svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูลป่วย"โอมิครอน"แล้ว อัตราติดซ้ำสูงแค่ไหน?

29 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี คลายข้อสงสัย หากติด "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.1 จะติดสายพันธุ์ย่อย BA.2 อีกหรือไม่ พร้อมข้อมูลอัตราความเสี่ยงสูงแค่ไหน

29 มีนาคม 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก “Center for Medical Genomics” ระบุถึงข้อมูลหากติดเชื้อโควิด-19 "โอมิครอน" ในห้วข้อ "เรามีโอกาสจะติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2” ซ้ำหลังจากติดเชื้อ “BA.1” ได้หรือไม่?" มีเนื้อหาดังนี้

 

ข้อสงสัยในกรณีที่ เรามีโอกาสจะติดเชื้อ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย “BA.2” ซ้ำ หลังจากติดเชื้อ “BA.1” ภายใน 1 เดือนได้หรือไม่?

คำตอบคือ เกิดขึ้นได้ แต่พบไม่บ่อย "เพียงร้อยละ 0.126" หรือ 1 ใน 1,000

 

โดยมีรายงานจากหลายประเทศในยุโรบถึงการติดเชื้อซ้ำในลักษณะนี้ว่าไม่พบอาการรุนแรงในผู้ติดเชื้อซ้ำ ที่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. หรือเสียชีวิต

 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูลป่วย"โอมิครอน"แล้ว อัตราติดซ้ำสูงแค่ไหน?

มีการศึกษาการติดเชื้อซ้ำในประชากรประเทศเดนมาร์ก ระหว่าง 22 พ.ย.64 - 11 ก.พ.65 จากผู้ติดเชื้อจำนวน 1.8 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่ติดเชื้อ BA.1 พบว่า มีการติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 ภายหลังจากหายจากการติดเชื้อครั้งแรก (BA.1) ภายในระยะเวลา 20-60 วัน คิดเป็น "ร้อยละ 0.126" 
 

ผู้ติดเชื้อซ้ำ (BA.1 > BA.2) ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ไม่พบผู้ติดเชื้อ BA.2 ครั้งแรกแล้วกลับมาติดเชื้อ BA.1 ซ้ัำ  ( ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่ )

 

สาเหตุที่มีการติดเชื้อซ้ำได้ เพราะทั้ง BA.1 และ BA.2 ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว หากเปรียบเทียบกับคนเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย คือ BA.1 และ B A.2 ไม่เหมือนกันทุกส่วนเหมือนเด็กแฝด (identical twin) แต่มีความเหมือนกันในระดับพี่น้องจากพ่อแม่เดียวกัน  บริเวณหนามบางส่วนจะมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน (ตามภาพ 1)

 

  • BA.1 บริเวณหนามกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.2 จำนวน 7 ตำแหน่ง
  • BA.2 บริเวณหนามกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.1 จำนวน 5 ตำแหน่ง

 

BA.1 บริเวณหนามกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.2

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่ได้จากการติดเชื้อ BA.1  ไม่อาจปกป้องการติดเชื้อจาก BA.2  ได้ 100 % (ภาพ 2-4)

 

ภาพที่ 2 - จากอดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการระบาดของ BA.1, ฺBA.1.1, และ BA.2 มาตามลำดับ

ภาพที่ 3 ช่วงเวลาที่มีการระบาดของ BA.1 และ ฺBA.2 ในประเทศไทย

ภาพที่ 4 - หลายประเทศในยุโรบจะมีการระบาดของ BA.1 มาก่อนและตามมาด้วย BA.2

 

ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ตรวจหาสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยเทคโนโลยี “Mass Array” ภายใน 24-48 ชั่วโมง ยังพบสัดส่วนของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย  BA.1 และ BA.2 ใกล้เคียงกัน (ภาพ 5) 

 

ภาพที่ 5 - ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯสามารถแยกสายพันธุ์ระหว่าง BA.1 BA.2 เดลตา ฯลฯ

 

จากการศึกษาในเดนมาร์กที่มีการระบาดของ BA.1 และติดตามมาด้วยการระบาด BA.2 จำนวนมากกว่า 1.8 ล้าน คน พบว่า..

  1. มีผู้ติดเชื้อ BA.1 (โอมิครอน สายพันธุ์หลัก) และตามมาด้วยการติดเชื้อซ้ำหรือ Re-infection” ด้วย BA.2 (โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย) หลังจากหายจากการติดชื้อโอมิครอน BA.1 (recovery) แล้ว 60 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก
  2. แสดงให้เห็นว่าผู้ติดเชื้อ BA.1 มีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ BA.2 ซ้ำ
  3. ผู้ที่ติดเชื้อ BA.2 ซ้ำที่มีจำนวนไม่มากนั้น ไม่มีคนใดต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. หรือเสียชีวิต
  4. ผู้ที่ติดเชื้อ BA.2 ซ้ำนั้นส่วนใหญ่ร้อยละ 89 ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และมีอายุน้อย (0-19 ปี)

 

สรุปว่า มีการติดเชื้อซ้ำจาก BA.2 หลังจากติดเชื้อ BA.1 ครั้งแรกได้ แต่พบได้ยาก และจะพบยากในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยผู้ติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 พบว่ามีอาการไม่รุนแรงต้องเข้า รพ. หรือเสียชีวิต

 

ขอบคุณข้อมูล : Center for Medical Genomics

 

logoline