svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เจาะความคิด นศ. Gen Z เลือกใครเป็น"ผู้ว่าฯกทม2565"

01 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม2565 หนนี้ มีการพูดถึงคะแนนของ "คนรุ่นใหม่" และ new voters หรือ First time voters มากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการก่อกำเนิดของพรรคก้าวไกล หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ปฏิเสธขนบเดิม จนโดนใจวัยรุ่น และคนอยากเปลี่ยนแปลง 

 

ตัวเลขเยาวชน หรือ คนรุ่นใหม่ที่อายุเพิ่งครบ 18 ปี และมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้หนแรก อยู่ที่ราวๆ 6.1 หมื่นคน แต่ถ้าย้อนไปถึงปี 56-57 ที่เรียกว่า First time voters จะมีถึง 7 แสนคน คะแนนก้อนนี้ถ้าใครได้ไป ก็แทบจะกลายเป็นผู้ชนะไปเลย เพราะประเมินกันว่า การแข่งขันหนนี้ ผู้สมัครตัดคะแนนกันเองเยอะ และมีคนดี-เด่น-ดัง มาชนกันหลายคน คะแนนผู้ชนะน่าจะอยู่ราวๆ 9 แสนคะแนนก็ลอยลำ นี่คือความสำคัญของเสียงจากคนรุ่นใหม่ 

 

ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้ทำแบบสอบถามสำรวจแนวโน้มการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยสอบถามทางออนไลน์เฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน ซึ่งเป็นคนรุ่น Gen Z โดยเฉพาะ เพื่อประเมินแนวโน้มความนิยมในตัวผู้สมัครของกลุ่ม new voters ว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม2565 

 

เจาะความคิด นศ. Gen Z เลือกใครเป็น"ผู้ว่าฯกทม2565"

 

ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. อิสระ มาอันดับหนึ่ง ด้วยความนิยมร้อยละ 37.3 

 

ขณะที่ ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล มาเป็นอันดับสอง ด้วยความนิยมร้อยละ 23.9 ซึ่งคะแนนของ ดร.วิโรจน์ เป็นที่น่าสนใจยิ่งเนื่องจากเปิดตัวได้เพียงไม่นาน แต่ในกลุ่ม Gen Z กลับให้ความนิยมถึงระดับนี้ จึงถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งของ ดร.ชัชชาติ เพราะยังมีเวลาหาเสียงอีกร่วมสองเดือนสำหรับฐานเสียง new voter 

 

ส่วนผู้สมัครอีกรายอย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ ที่ได้ร้อยละ 9.7 มีคะแนนมากกว่ากลุ่มผู้สมัครที่เหลือ ได้แก่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย และ นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ  

 

แต่ที่น่าสนใจมากกว่า คือ ยังมีกลุ่ม new voters ที่ตอบแบบสำรวจมาว่า "ยังไม่ตัดสินใจ" มากถึงร้อยละ 17.9 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ดังนั้น หากผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. คนใดใช้แนวทางการหาเสียงที่ถูกอกถูกใจเจาะกลุ่ม Gen Z ได้ในอีกสองเดือนข้างหน้า ย่อมช่วงชิงฐานคะแนนอีกร้อยละ 17.9 ที่ยังไม่ตัดสินใจในขณะนี้มาได้ ซึ่งย่อมสร้างความได้เปรียบกับผู้สมัครคนนั้นเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง

 

เจาะความคิด นศ. Gen Z เลือกใครเป็น"ผู้ว่าฯกทม2565"

ส่วนจะมียุทธศาสตร์การหาเสียงอย่างไรนั้น จากผลการสำรวจในข้อต่อมาที่ถามถึง "เหตุผลในการเลือกผู้สมัครท่านใดเป็นผู้ว่า กทม." โดยผลการสำรวจพบว่า เหตุผลในการเลือกผู้สมัครที่ชื่นชอบ เรียงตามลำดับคะแนน ดังนี้

 

1.ชอบนโยบาย ร้อยละ 27.6

 

2.ชอบตัวบุคคล ร้อยละ 15.7 

 

3.ชอบความเป็นอิสระ ร้อยละ 12.7 

 

4.ชอบเพราะมีแนวโน้มอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ร้อยละ 10.4  

 

5.ชอบผลงานที่ปรากฏทางสื่อที่ผ่านมา ร้อยละ 9.7 

 

6.ชอบพรรคการเมืองที่สังกัด ร้อยละ 6 

 

7.ชอบเพราะมีแนวโน้มอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล 

 

8. เหตุผลอื่น ๆ 17.9 

 

ดังนั้น ผู้สมัครจึงต้องเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมตามแต่ละสถานการณ์ที่เหมาะกับลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เพื่อช่วงชิงฐานคะแนน new voters รุ่น Gen Z ในช่วงอีกสองเดือนข้างหน้านี้มาให้ได้ ซึ่งถือว่ายังพอมีเวลาปรับกลยุทธ์พอสมควร

logoline