svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ประชาสัมพันธ์

สอวช.วางเป้าใหญ่ R&D เงินลงทุนโต 2%GDP ภายใน 10 ปี

22 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สอวช. เผยตัวเลขลงทุน R&D ของไทยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แม้เผชิญโควิด-19 ผลจากรัฐเพิ่มสัดส่วนการลงทุน ด้าน “กิติพงค์” มั่นใจ พร้อมเสิร์ฟนโยบาย อววน. ตรงจุด มุ่งสู่เป้าหมายลงทุน R&D ร้อยละ 2 ต่อจีดีพี ภายในปี 70

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยถึงการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 พบว่า ตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 แต่จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ในปีสำรวจ 2563 สอวช. คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาจะลดลง และมีผลต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 จากผลกระทบดังกล่าว แต่หากต้องการรักษาให้มูลค่าการลงทุนวิจัยและพัฒนาให้อยู่ในระดับปกติ ภาครัฐต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเข้ามา 

 

จากข้อมูลการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ประจำปี 2564 (สำรวจข้อมูลปี 63) ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า ภาพรวมตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาเติบโตขึ้น เป็นจำนวนรวมกว่า 208,009 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น คิดเป็นจำนวน 66,304 ล้านบาท และภาคเอกชน 141,705 ล้านบาท โดยสัดส่วนภาครัฐต่อภาคเอกชนอยู่ที่ร้อยละ 32 และร้อยละ 68 ตามลำดับ ซึ่งการลงทุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงเกือบร้อยละ 10 สำหรับภาพรวมค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อจีดีพียังเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 1.33 จากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.14

สอวช.วางเป้าใหญ่ R&D เงินลงทุนโต 2%GDP ภายใน 10 ปี

สอวช.วางเป้าใหญ่ R&D เงินลงทุนโต 2%GDP ภายใน 10 ปี

สอวช.วางเป้าใหญ่ R&D เงินลงทุนโต 2%GDP ภายใน 10 ปี

“สอวช. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่เป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาร้อยละ 2 ของจีดีพี ให้ได้ในปี 2570 โดยต้องมีมาตรการ กลไกที่ต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นและส่งเสริมภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่าในปี 2565-2567 หากทั้งภาครัฐและเอกชนใส่เงินลงไปที่การวิจัยและพัฒนาตรงนี้ โดย สอวช. เองก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดกลไกที่เอื้อต่อการลงทุนควบคู่ไปด้วย จะทำให้การเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเติบโตและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” ดร. กิติพงค์ กล่าว

 

ในมุมหน่วยงานด้านนโยบาย สอวช. ตั้งเป้าหมายใหญ่ของประเทศที่จะขับเคลื่อนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้สำเร็จภายในปี 2570 ได้แก่ 

1) ขับเคลื่อนประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยเพิ่มจำนวนบริษัทที่มีนวัตกรรมที่มีขนาดมากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ได้ 2,000 บริษัท และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 เท่าของการเติบโตรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของประเทศ 

2) เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงให้เป็น 25% ในปี 2570 ผ่านแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนและการพัฒนาประเทศ 

3) มีแพลตฟอร์มขับเคลื่อนการขยับสถานะทางสังคมและรายได้ของประชากรกลุ่มฐานรากหรือ Social Mobility จำนวน 1 ล้านคน และ 

4) ผลักดัน 50% ของบริษัทส่งออกให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

สอวช.วางเป้าใหญ่ R&D เงินลงทุนโต 2%GDP ภายใน 10 ปี

ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายได้ต้องมีการสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ทุนทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ ใช้แนวทางการขับเคลื่อนประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางผ่าน Three-Pronged Strategy ที่ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน หรือ Knowledge-Based Industry 2) อุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรมเป็นฐาน หรือ Creative & Cultural-Based Industry และ 3) เศรษฐกิจท้องถิ่น หรือ Local Economy

สอวช.วางเป้าใหญ่ R&D เงินลงทุนโต 2%GDP ภายใน 10 ปี

 

ในการขับเคลื่อน Knowledge-Based Industry ด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovation Economy) มุ่งเน้นการเพิ่มผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise หรือ IDE) ทั้งปริมาณและคุณภาพ ให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และมีการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy หรือ CE) แพลตฟอร์มเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem) มีการริเริ่มทำ CE Innovation Policy Platform นำไปสู่การจัดทำ CE Design & Solution Platform ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

ส่วนการขับเคลื่อน Creative & Cultural-based Industry เริ่มจากการให้ความสำคัญกับทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ จากนั้นใช้กลไกการส่งเสริมด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการสร้างสรรค์ และการพัฒนาพื้นที่และเครือข่ายสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์ ต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรม ในแง่ของชุมชน ทำให้มีแนวทางอนุรักษ์และสืบทอดทุนวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป และสามารถแปลงทุนทางวัฒนธรรมที่มีเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ และในแง่เครือข่าย มีการวางแผนและผลักดันให้เมืองเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

 

สำหรับการขับเคลื่อน Local Economy ผ่านการส่งเสริมให้เกิด social enterprise เชื่อมโยงเครือข่ายและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยการมองหาโอกาสจากความขาดแคลนและพัฒนาให้เกิดเป็นธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งจากภายในและภายนอกพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่จะสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรม ที่สามารถพัฒนาไอเดียให้เกิดเป็นธุรกิจและเกิดกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ โดยภาครัฐมีหน้าที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายและเป็นระบบนิเวศ รวมถึงแนวทางการขจัดความยากจนแบบตรงจุด จากการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล เพื่อพัฒนานโยบายนวัตกรรมขจัดความยากจน รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรมาใช้พัฒนาพื้นที่พัฒนาประเทศ 

 

การขับเคลื่อนด้านนโยบายในส่วนอื่นๆ ยังมีแนวทางการสร้างทักษะใหม่ (new skill) สนับสนุนเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง (lifelong learning) มีการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการupskill/reskill/new skill เพื่อผลิตกำลังคนรองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้ได้ตามเป้าหมาย 100,000 คนต่อปี

ตัวอย่างนโยบายที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน เช่น การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564, มาตรการ Thailand Plus Package การรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงและการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (STEM), ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม แม่โขง-ล้านช้าง Route No.1 Innovation Economic Corridor เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้ากลุ่มคลัสเตอร์เป้าหมายในเส้นทางที่เชื่อมโยงกับประเทศใกล้เคียง, กองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) ที่ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนสนับสนุนทุนด้านนวัตกรรมให้แก่ SME กลไกสนับสนุนการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ (higher education sandbox) ส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการมากยิ่งขึ้น ผ่านการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา, การปรับระบบการให้ทุน ววน. มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริม ววน. ในการจัดสรรงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) เพื่อนำไปสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย รวมถึงภาคเอกชนหรือหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเข้ากองทุน ววน. ไปแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับการจัดสรร 14,000 ล้านบาท หลังจากนี้ต้องดูว่าในกองทุนอื่นๆ ที่มีอยู่ จะทำความร่วมมือเพื่อนำเม็ดเงินมาลงในเรื่องการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร

 

สุดท้าย ยังมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านงบประมาณ เช่น การบริหารกองทุนส่งเสริม ววน. โดยมีหลักการเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณแบบ multi-year และ block grant

2.ด้านการบริหารจัดการ เช่น การจัดทำผังโครงสร้างข้อมูลด้าน ววน. เพื่อการติดตามนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน.

3.ด้านโครงสร้างระบบหน่วยงาน เช่น การจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านภายใต้สภานโยบาย (บพค., บพข., บพท.)

4.ด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม เช่น มาตรการสนับสนุนทุนแก่ภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาด (Thailand Business Innovation Research หรือ TBIR) เป็นต้น

สอวช.วางเป้าใหญ่ R&D เงินลงทุนโต 2%GDP ภายใน 10 ปี

logoline