svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พีระพันธ์ุ เปิดเบื้องหลังต่อสู้รื้อคดี"ค่าโง่โฮปเวลล์"2.4 หมื่นล้านบาท

12 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การต่อสู้ที่ไม่ได้มาอย่างง่ายดาย พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเบื้องหลังการต่อสู้คดี"ค่าโง่โฮปเวลล์" มหากาฬย์ครั้งสำคัญของการระดมนักกฎหมายแถวหน้าของประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ 2.4 หมื่นล้านบาท

 

กลายเป็นมหากาพย์แห่งการต่อสู้พลิกไปพลิกมาในคดีที่เอกชนเรียกร้องค่าเสียหายในโครงการทางด่วนโฮปเวลล์ ที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 30 ปี จนกระทั่งเข้าสู่พ.ศ. 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้รื้อคดีใหม่  

 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลแถวหน้าในการต่อสู้คดีชนิดกัดไม่ปล่อย ยังมีบุคคลที่อยู่เบื้องหลังราวปิดทองหลังพระ พร้อมสนับสนุนข้อมูลให้พีระพันธุ์  เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ศาลปกครองสูงสุดต้องออกคำสั่งรื้อคดี 

 

พีระพันธ์ุ  เปิดเผยเรื่องราวทั้งหมด ผ่านรายการ"คมชัดลึก" ซึ่งดำเนินรายการโดย วราวิทย ฉิมมณี ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นช่อง 22 ทำให้เห็นแง่มุมทางกฎหมายในการพลิกคดีประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้คนต้องติดตามคดีนี้อย่างไม่กระพริบตา  

 

พีระพันธ์ุ เปิดเบื้องหลังต่อสู้รื้อคดี"ค่าโง่โฮปเวลล์"2.4 หมื่นล้านบาท

 

ต่อสู้เรื่องนี้เท่าที่จำได้กี่ปี  เริ่มต้นยังไงคุณพีระพันธ์จำได้ไหมครับ? 

 

ตั้งแต่ปี 2562  ถ้าถามตั้งแต่เริ่มต้น  ผมติดตามเรื่องนี้มาห่างๆ เพราะเราไม่ได้ลงไปในรายละเอียด แต่ว่าในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง เราก็สนใจว่าทำไมอยู่ดีๆเราต้องมาถูกฟ้อง  โจทก์ต้องมาชำระเงินทั้งที่ในแง่ของความรู้สึก  เราได้ข้อมูลว่าบริษัทที่เข้ามาเกี่ยวข้องเขาเป็นฝ่ายผิดสัญญา เข้าก่อสร้างไม่เสร็จทำไม่ได้ตามกำหนด

 

"ถ้าเป็นปกติอย่างชีวิตประจำวันเราไปจ้างใครมาสร้างบ้านเราแล้วก็ทำไม่เสร็จหรือจ้างใครมาก่อสร้างไม่เสร็จ เขาต้องจ่ายค่าเสียหายเราสิ แต่ทำไมเราต้องไปจ่ายเขา อันนี้มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมไม่เข้าใจเหตุผล เพราะว่าหลักทั่วไป  ใครผิดสัญญา ก็ต้องบอกเลิกด้วยการผิดสัญญา และเมื่อผิดสัญญาแล้วเราจะต้องชดใช้ ผู้ว่าจ้างจะต้องชดใช้ผู้รับจ้างที่ทำผิดสัญญามันผิดปกติ ผมสงสัยอยู่แล้ว" 

 

 

 

พีระพันธ์ุ เปิดเบื้องหลังต่อสู้รื้อคดี"ค่าโง่โฮปเวลล์"2.4 หมื่นล้านบาท

สงสัยตรงนี้ก่อนว่าสร้างไม่เสร็จทำไมต้องจ่าย?

 

ใช่ก็เหมือนคนไทยทั่วๆไปครับ ก็ได้แต่สงสัยเพราะเราไม่รู้รายละเอียดลึกๆ จนกระทั่งประมาณพฤษภาคม ปี 62 ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาว่าให้จ่ายเงิน ผมว่าตกใจว่าทำไมต้องจ่ายจริงๆ เหรอเนี่ยมันเรื่องอะไร ผมก็ไปเริ่มศึกษาดูประเด็นมีอยู่ว่าศาลปกครองชั้นต้นที่เขาเรียกว่าศาลปกครองกลาง   ท่านใดเคยตัดสินไปแล้วว่าคดีนี้ขาดอายุความ แต่ว่าศาลปกครองสูงสุดวันนั้นที่ตัดสิน ท่านกับบอกว่าไม่ขาดอายุความ สำหรับผมในฐานะนักกฎหมายที่มันตลก อายุความมันต้องเหมือนกันหมดและการนับอายุความ ไม่ใช่ของที่สลับซับซ้อนเลยมันง่ายๆ  เป็นหลักกฎหมายข้อกฎหมายถึงง่ายมาก แต่ทำไมศาลสองศาลกับอายุความเดียวกันไม่เท่ากัน อันนี้เป็นจุดที่ผมเริ่มต้นสนใจไว้มันเรื่องอะไรเกิดขึ้น 

 
ส่วนข้อเท็จจริงที่สร้างไม่เสร็จหรือเวนคืนที่ดินไม่ทันตามกำหนดอันนั้นอีกเรื่องนึง 

 

"แต่ประเด็นที่ผมเริ่มให้ความสนใจคือเป็นไปได้อย่างไร ที่ศาลสองศาลที่เป็นศาลเดียวกัน เพียงแต่ว่าเป็นศาลสูงสุดกับศาลศาลชั้นต้น มองหลักอายุความซึ่งความจริงควรจะต้องเป็นหลักเดียวกันต่างกันได้ยังไง"

 

พอผมไปปรึกษาก็เห็นว่าไม่ใช่แล้ว  กลายเป็นว่าที่ศาลปกครองสูงสุด ณ ขณะนั้นที่ว่ายังไม่ขาดอายุความ เพราะเขาเอาหลักการนับอายุความที่ต่างกันมาใช้ศาลชั้นต้นนับตามหลักที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายบัญญัติไว้บอกว่าการนับอายุความคดีปกครองตรงนี้ ต้องเริ่มนับแต่วันที่รู้หรือควรจะรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ว่าศาลปกครองสูงสุดไปเริ่มนับอายุความเดียวกันตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการครั้งแรกคือ 9 มีนาคม 2544 ผมก็ตกใจและว่ามันมาได้ยังไงกฎหมายมันมีอย่างเดียวจะมี 2 อย่าง เริ่มต้นนับต่างกันเป็นไปไม่ได้ 

 

ผมก็ดูต่อไปว่า 9 มีนาคม 2544 ให้เริ่มนับวันนี้ มาจากไหน สรุปมาจากมติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครอง เมื่อวันที่ 18พฤศจิกายน 2545 เขาบอกว่าก่อนที่ศาลปกครองจะเปิดทำการ มีคดีบางประเภทที่เกิดขึ้นมาก่อนศาลปกครองเปิดทำการ เพราะฉะนั้นคดีที่เกิดขึ้นมาก่อนศาลปกครองเปิดทำการก็ให้ยื่นนับอายุความตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ผมก็ตกใจแล้วเพราะว่าการนับอายุความเรื่องต่างๆมเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพและเป็นสิทธิในการฟ้องร้องเป็นเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ เป็นเรื่องของการเสียหายหรือไม่เสียหายของบุคคล ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายเท่านั้น เราไม่สามารถที่จะมามีมติปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เองตามอำเภอใจ

 

ถ้าหากว่าเราเห็นว่าหลักกฎหมายเรื่องนี้ที่อยู่ในตัวบทกฎหมายไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม องค์กรที่รับผิดชอบกฎหมายจะต้องเสนอสภาให้มีการแก้ไขกฎหมายเท่านั้น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปแก้กฎหมายเอง หรือไปตีความแล้วลงมติเองว่าที่กฎหมายบัญญัติมาฉันไม่เอา 


ผมจะช่วยขยายความตรงนี้เพื่อคุณผู้ชมตามทัน โครงการ โฮปเวลล์ เซ็นสัญญากันตั้งแต่ปี 2533 แล้วมีปัญหาผ่านมาหลายรัฐบาลนะครับ ความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการนี้แทบไม่ถึง 10% สุดท้ายแล้วในปี 2541 รัฐบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ถูกต้องนะครับ 30 มกราคม 2541 ตรงนี้ที่คุณพีระพันธ์กำลังจะบอกว่ามันคือจุดเริ่มต้นของเหตุที่ควรจะรู้ ว่าคุณควรจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ถ้าเอกชนรู้สึกว่าคุณถูกบอกเลิกสัญญา อันนี้คือข้อเท็จจริงแต่ทีนี้พอมันเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองจัดตั้งวันที่ 9 มีนาคม 2544 ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะไปนับปี 2541 วันที่เขารู้ว่าถูกบอกเลิกสัญญาหรือวันที่ศาลปกครองก่อตั้งปี 2544 เพราะในข้อเท็จจริงเขาไปยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ 24 พฤศจิกายน 2547 ถูกไหมครับ พอปี 2547 หักลบมา 2544 ตรงนี้ยังอยู่ในอายุความถ้าคิดแบบนี้  ถ้าคิดว่าเริ่มต้น 2544 แต่ถ้าคิดว่าเริ่มต้น 2541 ไปฟ้องต่ออนุญาโตตุลากา 2547 ในทางกฎหมายถือว่าขาดแล้วถูกต้องไหม?

 

ความจริงอายุความมี 2 ครั้ง ครั้งแรก 2 ปี ครั้งที่สองคือ 2 ปี นับแต่วันที่ออกกฎหมายคือปี 2542 เขามาแก้ 2 ปีเป็น 5 ปี ในปี 2558 คดีนี้การที่ยื่นอนุญาโตตุลาการปี 2547 ตามหลักกฎหมายแท้ๆต้องเอาอายุความปี 2547 มาพิจารณา ไม่ใช่อายุความปี 2558 วันที่ศาลตัดสินมาพิจารณา เพราะประเด็นโต้แย้งว่าอายุความขาดหรือไม่มันคือปี 2547 

 

เมื่อ ณ ปี 2547 คือประเด็นที่ต้องโต้แย้งกันคุณก็ต้องเอาอายุความปี 47 สิครับ เพราะประเด็นแย้งกันปี 2547 คุณจะเอาอายุความ ปี 2558 ย้อนไปใช้กับข้อโต้แย้งปี 2547 ทำไม่ได้ แล้วผมจะเรียนว่าถ้าเป็นอย่างนั้น อายุความปี 2547 แค่ 2 ปี ไม่ใช่ 5 ปี

 

ถ้าทำอย่างที่คุณวราวิทย์ว่า  ถึงแม้จะมานับปี 2544 ก็ต้องนับ 2 ปีเท่านั้นคือ 2546 ก็ไม่ถึงปี 2547 อยู่ดี แต่ผมขี้เกียจเปิดประเด็นนี้ ในเมื่อศาลท่านไปเอา 5 ปีเอาวันที่ท่านตัดสินซึ่งผมเรียนกฎหมายมา ผมเป็นผู้พิพากษามา ผมไม่ทำแบบนี้ แต่ก็แล้วแต่เป็นดุลพินิจก็ไม่ว่ากันแต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่ แต่เอาเป็นว่าเราก็ไม่ต้องไปพูดถึงเพราะเดี๋ยวสับสนกันไปใหญ่ เพราะผมเห็นว่าไม่ว่า 2 ปี หรือ 5 ปีก็ขาด เพราะไม่ว่า 2 ปี หรือ 5 ปีก็ต้องนับ 30 มกราคม 2541 ปีอยู่ดี เอา 2 มาบวก 2541 มันก็แค่ 2543 เอา 5 มาบวกมันก็แค่ 2546 แต่นี่ไปยื่น 2547 ยังไงก็ขาดผมก็เลยขี้เกียจไปยุ่งประเด็นนี้ให้ยุ่งวุ่นวาย

 

แต่ว่าอย่างนี้ครับ คนมักจะพูดในความไม่เข้าใจว่าคดีเกิดก่อน ก่อนหลังไม่สำคัญ   สำคัญกับกฎหมายบัญญัติว่ายังไง ถ้ากฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ต้องบังคับตามกฎหมายเสมอไม่ว่าจะเป็นคดีนั้นเกิดก่อนหรือหลัง  แต่ถ้ากฎหมายเขาต้องการมีความแตกต่างกันระหว่างคดี ปกติเขาต้องเขียนเป็นบทเฉพาะกาลไว้ ว่าบทเฉพาะกาลมาตรานี้ที่เกี่ยวกับการนับอายุความ ถ้าเป็นคดีที่เกิดให้ทำแบบนี้ ถ้าเขาไม่เขียนเอาไว้ก็แปลว่าเขาไม่ได้มีเจตนาให้แตกต่างกันในการนับอายุความ แต่ถ้าผู้บังคับใช้กฎหมายต่อมาเห็นว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็ต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่ไปลงมติกันเอง


การจัดตั้งศาลปกครอง ก็ต้องมี พ.ร.บ.สำหรับศาลปกครอง ประเด็นก็คือใน พ.ร.บ.ศาลปกครองตั้งแต่ปี 2542 ในการจัดตั้งไม่ได้เขียนเอาไว้ว่าคดีที่เกิดขึ้นก่อนการจัดตั้งศาลปกครอง จะนับอายุความยังไง หลังจากนั้นก็เลยมีการประชุมของที่ประชุมของศาลปกครอง ออกมาเป็นมติในที่ประชุมถ้าอย่างนั้นนับวันเปิดทำการวันแรก ซึ่งตามหลักกฎหมายเมื่อไม่ได้เขียนในกฎหมายไว้แปลว่าไม่ว่าเกิดก่อนหรือหลังใช้อายุความเดียวกัน แต่ถ้าหากผู้บังคับใช้อยากจะให้มีการแตกต่างกัน ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องเสนอสภาให้แก้กฎหมายให้ ไม่ใช่มันลงมติกันเองว่าจะนับกันแบบไหน

 

ตรงนี้กฎหมายปี 2542 ได้ให้อำนาจไว้แบบนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ผมก็เห็นว่าอันนี้ไม่ถูกต้องแล้ว เพราะว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญศาลทุกศาลไม่ว่าจะเป็นศาลอะไรก็แล้วแต่ หรือแม้แต่รัฐบาลหรือสภาไม่ใช่ว่าคุณมีอำนาจเกิดมาในตัวคุณเอง พอคุณเป็นศาลหรือพอคุณเป็นสภาหรือคุณเป็นรัฐบาลไม่ใช่ว่าอำนาจเกิดแต่ตัวที่คุณเองเกิดมาเป็นรัฐบาลเป็นสภาหรือเป็นศาล อำนาจของคุณอยู่ที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญเขียนให้ เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องเดินตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขียนว่าศาลทุกศาลต้องตัดสินตามกฎหมาย และต้องใช้กฎหมายมาทำคำพิพากษาเท่านั้น ก็กฎหมายเขียนอยู่แล้วว่าถ้าคุณไม่ได้ใช้กฎหมายมา  แปลว่าคุณไม่มีอำนาจกระทำ การที่คุณเขียนคำพิพากษาแล้วคุณไม่ได้ใช้กฎหมายมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินถือว่าไม่ได้เป็นการปฏิบัติตามพระธรรมนูญสิ่งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้แปลว่าก็แปลว่าสิ่งที่เป็นไปตามกฎหมายก็แปลว่าสิ่งนั้นมันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วยเหมือนกัน 


นี่ก็เลยทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง? 


ผมเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของศาลปกครองแล้ว เป็นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ ว่ามติอันนี้ทำได้หรือเปล่า ก่อนที่จะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญผมย้อนนิดนึง อนุญาโตตุลาการก็เห็นควรให้จ่าย ไปยื่นฟ้องบังคับคดีต้องไปที่ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางบอกว่าไม่ต้องจ่ายเพราะเรื่องอายุความ

 

ผมเล่าขั้นตอนให้ชัดเจน ทางภาครัฐผมใช้คำว่าภาครัฐภาครัฐแย้งมาแต่ต้นแล้ว ตั้งแต่ชั้นอนุญาโตแล้ว อนุญาโตไม่มีสิทธิ์รับคดีนี้ไว้วินิจฉัย เพราะขาดอายุความแล้ว เราแย้งไว้ตั้งแต่อนุญาโตแล้ว แต่เขาก็บอกว่าไม่ขาดซึ่งผมไม่ขออธิบายตรงนี้มันยุ่งไปหมดเดี๋ยวจะยิ่งไม่เข้าใจ เอาเป็นว่าเขาบอกไม่ขาด เขาก็เลยออกคำวินิจฉัยมาว่าให้เราจ่ายตังค์ แต่เราก็ยังยืนยันว่าขาดอายุความอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็นำประเด็นนี้มาฟ้องต่อศาลปกครอง 


เราเป็นฝ่ายยื่นฟ้อง เพราะเราไม่ยอมรับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ จริงๆถ้าเคลียร์กันได้จบในชั้นอนุญาโตฯก็จบได้เหมือนกันถ้าเห็นตรงกัน 

 

เราเห็นว่าอนุญาโตฯตัดสินผิด เพราะมันขาดอายุความชัดๆ เราก็เลยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่าเราไม่สามารถปฏิบัติตาม อนุญาโตฯได้เพราะขาดอายุความ คู่กรณีเขาก็แย้งว่าไม่ขาด อันนี้ผมพูดแบบรวมๆตรงนี้คือประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ เลยเป็นประเด็นที่ต้องไปวินิจฉัยต่อไปในศาลชั้นต้นของศาลปกครอง

 

ศาลปกครองท่านวินิจฉัยมาว่าขาดอายุความแล้ว เพราะฉะนั้นไม่สามารถบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ เพราะอนุญาโตไม่มีสิทธิ์รับวินิจฉัยตั้งแต่แรกอันนี้คือที่มา ทางฝ่ายคู่กรณีเรา เขาก็ไม่เห็นด้วยเขาก็เลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเมื่อกี้ ไปที่ศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดก็มากับคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น โดยไปเอามติที่ประชุมใหญ่เมื่อกี้ผมพูดถึง นี่คือความเป็นมา


ศาลปกครองสูงสุดตอนนั้นปี 2562 ก่อนที่คุณพีระพันธ์จะเข้ามาจับเรื่องนี้ ก็ตัดสินให้รัฐต้องจ่ายตอนนั้นหลายคนก็คิดว่ามันจบไปแล้ว จนกระทั่งก็ตั้งทีมมีนักกฎหมายเข้ามากระทรวงคมนาคมก็เข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวคุณพีระพันธ์ก็เข้ามาเกี่ยวข้องคือระหว่างตั้งแต่ ปี 2562 ทำอะไรบ้างครับ?

 

คือตอนนั้นผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกระทรวงคมนาคมเลย ตอนนั้นเป็นส.ส.ครับ ผมทำด้วยตัวผมเองโดยผมเป็นส.ส. อันดับแรก ผมทำหนังสือถึงท่านนายกมนตรี วันนั้นผมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับท่าน ทำหนังสือชี้แจงให้ท่านเข้าใจว่าเรื่องนี้ เป็นการตัดสินที่ไม่ถูกต้อง และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในมุมของผม  ไม่ถือว่าเป็นคำพิพากษา ใครจะถือว่าเป็นก็เรื่องของเขาแต่ผมไม่ถือ เพราะตามหลักกฎหมายและกฎหมายธรรมนูญศาลทุกศาลคำพิพากษาทุกฉบับต้องเขียนมาจากกฎหมายครับ ถ้าคุณไม่ได้เอากฎหมายมาเขียนไม่ใช่คำพิพากษา ผมบอกแล้วว่าสิ่งที่เอามาตัดสินคดีนี้ในชั้นนั้น เป็นมติที่ประชุม ไม่ใช่กฎหมาย เมื่อคุณไม่ได้กฎหมายมาตัดสินแล้ว เป็นคำพิพากษาได้อย่างไร  


จากกระบวนการในสภาแล้วไปเกี่ยวข้องกับการสู้คดีเกี่ยวข้องกับรัฐบาลได้อย่างไร ?

 

ระหว่างที่ผมศึกษาเรื่องนี้ท่านศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งส่วนตัวรู้จักคุ้นเคยมานาน ก็มาหารือว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร   ผมอธิบายเล่าเรื่องให้ฟัง ท่านมีความเห็นตรงกับผมอย่างนี้ ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลจะต้องไปจ่าย  แต่ว่าเราจะสู้ได้ไหม  ผมก็บอกสู้ได้ ถ้างั้นท่านจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาในกระทรวงคมนาคม เพื่อที่จะทำในนามของกระทรวงและเพื่อจะตรวจสอบเรื่องนี้คู่ขนานไป ท่านก็ทำของท่านไป  ผมก็ทำของผมระหว่างที่ทำเนียบเนื่องจากลึกลับซับซ้อนมากเลย  ท่านก็เลยเชิญผมไปเป็นที่ปรึกษาหรือไปให้คำแนะนำคณะทำงานของท่านด้วยได้ ของกระทรวงคมนาคมผมบอกว่าได้นะครับ ก็เลยได้มีโอกาสเข้าไปในส่วนของของกระทรวงคมนาคม ไปช่วยทำงานกับคณะของเขาแบบไม่ได้เป็นคณะแต่ว่าไปให้คำแนะนำข้อกฎหมายข้อสงสัยข้อเท็จจริงหรือรูปแบบอะไรก็แล้วแต่ จุดนี้ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับนายสุทธิรักษ์ ยิ้มยัง

 

ต่อมาผมก็ในคณะทำงานของกรรมาธิการก็พิจารณาเสร็จ ช่วงนั้นหลังจากที่พิจารณาเสร็จได้ไม่นาน ผมลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พอผมพ้นจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ผมต้องพ้นสภาพส.ส.ไปโดยปริยาย ผมก็พ้นจากกรรมาธิการการยุติธรรมโดยปริยาย แต่ผมถือว่าผมได้ทำงานเสร็จแล้ว รายงานผลเสนอเสร็จให้กรรมาธิการเสร็จ แล้วก็คิดว่าท่านรัฐมนตรีคมนาคมก็คงจะให้โอกาสผมชี้แนะหรือให้คำปรึกษาในคณะทำงานของกระทรวงของท่านต่อไป ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น ท่านก็บอกว่ายังไงก็ต้องช่วยกันดูแลกันต่อไป 


เมื่อสักครู่เราคุยกันมาถึงจุดที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็มาจับเรื่องนี้เต็มตัว แล้วต้องทำยังไงบ้าง ยื่นเรื่องไปที่ศาลเพื่อขอจะรื้อคดีด้วยเหตุผลไหน ถูกตีตกกลับมากี่ครั้ง แล้วสุดท้ายทำไมจะต้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ?

 

ในคณะทำงานของกระทรวงคมนาคม เรามีความเห็นตรงกันหมด ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่เราต้องขอพิจารณาคดีใหม่ เหตุที่ขอพิจารณาคดีใหม่ ณ วันนั้นเรามีความเห็นคนละมุมกับประเด็นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ วันนั้นยังไม่มีเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเรียนตรงๆว่าในแง่มุมความรู้สึก ในฐานะที่เป็นผู้พิพากษาเก่าด้วย ผมก็เรียนกับที่ประชุมกับคนเกี่ยวข้องว่าผมไม่ค่อยมั่นใจ  เหตุที่จะไปขอพิจารณาคดีใหม่ ผมไม่ค่อยมั่นใจเพราะว่ามันกว้างเกินไป เพราะว่าช่วงนั้นอาจจะรีบยังไงผมไม่แน่ใจเพราะยังมีเงื่อนเวลา มันทำให้ความรอบคอบหรือว่าความละเอียดหรือเวลาที่จะศึกษาเนี่ยบางทีก็ไม่ทัน เราก็ยื่นเรื่องไปขอพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งสุดท้ายศาลปกครองชั้นต้นท่านไม่เห็นด้วยว่าเข้าหลักเกณฑ์ของการพิจารณาคดีใหม่ เสร็จแล้วเราก็อุทธรณ์พออุทธรณ์ไปแล้วศาลปกครองสูงสุดก็ไม่ให้พิจารณาคดีใหม่เหมือนเดิม  ผมก็มานั่งพิจารณาศึกษาว่ามันจะไปทางไหนได้ 


แต่ 2 ศาลที่พยายามจะยื่น เราก็พยายามจะโต้เรื่องปมคดีหมดอายุความถูกต้องไหม หรือว่ามีหลายปม?

มีหลายปมแต่หนึ่งในนั้นคือเรื่อง"อายุความ" แต่ว่าเรายังไม่มีอะไรมารองรับว่าทำไมเราต้องเป็นฝ่ายถูก ผมเข้าใจศาลนะครับ เพราะท่านก็ไม่เคยมีการโต้แย้ง ท่านก็เข้าใจกันมาตลอดว่าใช้ได้ แต่ในเมื่อเราบอกว่าใช้ไม่ได้ 


ศาลปกครองชั้นต้นตีตก ศาลปกครองสูงสุดก็ตีตกแล้วได้ยังไงต่อครับ?

ก็ต้องมานั่งคิดแล้วทำไงต่อ คนส่วนใหญ่บอกว่าจบแล้ว ผมบอกไม่จบผมไม่จบง่ายๆหรอก เรื่องของประเทศชาติบ้านเมืองผลประโยชน์ชาติยอมง่ายๆมันก็ไม่ถูกแลว   ผมก็มานั่งคิดว่าก็มานั่งนึกเมื่อกี้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องเรื่องกฎหมายศาลปกครอง เพราะว่าการที่ศาลจะตัดสินแล้วต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายมาจากรัฐธรรมนูญ อะไรที่ไม่ได้ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็หารือประชุมกันว่า ผมว่าต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะว่าต้องมีคนชี้เนื่องจากว่าเราเห็นว่าทำแบบนี้ผิดไม่ถูกนะ  คุณไปเอามติแต่ศาลปกครองท่านเข้าใจว่าท่านทำได้ แต่เราเป็นคนนอกเราไปบอกว่าทำไม่ได้แล้วท่านจะมาบอกเออเชื่อเรามันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องหาคนที่เป็นคนกลาง และมีอำนาจพอที่จะเป็นคนชี้ขาดตรงนี้

พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา

 

ผมก็เลยนำเสนอว่าต้องไปศาลรัฐธรรมนูญผู้วินิจฉัย ปัญหาตามอีกแล้วจะไปได้ยังไง ไปไม่ได้อีก ต้องไปผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน แปลว่าจะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ เขาบอกให้ไปผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน แล้วจะทำยังไง ปัญหาก็ตรงนี้แหละเวลาก็จะหมดอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นอย่างนั้นทางท่านรัฐมนตรี  ตรงนี้ผมก็ต้องขอบคุณนะ ท่านก็ให้ความเชื่อมั่นผมมากพอสมควร  ท่านก็บอกว่าให้เดินหน้าตามผม ไปนั่งกันท่านก็มอบหมายผมเลยว่าเอาตามท่านพีระพันธ์ุ ท่านก็ให้เครดิตผมพอสมควรก็ต้องขอบคุณท่าน ผมก็ดำเนินการตรวจสอบทำการหรือว่าจะไปแง่ไหน คืออันดับแรกต้องอธิบายให้ท่านผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าใจก่อน แล้วเราเนี่ยไม่มีโอกาสไปนั่งคุยกับผู้ตรวจการแผ่นดินแบบนี้นะครับ เราต้องทำเป็นหนังสือ เขียนไปในหนังสือจะเขียนยังไง ทำยังไงเขาจะเห็นเหมือนเรา เขาจะแย้งกับเราตรงไหน ได้ตรงนี้ที่ผมทำกันเต็มที่เลยกับนายสุทธิรักษ์ ยิ้มยัง ก็ช่วยกันผมก็เขียน เขียนเสร็จให้เขาเป็นอ่านแล้วบอกว่าถ้าคุณเป็นผู้ตรวจการเนี่ยคุณแย้งผมตรงไหนบ้าง ไหนว่ามาดิ คุณอ่านแล้วเข้าใจไหมก่อน คิดแบบคุณไม่รู้เรื่องคุณอ่านที่ผมเขียนอย่างนี้คุณเข้าใจไหม ไม่เข้าใจตรงไหนแก้ ถ้าคุณเป็นผู้ตรวจคุณจะแย้งว่ามันไม่เห็นด้วยผมตรงไหน ก็เถียงกันไปเถียงกันมาอย่างนี้ล่ะครับ เวลาก็หมดไปทุกวันเพราะต้องยื่นภายในเวลากำหนด สุดท้ายก็ฉบับไฟนอลอันนี้ดีที่สุดและยื่นเลยเพราะเวลาจะหมดแล้ว ก็ยื่นเรื่องไปผู้ตรวจก็ลุ้นอยู่ครับว่าผู้ตรวจการแผ่นดินท่านจะว่ายังไง ซึ่งก็โชคดีท่านอ่านแล้วศึกษาแล้ว ท่านเห็นด้วยพอเห็นด้วย ท่านเลยส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไปลุ้นอีกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะว่ายังไง ท่านจะเรียกเราไปสอบถามไหม หรือว่าท่านจะคือศาลรัฐธรรมนูญท่านสามารถชี้ขาดเรื่องต่างๆได้โดยไม่ต้องไต่สวน เพราะท่านคิดว่าข้อมูลเพียงพอ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าที่ท่านคิดว่าเพียงพอแล้วเนี่ยท่านจะเห็นเราหรือแบบเขา แล้วถ้าไม่เข้าใจท่านจะเรียกเราหรือเปล่า ก็ไม่ได้เรียกตั้งนานเขาก็ไม่มีการเคลื่อนไหว ผมก็ใจไม่ดีเพราะไม่รู้ว่าสรุปแล้วจะยังไง อยู่ๆก็มีการแจ้งมาว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำชี้ขาดแล้ว ก็ลุ้นอยู่  สุดท้าย ท่านชี้ออกมาว่าเอา เห็นด้วยกับทางฝั่งผม


คู่ขนานกันศาลปกครองชั้นต้นเราก็ยื่นอีกรอบนึงใช่ไหม เพื่อจะขอรื้อคดีในจังหวะที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา?

 

ยัง เพราะว่าเรายื่นไปแล้วไงมันจบไปแล้ว ในครั้งนั้นมันจบไปแล้วเพราะว่าทั้งศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองสูงสุดสไม่ให้พิจารณาคดีใหม่แล้ว เราต้องมารอศาลรัฐธรรมนูญศาลมีคำวินิจฉัยตกมาว่าเราถูก เราก็ถือว่าอย่างนี้แปลว่าความเข้าใจเรานี่มันถูกแล้วล่ะ ก็คือว่ามติที่ประชุมใหญ่ขัดรัฐธรรมนูญ  เราเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่เข้าเงื่อนไขของการที่ศาลฯจะต้องพิจารณาคดีใหม่ 

 

เราก็ยื่นเรื่องไปขอพิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่ 2 ที่ศาลปกครองชั้นต้น ปรากฎว่าท่านบอกว่าไม่เข้า เพราะครั้งที่ 1 เราไม่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเราก็พอเข้าใจ แต่พอมาคราวนี้เรามีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ามติที่ประชุมใหญ่ที่มาใช้ขัดรัฐธรรมนูญ เราก็เห็นว่าอันนี้เรามีน้ำหนักมากกว่าเดิมมีหลักฐานแล้วน่าจะต้องพิจารณาคดีใหม่แล้ว แต่ศาลชั้นต้นท่านยังบอกไม่เข้าข่าย อย่างนี้ไม่ได้แล้วเราก็เลยอุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุดอธิบายเหตุผลให้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าทำไมมันเข้าเงื่อนไขกฎหมายที่จะต้องพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งตรงนี้คือที่มาของคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งศาลปกครองสูงสุดท่านเห็นด้วยกับลักษณะอย่างนี้ เข้าเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาคดีใหม่แล้ว 

 

แปลว่า 2.4 หมื่นล้านที่ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยมาปี 62 ไม่ต้องจ่ายหมด กระบวนการเรื่องคดีก็เริ่มกันใหม่ จังหวะที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายมีอาการลังเลไหมว่ามันจะเป็นการก้าวก่ายอำนาจศาลของแต่ละศาลไหม? 

ไม่ใช่คดีที่เกิดขึ้น ต้องดูประเด็นแห่งคดี บางประเด็นไม่ใช่อำนาจของศาลนี้ แม้กรอบใหญ่อำนาจศาลนี้แต่บางประเด็นไม่ใช่ เราเจาะเฉพาะประเด็นที่ไม่ใช่ไปที่ศาลที่ใช่เท่านั้นเองครับ 


ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มายุ่งเรื่องรายละเอียดในคดี?

 

ใช่ครับท่านดูเฉพาะประเด็นอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ไม่ได้ไปดูประเด็นหลักเนื้อหาสาระในคดีไม่ใช่ 

 

มาเริ่มต้นนับหนึ่งต่อสู้คดีกันใหม่ตั้งแต่ว่าถามว่าข้อเท็จจริงเอกสารอะไรต่างๆมีอยู่ทุกอย่างแล้ว เพราะฉะนั้นผลที่จะเป็นเงื่อนตายในการพิจารณาคดีใหม่ของศาลปกครองคืออะไร?

 

คือการนับอายุความ ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น แต่เดิมตัดสินไปแล้วว่าขาดอายุความ

พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แล้วศาลปกครองสูงสุด บอกว่า เริ่มรื้อกันใหม่เพราะอายุความไม่ถูกต้อง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้มา เพราะฉะนั้นการรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่เมื่อมาถึงปมเรื่องอายุความ ก็ต้องจบแบบที่ศาลปกครองท่านสั่งหรือรื้อคดีไหมครับ?

 

ผมก็ไม่อยากไปขอก้าวล่วงอำนาจศาลนะครับ เพราะว่าเป็นดุลพินิจของท่าน แต่ผมเรียนว่าก็ต้องดุลพินิจที่เป็นไปตามกฎหมาย  คือเรื่องอายุความมีกฎหมายอยู่อันเดียวครับ 

ฉะนั้นถ้าจะมาพิจารณาใหม่ต้องใช้วิธีการคิดเหมือนเดิม ตามทฤษฎีในแง่ของอายุความ 

มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นนะครับ 


ฉะนั้นผมพูดได้เลยไหมว่า การรื้อคดีพิจารณาใหม่ น่าจะ 100% แล้วที่รักจะไม่ต้องจ่าย 2.4 หมื่นล้านบาท  ตามทฤษฎีกฎหมายควรจะต้องเป็นอย่างนั้น ในมุมของคุณพีระพันธ์ุ จะมีอภินิหาร การตีความอะไรแตกต่างไปจากนี้อีกไหมครับ ที่จะทำให้รัฐต้องกลับมาจ่าย? 

 

คนที่แสดงอภินิหารคงต้องไปชี้แจงศาลอื่นแทนละครับ ว่าทำไมถึงมีอภินิหารครับ  


โฮปเวลล์เป็นมหากาพย์มีความลึกลับซับซ้อน จริงใช่ไหมว่ามีคนไทยกลุ่มหนี่งที่คล้ายๆว่าเข้าไปซื้อบริษัทโฮปเวลล์ และหวังว่าจะได้ประโยชน์จากเงิน 2.4 หมื่นล้านที่เป็นค่าโง่ที่รัฐจะต้องจ่าย?

 

คือมีคนไปซื้อจริงแต่เขามีเจตนาตรงนั้นผมไปพูดไม่ได้ เพราะว่าเรายังไม่ได้มีพยานหลักฐานอะไรที่จะมาเปิดเผยต่อสาธารณะ การไปซื้อมีจริงแต่ซื้อเพื่อเจตนาอย่างนั้นหรือไม่  อันนี้ผมพูดไม่ได้ สังคมต้องดูจากพฤติการณ์เองแต่ผมพูดออกจากปากผมไม่ได้ แต่ผมพูดได้แต่เพียงว่ามีการไปซื้อมาจริง แต่ไม่เปิดเผยตัวนะ ซื้อแล้วก็ไปใช้จดทะเบียนอยู่ในพวกเกาะ ซึ่งทำไมต้องทำอย่างนั้น  
 

นับจากนี้จึงต้องติดตามตอนต่อไปในกระบวนการของศาลปกครองชั้นต้นที่จะนัดพิจารณาคดีว่าจะออกมาทางใด 

 

แต่มาถึงวันนี้ทำให้เห็นถึงความพยายามต่อสู้คดีอย่างแน่วแน่เพื่อหวังปกป้องผลประโยชน์ของชาติ 2.4 หมื่นล้านบาท  ของมือกฎหมายแถวหน้าประเทศที่ชื่อ พีระพันธุ์  รัฐสาลีวิภาค และผู้อยู่เบื้องหลังปิดทองหลังพระ อย่าง สุทธิรักษ์ ยิ้มยัง 

 

 

logoline