svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

อ่านทาง"ปริญญ์"ขู่ฟ้องกลับ...ขยับเพื่ออะไร? 

04 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ขยายความจากท่าทีล่าสุดของ "ปริญญ์ พานิชภักดิ์" ที่ออกมาจะปกป้องชื่อเสียงของตนเองและครอบครัว ด้วยการฟ้องกลับในข้อหา "แจ้งความเท็จ" และ "หมิ่นประมาท" กับผู้เกี่ยวข้องทุกคน ทำให้น่าพิจารณาต่อไปว่า เป้าหมายต่อไปคือใครกันบ้าง 

แต่การจะถอดรหัสนี้ได้ ต้องเข้าใจประมวลกฎหมายอาญาเรื่อง “แจ้งความเท็จ” เสียก่อน 

 

ความผิดฐานแจ้งความเท็จ บททั่วไป คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 บัญญัติว่า "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ" 

 

ดูจากมาตรา 137 หาก "ปริญญ์" มีหลักฐานชัดว่า คนที่แจ้งความกล่าวหาตนเอง ใช้ข้อมูลเท็จมาเป็นหลักฐาน หรือกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน ก็อาจเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรานี้ แต่จะเห็นว่าโทษไม่สูงนัก แค่จำคุกไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น

 

อ่านทาง"ปริญญ์"ขู่ฟ้องกลับ...ขยับเพื่ออะไร? 

 

แต่ความผิดฐาน "แจ้งความเท็จ" มี "บทเฉพาะ" ที่ลงรายละเอียดในพฤติการณ์มากกว่า "บททั่วไป" ได้แก่

 

มาตรา 172 "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับ "ความผิดอาญา" แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

 

จะเห็นได้ว่า มาตรานี้โทษจะสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และจำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับ "ความผิดอาญา" ซึ่งก็ดูแล้วตรงกับเรื่องราวของปริญญ์

 

อ่านทาง"ปริญญ์"ขู่ฟ้องกลับ...ขยับเพื่ออะไร? 

มาตรา 173 "ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท"

 

มาตรานี้ลงลึกไปอีกว่า ไม่มีความผิดอาญาเกิดขึ้นเลย แต่ไปแจ้งตำรวจว่ามีการกระทำความผิด (คล้ายๆ ใส่ความ ใส่ร้าย) แบบนี้อัตราโทษจะสูงขึ้น เป็นคุกไม่เกิน 3 ปี 

 

อ่านทาง"ปริญญ์"ขู่ฟ้องกลับ...ขยับเพื่ออะไร? 

 

ขณะที่ มาตรา 174 วรรค 2 เป็นบทขยาย "หากเป็นการแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท" ยกตัวอย่างเช่น แค่ลวนลาม แต่ไปแจ้งเท็จว่ามีการข่มขืน เพราะข่มขืน โทษสูงกว่าลวนลาม แบบนี้ถ้าเป็นการแจ้งความเท็จ ก็จะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี 

 

นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตของการแจ้งความเท็จ 

 

1.การแจ้งความเท็จอาจทำได้โดย 

 

- การบอกกับเจ้าพนักงาน

 

- การตอบคำถามเจ้าพนักงาน เช่น ให้การเท็จในฐานะเป็นพยาน

 

- การแจ้งโดยวิธีแสดงหลักฐาน

 

อ่านทาง"ปริญญ์"ขู่ฟ้องกลับ...ขยับเพื่ออะไร? 

 

2.ข้อความที่แจ้งต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบัน หากเป็นเรื่อง "อนาคต" ไม่เป็นความเท็จ

 

3.การแจ้งความเท็จนั้น ผู้แจ้งต้องกระทำโดยเจตนา กล่าวคือ ต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงตามที่แจ้ง 

ส่วนการเตรียมฟ้องกลับในข้อหา "หมิ่นประมาท" เมื่อไปดูประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานนี้กันก่อน 

 

อ่านทาง"ปริญญ์"ขู่ฟ้องกลับ...ขยับเพื่ออะไร? 

 

มาตรา 326 "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" 

 

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา...(เผยแพร่ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ) ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

 

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ว่า 

 

-หากเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือ ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท 

 

อ่านทาง"ปริญญ์"ขู่ฟ้องกลับ...ขยับเพื่ออะไร? 

 

พูดง่ายๆ คือ สำหรับสื่อมวลชน หรือแม้แต่การใช้สื่อสังคมออนไลน์ หากเป็นการติชมโดยสุจริต ก็ไม่ผิดฐานนี้ 

 

จากข้อกฎหมายที่ไล่เรียงมา เราพอจะตีกรอบบุคคลที่อยู่ในเป้าหมายถูกฟ้องกลับ และเป้าหมายของ "ปริญญ์" ในการดำเนินการทางกฎหมายรอบนี้ได้หลายประการ กล่าวคือ 

 

1.กลุ่มที่ออกมาแจ้งความดำเนินคดีโดยไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอ อาจจะมีบางคนกุเรื่องขึ้นมา หรือแจ้งความเกินจริง (ในมุมของปริญญ์) หรือแจ้งความช้า เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นนานแล้ว สุดท้ายหาหลักฐานไม่ได้ กลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงถูกฟ้องกลับมากที่สุด 

 

เป้าหมายก็เพื่อจำกัดจำนวนผู้เสียหายให้น้อยที่สุด และไม่ให้กระทบกับบางคดีที่เป็นคดีหลัก ซึ่งผู้เสียหายบางรายอ้างว่ามีหลักฐานตามสมควร

 

2.กลุ่มที่ออกมาเปิดตัวให้สัมภาษณ์สื่อ หรือโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีทั้งผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้เสียหาย และนักกฎหมาย หรือทนายบางคนที่ออกมาเคลื่อนไหว กลุ่มนี้มีสิทธิ์โดนฟ้องกลับฐานหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา 

 

เป้าหมายก็เพื่อหยุดการไขข่าวผ่านสื่อ ซึ่งก็ทำไปเพื่อเป้าหมายสุดท้ายของตนเอง คือ ปกป้องชื่อเสียงของตนเองและครอบครัว จำกัดความเสียหายไม่ให้ร้ายแรงไปกว่นี้ 

 

สาเหตุที่ต้องเร่งใช้มาตรการทางกฎหมายโต้กลับในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อหยุดความเสียหายที่เกิดกับตน เพราะหากรอให้คดีที่ถูกแจ้งความเอาไว้ ดำเนินไปถึงที่สุด อาจจะช้าเกินไป และทำให้ชื่อเสียงเสียหายจนอาจเรียกคืนกลับมาไม่ได้ 

 

อ่านทาง"ปริญญ์"ขู่ฟ้องกลับ...ขยับเพื่ออะไร? 

 

และการใช้มาตรการทางกฎหมายตั้งแต่ในชั้นนี้ ก็จะสามารถแยกกลุ่มผู้เสียหายจริง ออกจากผู้เสียหายผสมโรงได้ ซึ่งงานนี้ก็ต้องดูกันต่อไปว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร และสังคมจะว่าอย่างไรกับการตัดสินใจของ "ปริญญ์ พานิชภักดิ์"

logoline