svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อสส.แจงยิบถูกกลาโหมอ้างให้ตรวจ GT200 ยันแค่ให้ความเห็นควรตรวจเพื่อผลคดี

06 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อสส.แจงยิบถูกกลาโหมอ้างให้ตรวจ GT200 ยันแค่ให้ความเห็นควรตรวจเพื่อชี้ขาดคดี ส่วนจ้างใครตรวจกี่บาทเป็นเรื่องกองทัพ ย้ำคดีจบเเล้วหลังศาลปกครองสูงสุดสั่งเอกชนจ่ายเงินคืน ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจอีก

วันนี้ (6 มิ.ย.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณี โฆษกกระทรวงกลาโหมออกมาระบุว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นให้กองทัพบกดำเนินการตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่องเพื่อใช้สู้คดีในศาลปกครองจนนำไปสู่การดำเนินการจ้างไปที่ สวทช. เป็นเงิน 7,570,000 บาทว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับหนังสือจากกองทัพบกวันที่ 13 ม.ค. 60 เรื่องขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดจัดอัยการยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม  ผู้ถูกฟ้องที่ 1 กับพวก กรณีข้อพิพาทการจัดซื้อขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 รวม 12 สัญญา วงเงิน 683,900,000 บาท 

 

ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการคดีปกครองเป็นผู้พิจารณาว่าต่าง เเละได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน ซึ่งเมื่อได้เรื่องเเล้วพนักงานอัยการผู้ตรวจสำนวน ได้มีหนังสือเเจ้ง 24 ม.ค. 60 ให้กองทัพบกดำเนินการส่งเครื่อง GT200 ไปตรวจพิสูจน์ทั้งหมดรวม 757 เครื่อง เพื่อที่จะทราบว่าเป็นของที่ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาจริง 
 

 

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

ซึ่งในประเด็นนี้ถือว่าเป็นข้อแพ้ชนะคดี แต่ในส่วนรายละเอียดทางกองทัพจะไปตรวจอย่างไร ราคาเท่าไหร่ ทางอัยการไม่ได้ก้าวล่วง เพราะเป็นเรื่องของกองทัพบกที่จะต้องดำเนินการ จะจ้างใครตรวจก็ไม่เกี่ยวกับอัยการ เราเพียงแต่ให้ไปตรวจเพื่อนำผลตรวจพิสูจน์มา ต่อมาในวันที่ 27 เม.ย. 60 อัยการสำนักงานคดีปกครอง 5 ได้ยื่นฟ้องบริษัทเอวิเอ แซทคอม ,นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอฯ ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้ค้ำประกัน (วงเงิน 56 ล้านบาทเศษ) ,ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะแบงค์การันตี (วงเงิน 6 ล้านบาทเศษ) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 โดยอัยการได้ยื่นฟ้องทุนทรัพย์ทั้งหมด 687,691,975 บาท ซึ่งต่อมาวันที่ 28 ธ.ค.60 ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดีโดยให้เหตุผลเนื่องจากขาดอายุความ

 

จากนั้นวันที่ 1 มิ.ย. 61 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดีที่อัยการยื่นอุทธรณ์ว่า คดีไม่ขาดอายุความ พร้อมสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้พิจารณา จนวันที่ 1 ก.ย. 64 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า เครื่อง GT200 จำนวน757 เครื่อง เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารเเสดงคุณสมบัติของเครื่อง

 

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจึงพิพากษาว่า ให้บริษัทเอวิเอ แซทคอมฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท ให้ธนาคารกสิกรในฐานะผู้ออกแบงค์การันตีรับผิดชอบในวงเงิน 56,856,438 บาท ให้ธนาคารกรุงเทพฯ ในส่วนแบงค์การันตีรับผิดชอบวงเงิน 6,195,452 บาท และยกฟ้องนายสุทธิวัฒน์ผู้บริหารเอวิเอ เนื่องจากยังฟังไม่ได้ความว่า ได้กระทำงานเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล เเละวันที่ 8 ก.ย. 64 สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งผลคดี ให้กองทัพบกทราบ ต่อมา 23 ก.ย. 64 ผู้ถูกฟ้องทุกคนยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 

 

 

กลาโหมจ้าง สวทช. ตรวจเครื่อง GT200
 

จากนั้นวันที่ 8 มี.ค. 65 อัยการคดีปกครองยื่นอุทธรณ์ โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ศาลยกฟ้องร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องที่ 1 จนวันที่ 7 ก.พ. 65 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ เเละวันที่ 7 มี.ค. 65 ศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์คดีคดีจึงเป็นอันถึงที่สุด ที่ให้บริษัทเอวิเอ แซทคอมฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในส่วนที่อยู่ในศาลปกครองสูงสุดจึงมีเพียง 2 ประเด็นคือในส่วนของธนาคารกสิกรเเละธนาคารกรุงเทพฯ เเละประเด็นที่อัยการขอให้นายสุทธิวัฒน์ร่วมรับผิดกับบริษัทฯ ฉะนั้นสรุปการตรวจเครื่อง GT200 จึงไม่มีความจำเป็น เนื่องจากคดีมันสิ้นกระเเสความเเล้ว เเละเราเเจ้งผลให้กองทัพบกตั้งเเต่วันที่ 8 ก.ย. 64 เเล้ว 

 

“ในส่วนของอัยการที่เรายืนยันในเวลาขณะนั้นให้ตรวจเพราะมีความจำเป็นทางคดีเเต่เมื่อคดีมันเดินมาถึงที่สุดเเล้ว ฟ้องชนะคดีมา 600 กว่าล้านบาท ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจอะไรอีก”นายประยุทธ กล่าวย้ำ 

 

 

เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT200

logoline