svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กมธ.พิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับเสร็จแล้วยื่นปธ.รัฐสภา 24 พ.ค.นี้

19 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กมธ.พิจารณากฎหมายลูกเสร็จแล้ว เตรียมยื่นประธานรัฐสภา 24 พ.ค.นี้ คาดบรรจุเข้าระเบียบวาระประชุม 9-10 มิ.ย. เผย 7 ข้อจุดเด่น 2 ร่าง เพิ่ม-ลดเงื่อนไขให้พรรคการเมือง

19 พฤษภาคม 2565 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ที่ประชุมกมธ. ได้พิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งคาดว่าในวันที่ 24 พ.ค.นี้ จะนำร่างทั้งสองฉบับ ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งคาดว่าจะสามารถนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ระหว่างวันที่ 9-10 มิ.ย. ในวาระ 2 และ 3 ได้ 

 

กมธ.พิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับเสร็จแล้วยื่นปธ.รัฐสภา 24 พ.ค.นี้

 

สำหรับ จุดเด่นของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มี 7 ประเด็นสำคัญ คือ 

 

1.หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กมธ.มีมติให้เป็นแบบต่างเขต ต่างเบอร์ และคนละเบอร์กับแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นไปตามร่างของรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบบเขตก่อน จึงจะส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ และกระบวนการรับสมัครของเขตเลือกตั้ง จะมีขึ้นก่อนการรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งพรรคใดมาสมัครก่อนก็ได้เบอร์ก่อน 

2.การแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งทาง กกต. ต้องแบ่งประเทศออกเป็น 400 เขตเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 83 ที่ให้มี ส.ส.เขต 400 คน จึงต้องแบ่งประเทศออกเป็น 400เขต ในชั้นกมธ.จึงได้เพิ่มข้อความเพื่อให้เกิดความยุติธรรม เพราะในอดีตมีข้อร้องเรียนว่า การแบ่งเขตนั้นมีความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง ซึ่งในจังหวัดเดียวกันที่มีหลายเขต ผลต่างของจำนวนประชากรต่างไปจากจำนวนเฉลี่ยของประชากรในแต่ละเขตของจังหวัดนั้น ไม่ได้เกินร้อยละ10

 

ถ้าจังหวัดหนึ่งมี 3 เขต จำนวนประชากรของแต่ละเขตต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ย โดยค่าเฉลี่ยนั้นหาจากจำนวนประชากรทั้งจังหวัดก่อน ว่ามีค่าเฉลี่ยของแต่ละเขตเท่าใด และเมื่อแบ่งเขตต้องมีประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยประชากรทั้งจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

 

3.การเพิ่มกรรมการประจำหน่วยเป็น 9 คน แบ่งเป็นกรรมการ 8 คน ประธานกรรมการ 1 คน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีก 2 คน ซึ่งกฎหมายเดิมให้มีกรรมการประจำหน่วยแค่ 5 คน เหตุที่ต้องเพิ่มจำนวนกรรมการประจำหน่วย เพราะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีหีบเลือกตั้ง 2 แบบ การนับคะแนนต้องนับ 2 กระดาน และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน 

 

4.การเพิ่มการนับคะแนนนอกราชอาณาจักร เพราะมีประชาชนคนไทยที่ไปอาศัยในต่างประเทศ ที่ผ่านมาระบบในการนับคะแนนต้องส่งบัตรเลือกตั้งกลับมาที่เมืองไทย และบัตรต้องกลับมาถึงก่อนเวลา 17.00 น. ของวันเลือกตั้ง หากมาถึงล่าช้ากว่ากำหนด จะกลายเป็นบัตรเสีย ซึ่งกมธ.พิจารณาแล้ว มีมติว่าถ้าประเทศใดที่กระทรวงการต่างประเทศและ กกต. มีความพร้อม สามารถให้นับที่ประเทศนั้นๆ ได้ เพื่อไม่ให้ประชาชนเสียสิทธิในการเลือกตั้ง

5.ในขณะนับคะแนนประชาชนผู้ร่วมสังเกตการณ์ สามารถบันทึกภาพและเสียงการนับคะแนน โดยไม่ขัดขวางการทำงานของคณะกรรมการประจำเขต และคณะกรรมการประจำเขตต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้สังเกตการณ์นั้นด้วย

 

6.ผลการนับคะแนนรายหน่วย ในอดีตให้มีการปิดประกาศไว้ที่หน้าหน่วยการเลือกตั้งนั้นๆ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่สะดวกในการสืบค้น ดังนั้น กมธ.จึงเขียนไว้ว่า คณะกรรมการรายหน่วยต้องเผยแพร่ผลการนับคะแนนรายหน่วย บนเว็บไซต์ของ กกต. ประจำจังหวัด ภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากการปิดหีบเลือกตั้งเพื่อความโปร่งใส ทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่าย 

 

7.การคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คณะ กมธ. มีมติให้ใช้ 100 หาร และเป็นการนับคะแนนแบบคู่ขนาน คือ ใครได้คะแนนเขตมากที่สุด ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตนั้น ส่วนบัตรบัญชีรายชื่อก็นับรวมทั้งประเทศโดยเอาผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศมาใช้ หาร 100 เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ซึ่งคาดว่าประมาณ 350,000-370,000 คะแนน ที่จะใช้มาคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ส่วนการปัดเศษอาจจะเกิดขึ้น เพราะมีเศษเหลือจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าการปัดเศษนี้ น่าจะเป็น 100,000 คะแนนที่จะได้ ส.ส.ปัดเศษต่อ 1 คน ซึ่ง กมธ. เสียงข้างน้อยขอสงวนคำแปรญัตติ ไปอภิปรายในวาระ 2 ต่อไป

 

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะมี 7 ประเด็นสำคัญ คือ 

 

1.อัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าบำรุงพรรครายปีของสมาชิกพรรคนั้นจากเดิมที่เคยเก็บ 100 บาท กมธ.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมปีละ 20 บาท

 

2.อัตราค่าธรรมเนียมสมาชิกพรรคตลอดชีพ ของสมาชิกพรรคนั้นจากเดิมที่เคยเก็บ 2,000 บาท กมธ.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมปีละ 200 บาท

 

3.ลดคุณสมบัติของสมาชิกพรรค เดิมคุณสมบัติของสมาชิกพรรคเทียบเคียงกับผู้ก่อตั้งพรรค หรือผู้สมัคร ส.ส. โดย กมธ.พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้ลดลง

 

4.การตั้งตัวแทนพรรคการเมืองให้ตั้งตามที่พรรคเห็นสมควร

 

5.การตั้งสาขาพรรค เดิมต้องมีสาขาพรรคในเขตที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งกมธ.ได้เปลี่ยนเป็นต้อง มีสาขาพรรคในจังหวัดที่พรรคส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อผ่อนคลายความเครียดให้กับพรรคการเมือง

 

6.การจัด ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนั้น กมธ.กำหนดว่าต้องคำนึงถึงภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมของผู้หญิงและผู้ชาย 

 

7.เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การทำ primary vote ไม่ว่าจะเป็นการทำ primary vote แบบเขต หรือ primary vote แบบบัญชีรายชื่อ ให้มีการประชุมพรรคระดับจังหวัด ให้ความเห็นชอบกับรายชื่อที่กรรมการสรรหาของพรรคจัดมา เมื่อพิจารณาเสร็จให้ส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคตัดสินเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้การทำ primary vote สะดวกมากขึ้น หากจังหวัดใด ไม่มีสาขาพรรคก็สามารถไปร่วมประชุมกับจังหวัดใกล้เคียงที่มีสาขาพรรคเพื่อรักษาสิทธิ์ของตนได้

logoline