svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประภัสร์" ผิดหวัง ผู้ว่ารฟท. ยืมมือคนนอกทวงคืนที่ดินการรถไฟเขากระโดง

13 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟ โพสต์ผิดหวัง ผู้ว่ารฟท.คนปัจจุบันตั้งโต๊ะแถลงยืมมือคนนอกทวงคืนที่ดินการรถไฟเขากระโดง บุรีรัมย์

 

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 65  นายประภัสร์  จงสงวน  อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยและอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ   ได้โพสต์ข้อความ แสดงความเห็น ต่อกรณีที่นายนิรุฒ มณีพันธ์  ผู้ว่าการรถไฟฯคนปัจจุบัน  ออกมาแถลงแนวทางแก้ไขปัญหาการทวงคืนที่ดินการรถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 

นายประภัสร์  จงสงวน  อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

โดยนายประภัสร์    โพสต์ว่า  เมื่อวานได้ฟังคำแถลงข่าวของผู้ว่าการรถไฟฯกรณีเขาประโดงแล้วรู้สึกผิดหวังจริงๆ และเข้าใจแล้วว่าทำไมพนักงานที่รักและหวงแหนสมบัติของการรถไฟจึงต้องไปขอความช่วยเหลือและความเป็นธรรมจากบุคคลภายนอกเพื่อทวงคืนที่ดินเขาประโดง...

 

อยากฝากข้อคิดไปถึงผู้ที่ลืมหน้าที่ของตนที่มีต่อองค์กรว่า การไปกราบไหว้เสด็จพ่อร.5แต่ไม่เคยทำอะไรเพื่อปกป้ององค์กรที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นมาแต่กลับยอมด้อยค่าองค์กรเพียงเพื่อให้สมประโยชน์ของผู้ที่เห็นการรถไฟเป็นขนมก้อนใหญ่ก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างภาพที่สักวันทุกคนก็จะเห็นตัวตนที่แท้จริง อย่าลืมว่าคุณอาจโกหกคนทุกคนได้บางขณะแต่คุณไม่มีวันโกหกคนทุกคนได้ตลอดเวลาและตลอดไป...

 

สุดท้ายที่ทนายสกลชัยเขาเตือนมา ควรพิจารณาอย่างมีสติ...ว่าที่ทำอยู่มันถูกต้องจริงหรือ?

 

ขณะที่ นายสกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายอิสระ ที่ได้ยื่นเรื่องตรวจสอบที่ดินเขากระโดงต่อกมธ.ป.ป.ช.ได้โพสตข้อความแสดงความเห็น ภายหลัง ผู้ว่าการรถไฟออกมาชี้แจงด้วยว่า

วันนี้ได้ฟังการแถลงของท่านนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว สรุปสั้นๆได้ดังนี้

 

นายสกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายอิสระ

 

1. ที่ออกมาแถลงข่าววันนี้เพราะท่านอ้างว่ามีทนายอิสระไปยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องที่ดินเขากระโดง (ซึ่งน่าจะหมายถึงผม) จึงต้องออกมาชี้แจง 

 

2. ยอมรับว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟจริง ซึ่งทั่วประเทศมีทั้งหมดประมาณ 1,000 กว่าราย โดยแบ่งเป็นของพื้นที่เขากระโดงประมาณ 900 กว่าราย

 

3. บุคคลที่ออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินของการรถไฟไม่ถือว่าเป็นผู้บุกรุก การรถไฟจึงไม่อยากไปฟ้องร้องขับไล่บุคคลเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือชาวบ้านทั่วไปก็ตาม (โถ… พ่อพระ )

 

4. เมื่อไม่อยากฟ้องผู้ที่ถือเอกสารสิทธิ์ การรถไฟจึงไปฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ของการรถไฟ แต่ไม่บอกว่าถ้าศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนแล้ว จะดำเนินการอย่างไรต่อไป (อิหยังวะ )

 

นอกจากนั้นก็จับประเด็นอะไรไม่ได้แล้ว เพราะมีแต่น้ำ แล้วก็พูดอะไรไม่รู้เรื่อง บลา บลา บลา

 

ผมอยากจะบอกท่านว่า ข้อมูลที่ท่านพูดมานั้นขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหลายเรื่อง และแนวทางการแก้ปัญหาของท่านก็เป็นการลอยตัวอยู่เหนือปัญหา โยนภาระไปให้หน่วยงานอื่นๆ ไม่ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยอยากโต้ตอบผ่านทางโซเชียลเท่าไหร่เพราะมันเสียเวลาโต้กันไปโต้กันมา เอาไว้ไปเจอกันที่คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. เลยดีกว่า

 

แต่ผมก็อยากจะขอแชร์ประสบการณ์ที่ได้จากการลงพื้นที่จริงและพูดคุยกับชาวบ้านจริง เผื่อท่านจะได้ไอเดียไปหาทางแก้ปัญหาดูครับ

 

ยายเมี้ยน (นามสมมติ) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่เขากระโดงให้ข้อเท็จจริงกับผมว่า “ทุกวันนี้คนที่อยู่ที่นี่เค้ารู้กันทั้งนั้นว่าที่ดินบริเวณนี้เป็นของการรถไฟ โฉนดที่ออกมาก็เป็นการออกโดยไม่ชอบมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่เค้าก็ไม่กลัวการรถไฟมาเอาที่คืนหรอก เพราะจะไปกระทบกับนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ ในเมื่อนักการเมืองใหญ่ยังอยู่ได้ เค้าก็ต้องอยู่ได้เหมือนกัน” 

 

ยายเมี้ยนยังให้ความเห็นเชิงวิชาการเพิ่มเติมอีกว่า “ถ้าการรถไฟจะเอาที่ดินเขากระโดงคืนก็ง่ายนิดเดียว แค่ฟ้องนักการเมืองใหญ่ให้เป็นบรรทัดฐานแค่คดีเดียว ถ้าศาลพิพากษาให้การรถไฟชนะคดี ชาวบ้านแถวนี้เค้าก็ยินดีคืนที่ให้การรถไฟเอง ไม่ต้องไปไล่ฟ้องทุกรายหรอก”

 

ยายเมี้ยนยังฝากคำแนะนำไปถึงผู้มีอำนาจของการรถไฟด้วยว่า “ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่เค้าก็อยากจะอยู่อาศัยโดยถูกต้องตามกฎหมายและสบายใจนะ ถ้าการรถไฟจะให้คนลงพื้นที่มาทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าที่ดินเป็นของการรถไฟ และให้ชาวบ้านทำสัญญาเช่าที่กับการรถไฟโดยตรง เค้าก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีคนของการรถไฟมาลงพื้นที่จริง ไม่เคยมาพูดคุยกับชาวบ้านจริงถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเลย แล้วแบบนี้จะไปแก้ปัญหาให้ถูกจุดได้ยังไง”

 

พูดเสร็จ ยายเมี้ยนก็ซื้อลูกชิ้นยืนกินให้ผม 7 ไม้ (ไม้ละ 3 บาท 7 ไม้ 20 บาท) แล้วก็ร่ำลากัน

 

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะให้ท่านลองเปิดใจรับฟังยายเมี้ยนดูหน่อยก็ดีนะครับ เพราะท่านก็น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า มีบุคคลซึ่งเป็นตระกูลนักการเมืองใหญ่ ได้ถูก ป.ป.ช. และ สำนักงานอัยการสูงสุด มีมติแล้วว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟ และให้การรถไฟไปดำเนินการกับผู้บุกรุกดังกล่าว  แต่ถึงวันนี้ท่านยังไม่ได้ดำเนินการอย่างไรกับบุคคลนั้นเลย โดยท่านอ้างว่า ป.ป.ช. ไม่เคยมีมติดังกล่าว (เรื่องนี้ผมเป็นห่วงท่านจริงๆ เพราะมีเอกสารมัดตัวท่านชัดเจนมาก)

 

ส่วนการที่ท่านอ้างว่าไม่อยากมีข้อพิพาทกับชาวบ้าน มันเหมือนเป็นการเอาชาวบ้านมาเป็นเครื่องกำบังให้บุคคลตระกูลนักการเมืองใหญ่ที่ถูกชี้ว่ามีความผิดแล้ว  ซึ่งท่านอย่าลืมว่าจะต้องชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ด้วยนะครับ จะหาว่าผมไม่เตือน

 

"ทนายความผู้ศรัทธาในตัวยายเมี้ยน" 

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 65   นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย แถลงโต้ปมการพิพาทที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ หลังมีทนายความอิสระ และ ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย ตั้งข้อสังเกตรวมถึงยื่นเรื่องร้องเรียนต่อประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาฯ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

นายนิรุฒ ยืนยันว่าที่ผ่านมาการรถไฟฯ ดำเนินการทวงคืนพื้นที่ทั้งในส่วนของผู้บุกรุก และส่วนของผู้ที่ออกเอกสารสิทธิทับซ้อนพื้นที่การรถไฟตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่การดำเนินการระหว่างผู้บุกรุกและผู้ที่ออกเอกสารสิทธิทับซ้อนพื้นที่การรถไฟ ไม่สามารถดำเนินการเหมือนกันได้

การรถไฟฯ ดำเนินการกับผู้บุกรุกด้วยการฟ้องแพ่งเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมกับการเจรจรให้เช่าพื้นที่เพื่อให้การอยู่อาศัยของประชาชนที่บุกรุกเป็นไปอย่างถูกต้อง และการรถไฟฯ ก็ยังมีรายได้จากส่วนนี้

 

ต่างจากการดำเนินการในส่วนของผู้ออกเอกสารสิทธิทับซ้อนพื้นที่การรถไฟที่ต้องยื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่าการครอบครองที่ดินโดยการออกเอกสารสิทธิ์โดยเฉพาะเขากระโดงจังหวัดบุรีรัมย์ออกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากการออกโฉนดที่ดินของชาวบ้านหรือแม้แต่ครอบครัวของนักการเมืองออกโดยหน่วยงานรัฐ

 

 

และการที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการถ่วงเวลาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองหรือไม่  ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยยืนยันว่าดำเนินการบนพื้นฐานเดียวกันคือไม่ฟ้องขับไล่ประชาชน ซึ่งนักการเมืองก็ถือเป็นประชาชนเช่นเดียวกัน และการรถไฟก็จะไม่รังแกประชาชน

logoline