svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเตรียมความพร้อมรับฤดู 'น้ำหลาก' 65

02 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สทนช. เร่งรัดซ่อมแซมปรับปรุงระบบชลศาสตร์ อาคารระบายน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก ตรวจความพร้อมรับมือฤดูน้ำหลาก ปี 2565

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความพร้อมระบบชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออกเพื่อรองรับฤดูน้ำหลาก ปี 2565 ว่า สทนช. ได้บูรณาการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการซ่อมแซม ปรับปรุงระบบชลศาสตร์ และอาคารระบายน้ำต่างๆ ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากในปีนี้ ซึ่งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบกรมชลประทาน เช่น บริเวณคันกันน้ำคลองชัยนาท-ป่าสัก บริเวณปากคลอง 23 ขวา และคันคลอง 23 ที่พังเสียหายตั้งแต่ฤดูน้ำหลากปี 2564 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซม

อย่างไรก็ตาม ภายในต้นเดือนมิ.ย. 2565 กรมชลประทานจะดำเนินการจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซมเป็นการชั่วคราว และภายในเดือนก.ค. 2565 จะซ่อมแซมให้มีความมั่นคงแข็งแรง ให้สามารถรองรับน้ำหลากในปีนี้ได้อย่างแน่นอน ส่วนมาตรการแก้ไขในระยะยาว กรมชลประทานจะสร้างประตูระบายน้ำที่ปากคลอง 23 คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2568 ระยะเวลาในก่อสร้าง 2 ปี

สำหรับมาตรการอื่นๆ ในการรับมือฤดูฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้การดำเนินการแล้ว ทั้งการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การบริหารจัดการ

น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งได้ปรับปฏิทินการปลูกข้าวนาปีให้สามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนน้ำหลาก การปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ การขุดลอกคูคลองและการกำจัดผักตบชวา การตรวจสอบความมั่นคงของคันกั้นน้ำ การปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเตรียมสถานที่รองรับการอพยพ และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เป็นต้น รวมทั้งได้เตรียมการฝึกซ้อมความพร้อมของแผนเผชิญเหตุ และการตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย โดยในพื้นที่ภาคกลางได้เตรียมบูรณาการหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ในการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัย ที่ จ.ชัยนาท ในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ด้วย

       “ ระบบชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก จะปรับปรุงประสิทธิภาพ ภายใต้โครงการปรับปรุงระบบชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออกนั้น เป็น 1 ใน 9 แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมีเป้าหมายในการปรับปรุงระบบชลประทานและคลองธรรมชาติตามแนวคลองเดิมให้มีขีดความสามารถการระบายน้ำในพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 210 เป็น 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที”

ประกอบด้วย งานปรับปรุงคลองชลประทาน 23 สาย งานปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ 19 แห่ง และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำอีก 24 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังมีแผนดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย อีกด้วย

logoline