งข่าวการค้นพบ โอมิครอน XBB เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ระบุว่า ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งนำโดย Cao Y ได้เผยแพร่ผลการศึกษาติดตามไวรัสโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ พบว่า สายพันธุ์ XBB ซึ่งมีต้นตระกูลมาจาก BA.2 นั้น เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยมีมา


นอกจากนี้ สมรรถนะการจับกับตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสายพันธุ์ย่อยเดิมที่มี ดังนั้น XBB จึงเป็นตัวล่าสุดที่ต้องเฝ้าระวัง

ทำความรู้จัก "โอมิครอน XBB" โควิดกลายพันธุ์ล่าสุด มีวิธีป้องกันทำอย่างไร?


ต่อมา หมอธีระ อัพเดตสถานการณ์แพร่ระบาดในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า จำนวนติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน ทั้งนี้นอกเหนือจาก โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.75 แล้ว สายพันธุ์ย่อย "โอมิครอน XBB" มีอัตราการตรวจพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง "โควิด XBB" เป็นสายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ

 

ล่าสุด วันนี้ (15 ต.ค.) หมอธีระ แจ้งสถานการณ์โควิดที่สิงคโปร์ ว่า "โอมิครอน XBB" เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้ระบาดหนักในขณะนี้ และมีแนวโน้มที่จะทำให้การระบาดหนักกว่าระลอกก่อน ส่วนสหรัฐอเมริกา สัดส่วน BA.5 ลดลงอย่างชัดเจน ในขณะที่สายพันธุ์ใหม่ๆ มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าระลอกใหม่จะตามมาในเวลาไม่นาน จึงเป็นเหตุผลที่มีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมารับวัคซีน Bivalent กันในขณะนี้

 

" การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ เป็นเรื่องจำเป็น ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ระมัดระวังกิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง และการคลุกคลีใกล้ชิดโดยไม่ป้องกันตัว ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก " หมอธีระ ย้ำถึงการป้องกัน โควิด XBB


 

ขณะที่ นายแพทย์โสภณ  เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะเดินไปต่างประเทศขอให้ไม่ประมาท โดยศึกษาคำแนะนำของประเทศที่จะเดินทางไป ป้องกันตนเองอยู่เสมอ โดยเน้นมาตรการป้องกันเหมือนในช่วงโควิดระบาดหนัก ดังนี้ 

  • การสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด 
  • เว้นระยะห่าง 
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล 
  • ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

" มาตรการดังกล่าว จะสามารถป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจได้ และหากยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นขอให้รีบไปรับวัคซีน เพราะวัคซีนเป็นตัวช่วยที่ลดความรุนแรงของโรคได้ "

ทำความรู้จัก "โอมิครอน XBB" โควิดกลายพันธุ์ล่าสุด มีวิธีป้องกันทำอย่างไร?

ทำความรู้จัก "โอมิครอน XBB" โควิดกลายพันธุ์ล่าสุด มีวิธีป้องกันทำอย่างไร?
 

logoline