svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำ IF ลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ไม่ให้ร่างกายพัง ซ้ำรอยเด็กอายุ 14 ที่โหม 23/1

26 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำ IF ลดน้ำหนักอย่างไรให้ถูกวิธี ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเด็กอายุ 14 ที่โหมโปรแกรม 23/1 สุดท้ายป่วยเจอภาวะเสี่ยงโรคธาลัสซีเมีย ไขมันในเลือดสูง ร่างกายไม่รับอาหารทุกชนิด

กรณีที่มีเด็กหญิง อายุเพียง 14 ปี ทำ IF  ด้วยการอดอาหาร 23 ชั่วโมง และกินอาหาร 1 ชั่วโมง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล สุดท้ายป่วยเจอภาวะเสี่ยงโรคธาลัสซีเมีย, ไขมันในเลือดสูง, ร่างกายไม่รับอาหารทุกชนิด  สร้างความตกใจให้กับวงการแพทย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวิธีการที่ผิดและอันตรายอย่างยิ่งต่อร่างกาย

 

จากกระแสข่าวดังกล่าว ทำให้คนกลับมาสนใจเรื่อง IF กันมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เป็นวิธีลดน้ำหนักที่นิยมกันมาก แต่จะทำอย่างไรถึงจะไม่เรียกว่าหักโหมจนเกินไป วันนี้นี้เรามีคำตอบมาฝาก

 

ทำ IF ลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ไม่ให้ร่างกายพัง ซ้ำรอยเด็กอายุ 14 ที่โหม 23/1

แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า IF กันเสียก่อน คืออะไร

 

IF ย่อมาจาก Intermittent Fasting ซึ่ง Intermittent แปลว่า ทำอะไรเป็นช่วงๆ ส่วน Fasting คือ การอดอาหาร เมื่อมารวมกันก็จะหมายความว่า "การอดอาหารในช่วงเวลาแต่ละวัน" โดยในแต่ละวันจะมีการแบ่งเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า Fasting การอด และก็ช่วง Feeding คือช่วงกิน

 

รูปแบบและหลักการของการทำ IF นั้น พอมีระบบที่ใช้ในการกินร่างกายก็จะได้รับพลังงานในรูปแบบที่สามารถคาดคะเนได้ง่ายขึ้น มีหลากหลายสูตรด้วยกัน เช่น

 

สูตรที่ 1 คือสูตร Lean Gains เป็นสูตรที่ได้รับความนิยมสูงมาก คือเป็นการอด 16 ชั่วโมง และกิน 8 ชั่วโมง หรือที่เรียกกันว่า 16/8 นอกจากสูตรนี้ก็ยังมีอีกหลายสูตรหลายวิธีด้วย

 

สูตรที่ 2 เป็นวิธีที่คล้ายคลึงกันและสามารถแบ่งออกได้เป็น 1 วัน คือแบบ Fasting คือช่วงที่ไม่กิน และ Feeding คือช่วงที่กิน ซึ่งก็มีหลายสูตรเหมือนกันที่จะเอาไปประกอบใช้ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำ 18/6 หรือ 20/4 แต่หลักๆแล้วจะเป็น Fasting แบบ 1 วันและทำทุกวันในแบบที่ต่อเนื่องกันไป

 

นอกเหนือจากการทำทุกๆวันแล้ว ยังอีกกลุ่มที่ทำวันเว้นวัน หรือที่เรียกว่า Alternate day Fasting หมายถึงการเริ่มทำ 1 วัน สลับกับการกินปกติ 1 วันที่ไม่ใช่เป็นการอด 1 วัน และอีกวันตามใจปากกินไม่สนโลกแบบนั้น ซึ่งการสลับวันก็ต้องดูแลและควบคุมด้วยว่ากินอะไรบ้างในแต่ละวัน นับได้ว่ามีการคอนโทรลในเรื่องของสารอาหารต่างๆด้วย

 

สูตรที่ 3 Eat Stop Eat เป็นการกินแบบ 5 วัน และทำแบบ Fasting 1-2 วัน/สัปดาห์

 

ทำ IF ลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ไม่ให้ร่างกายพัง ซ้ำรอยเด็กอายุ 14 ที่โหม 23/1

 

นพ.กรณ์ ฮูเซ็น แพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสมิติเวช ให้ข้อมูลไว้ ทำ IF อย่างไรจึงจะได้ผลดีต่อร่างกาย ประกอบด้วย (ข้อมูลสมิติเวช)


o การทำ Intermittent Fasting (IF) ให้ได้ผล ต้องไม่อดอาหารมากเกินไป หรือทานมากเกินไป และต้องงดขนมหวานอย่างเด็ดขาด ร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ


o วิธีการลดน้ำหนักแบบ IF แต่วิธีที่ได้รับความนิยมก็คือจำกัดเวลาทานอาหาร 8 ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง


o การทำ IF จะได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากทำการตรวจระดับวิตามิน แร่ธาตุในเลือด หรือระดับฮอร์โมนในร่างกาย ก่อนทำ
 
ปัจจัยที่ทำให้ ลดน้ำหนัก IF 16/8 ไม่สำเร็จ 
 
1. อดมากเกินไป โดยในช่วงที่ทานได้ 8 ชั่วโมง ควบคุมอาหารมากจนเกินไปจึงทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายจะเข้าสู่สภาวะจำศีล ลดการเผาผลาญลง และเก็บสะสมพลังงานมากขึ้นเป็นไขมัน ดังนั้นจึงควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยมี โปรตีน ไขมันดี คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และผักผลไม้ที่มีวิตามิน เกลือแร่ สรุปช่วงทานได้ควรทานของที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป


2. ทานมากเกินไป โดยจะทานอาหารเผื่อในช่วงที่อด เช่น ทานข้าว 2-3 จาน เพื่อเวลาอดอาหารจะได้ไม่รู้สึกหิว ในกลุ่มนี้มีความเข้าใจผิดเพราะในช่วงอดอาหารยังไงก็ต้องมีความหิวบ้างเล็กน้อย หากเราจะลดความอ้วนโดยที่ไม่มีความรู้สึกหิวเลย นั่นก็คงไม่ใช่การลดความอ้วนอย่างแน่นอน โดยส่วนตัวของหมอเองก็ทานอาหารเช้า และกลางวัน 1 จานต่อมื้อ ชนิดอาหารปกติ เป็นอาหารทั่วไป อาจจะมีผลไม้บ้างหลังอาหาร


3. ต้องงดขนมหวานอย่างเด็ดขาด เนื่องจากหากทำ IF (Intermittent Fasting) แล้วยังทานหวานจะทำให้เกิดอาการติดหวาน Sugar Addict ซึ่งในกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะทำให้ในช่วงอดอาหารไม่สามารถอดได้ อาการก็คือ จะหิวมาก อ่อนเพลียเหมือนขาดพลังงาน แล้วก็จะจบด้วยการกิน แล้วอาจจะทานเยอะกว่าปกติด้วย โดยอาการอยากน้ำตาลจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากผ่านช่วงนี้ไปได้ก็จะเป็นปกติในช่วงอดอาหาร โดยไม่รู้สึกหิวแต่อย่างใด ซึ่งคนส่วนมากไม่สามารถทำ IF ได้เนื่องจากอาการ Sugar Addict ในช่วงอดอาหาร


4. นอนดึก ในคนกลุ่มที่เข้านอนดึกมีความเสี่ยงในความอ้วนง่ายอยู่แล้ว เนื่องจากระบบฮอร์โมนที่ซ่อมแซมร่างกาย และระบบความอิ่มในร่างกายจะรวนทำให้คนนอนดึกไม่สามารถอดอาหารได้ต้องกินอาหารหวาน และนำไปสู่ความอ้วน ซึ่งเวลาเข้านอนปกติไม่ควรเกิน 22:00


5. ไม่ออกกำลังกาย เนื่องจากในการลดความอ้วนไม่ใช่แค่การควบคุมแคลอรี แต่ยังรวมถึงการสร้างระบบการเผาผลาญที่ถาวรขึ้นด้วย ในส่วนนี้คือการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อไม่ให้เกิดอาการโยโย่ขึ้นภายหลัง


6. เมื่อหิวระหว่างช่วงอดอาหาร ให้ทานน้ำเปล่า กาแฟดำ ชาที่ไม่ใส่น้ำตาล ด้วยรสที่ขมจะทำให้เราไม่อยากอาหาร

 

ทำ IF ลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ไม่ให้ร่างกายพัง ซ้ำรอยเด็กอายุ 14 ที่โหม 23/1

 

ขณะที่ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึง ตามหลักการจริง ๆ แล้ว การทำ IF จะเป็นการเว้นช่วงเวลาการกินอาหาร อย่างน้อย 16 ชั่วโมง โดยเลือกเวลาที่เหมาะสม อย่างเช่นก่อนเข้านอน และควรเลือกกินอาหารที่เหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย มีสารอาหารครบ 5 หมู่ อีกทั้งควรติดตามประเมินร่างกายเป็นระยะต่อเนื่อง หากพบว่าไม่มีความสุข ทุกข์ทรมาน หรือส่งผลกระทบต่อร่างกาย ก็ควรเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น


สำหรับการเลือกทำ IF ควรวัดดัชนีมวลกาย และประเมินสุขภาพของตัวเองก่อนทำ โดยกลุ่มเด็กที่กำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโต หากมีภาวะอ้วน ก็สามารถเลือกทำวิธีนี้ได้ หรือ ใช้วิธีควบคุมอาหาร ซึ่งหากสุขภาพไม่ดี และมีน้ำหนักน้อยอยู่แล้ว ก็ไม่ควรทำ เพราะอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้

 

 

 

logoline