svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วิกฤตศรีลังกาเหมือนคลื่นปฏิวัติอาหรับสปริง

07 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในศรีลังกาขณะนี้กำลังถูกจับตาว่าเหมือนกับคลื่นปฏิวัติโค่นล้มผู้นำเผด็จการ "อาหรับสปริง" ในปี 2553

ภาพผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนบนท้องถนนและตะโกนขับไล่ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีโดยไม่หวาดกลัวต่อคำสั่งประกาศภาวะฉุกเฉินในศรีลังกา ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนกำลังเปรียบเทียบว่าสถานการณ์คล้ายคลึงกับการปฏิวัติ "อาหรับสปริง"

 

อาซันกา อาเบยากูนาสิเกรา นักวิจัยในโครงการมิลเลนเนียม ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า การปฏิวัติอาหรับสปริงกำลังเกิดขึ้นในศรีลังกา สถานการณ์ในขณะนี้มีปัจจัยหลายอย่างเหมือนกัน คือ การลุกฮือของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้ยุติการปกครองแบบเผด็จการ การบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด การปกครองโดยคนจากตระกูลเดียว และการเรียกร้องประชาธิปไตย 

 

ผู้ประท้วงตะโกนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีและนักกการเมืองตระกูลราชปักษาลาออกในการชุมนุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565

 

นอกจากนี้ชูลานี อัตตานายาเก นักวิจัยของสถาบันศึกษาเอเชียใต้ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มองเหมือนกันว่า อาหรับสปริงเหมือนกับวิกฤตในศรีลังกาเวลานี้ คือ มีชนวนเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจและการคอร์รัปชันในตูนิเซีย 

 

อาหรับสปริงเป็นการประท้วงที่เริ่มขึ้นจากการประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวเองของพ่อค้าคนหนึ่งในตูนิเซียเมื่อปี 2553 และนำไปสู่การประท้วงต่อต้านเผด็จการและการคอร์รัปชันในโลกอาหรับครอบคลุมหลายชาติในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ทั้งในตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และซีเรีย ทำให้สามารถโค่นล้มผู้นำเผด็จการได้ถึง 4 คน รวมถึงประธานาธิบดีฮอสนี มูบารักของอียิปต์ 

 

 

ผู้ประท้วงชุมนุมใกล้บ้านพักประธานาธิบดีในกรุงโคลอมโบเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2565

 

ขณะที่ตระกูลราชปักษาปกครองศรีลังกามานานหลายสิบปี ก่อนพ้นอำนาจไป และกลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดีโคตาบายา ราชปักษาได้รับเลือกตั้งในปี 2562 และมหินทา ราชปักษา พี่ชายชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2563 ส่วน บาซิล ราชปักษา น้องชายเป็นรัฐมนตรีคลัง และแม้ประธานาธิบดีเผชิญข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน แต่ฟางเส้นสุดท้ายของกระแสความไม่พอใจ คือ การบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด 

 

ศรีลังกามีภาระหนี้ต่างประเทศสูงถึง 51,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง 4,000 ล้านดอลลาร์มีกำหนดชำระภายในปีนี้ ขณะที่มีสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง 70% ตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 ทำให้ไม่มีเงินพอนำเข้าสินค้าจำเป็น รวมถึง อาหาร และเชื้อเพลิง จนเกิดการขาดแคลนเชื้อเพลิง และนำไปสู่การตัดไฟวันละ 13 ชม

 

ชาวศรีลังกาต้องอยู่กับความมืดจากการถูกตัดไฟนานวันละ 13 ชม.

 

ขณะที่ ฟง สิว นักเศรษฐศาสตร์ของคลังสมองอิโคโนมิก อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ไม่เห็นด้วยว่าวิกฤตในศรีลังกาเหมือนกับอาหรับสปริง  โดยบอกว่า ชนวนของอาหรับสปริงเป็นปัญหาสั่งสมมานานหลายปี แต่กระแสความไม่พอใจในศรีลังกาเริ่มจากการระบาดของโควิด-19 และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด 

 

ชาวศรีลังกาต่อคิวซื้อน้ำมันก๊าดท่ามกลางปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อวันที่ 21 มี.ค.

 

 

 


อัตตานายาเก บอกว่า เหตุการณ์ในเวลานี้สะท้อนว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่นในผู้นำทางการเมือง หมดความอดทน และผิดหวัง และไม่ต้องการอดกลั้นต่อการบริหารที่ล้มเหลวและความผิดพลาดใด ๆ อีกแล้ว 

 

รัฐมนตรีทั้งคณะ 26 คนลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งรวมถึง นามาล ราชปักษา ลูกชายของนายกรัฐมนตรีมหินทา ราชปักษา เพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพ ที่รวมพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคด้วย แต่ตัวนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีไม่ลาออก ทำให้ประชาชนยังเดินหน้าประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดี  และพรรคฝ่ายค้านก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอตั้งรัฐบาลเอกภาพ 

 

เวลานี้ดูเหมือนว่า ผู้ประท้วงไม่ยอมต่อรองใด ๆ แล้ว นอกจากต้องการให้ตระกูลราชปักษาออกไปจากอำนาจให้หมด 

 

 

ผู้ประท้วงชุมนุมใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโคลอมโบเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ในช่วงขาดแคลนน้ำมัน ราคาอาหารพุ่งสูง

 

 

logoline