เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมัลดีฟส์เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกา กับภรรยาและบอดี้การ์ด 2 คน ขึ้นเครื่องบินของกองทัพอากาศ ไปลงจอดที่กรุงมาเล่ เมืองหลวงของมัลดีฟส์เมื่อเช้าตรู่ของวันนี้ ซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากผู้ประท้วงบุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดี ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ทั้งยังเผาบ้านพักส่วนตัวของนายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรี ขณะที่ประเทศเผชิญการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงอย่างรุนแรงมานานถึง 3 เดือน
ประธานาธิบดีโกตาบายายอมวางมือจากอำนาจเพราะตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กดดันอย่างหนัก ส่วนนายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเหบอกว่าจะยอมลาออกเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว และแม้สมาชิกนิติบัญญัติจะเห็นชอบว่าจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ในสัปดาห์หน้า แต่เมื่อวันอังคารก็ยังคิดหนักว่าจะตั้งรัฐบาลที่จะมาทำให้ประเทศที่ล้มละลายแห่งนี้ หลุดพ้นจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจและการเมืองได้อย่างไร อีกทั้ง การลาออกของประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้นำไปสู่จุดสิ้นสุดของวิกฤต
ผู้ประท้วงประกาศว่าจะยังยอมออกไปจากทำเนียบประธานาธิบดี จนกว่าพวกผู้นำระดับสูงจะพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน พวกเขาทำราวกับสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เล่นน้ำในสระว่ายน้ำ นอนบนเตียงที่เต็มไปด้วยหมอน มีกลุ่มที่ไปหุงหาอาหารที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีแจกจ่ายให้ผู้ประท้วงด้วย แต่ในขณะที่บรรดาสมาชิกนิติบัญญัติกำลังเฟ้นหาคนที่จะขึ้นไปเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พวกเขาก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะให้ใครมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่นอกจากจะรับผิดชอบในการตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว ยังต้องทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีจนกว่าจะมีคนที่ได้รับเลือกมาทำหน้าที่
แน่นอนว่ากลไกในรูปแบบนี้ย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ประท้วง เพราะคนที่ทำหน้าที่นี้ในปัจจุบันคือนายวิกรมสิงเห ซึ่งเป็นคนที่พวกเขาต้องการให้พ้นไปจากตำแหน่งโดยทันที เพราะการคอร์รัปชันและการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ได้ทำให้ประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กแห่งนี้ต้องแบกรับหนี้สิน ไม่มีชำระค่าสินค้าจำเป็นขั้นพื้นฐานที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ สร้างความเดือดร้อนและทุกข์ยากให้ประชากร 22 ล้านคนของประเทศ มีภาพที่ชาวศรีลังยอมอดอาหารบางมื้อเพื่อไปเข้าแถวรอซื้อน้ำมันที่หายาก สวนทางกับในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น จนกระทั่งวิกฤตเริ่มก่อตัวต้องเจรจาขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เป็นรอบที่ 17 และฝังรากลึกจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2491
ที่ผ่านมาและท่ามกลางวิกฤต มีสองประเทศเพื่อนบ้านที่ศรีลังกาต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คือ อินเดียและจีน ซึ่งในกรณีของจีน นายหวัง เวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ระบุว่าจีนจะเสนอความช่วยเหลือแก่ศรีลังกาต่อไป เนื่องจากมีศักยภาพที่จะเอื้อต่อการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของศรีลังกา ส่วนหนี้สินของจีน จีนจะสนับสนุนสถาบันการเงินมาช่วยแก้ปัญหาอยางเหมาะสม ผ่านการหารือกับศรีลังกา ส่วนอินเดียยังไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ
การบุกอาคารรัฐบาลที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของประเทศ นอกจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและผู้นำแล้ว แต่ยังทำลายอิทธิพลของตระกูลราชปักษา ที่สืบทอดกันราวกับราชวงศ์การเมือง และปกครองประเทศมายาวนานถึง 2 ทศวรรษ และในช่วงเวลานั้นพวกเขาได้สูบเลือดสูบเนื้อชาวศรีลังกา ด้วยการไซฟ่อนเงินจากกองทุนรัฐบาล ฝ่ายบริหารของตระกูลราชปักษายังซ้ำเติมให้ประเทศล่มสลายเร็วขึ้น ด้วยการบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างผิดพลาด หลังเผชิญการประท้วงและการบุกที่คาดไม่ถึงเมื่อวันเสาร์ ประธานาธิบดีราชปักษาไม่ได้ปรากฎตัวอีกเลย และในขณะที่ทำให้เชื่อว่าเขาเตรียมตัวลาออกจากตำแหน่งตามที่รับปากไว้ แต่ความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังคือการกอบโกยทรัพย์สินมีค่า พาภรรยาและบอดี้การ์ด 2 คน ไปเสวยสุขที่มัลดีฟส์ โดยทิ้งซากแห่งอดีตที่เคยรุ่งเรืองและความอัปยศไว้ให้คนในชาติเท่านั้น