svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นพ.ธีระ เผย วันนี้ติดเชื้อพีคสุด 7.2 หมื่น ชี้ ยังให้เป็น โรคประจำถิ่น ไม่ได้

10 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอธีระ เผย วันนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดไทยสูงสุด 72,478 ราย รวมผลตรวจ ATK คาดว่าจุดพีคอาจไปถึง 85,476 คนต่อวัน ระบุ ขาขึ้นยิ่งนานเท่าไร ขาลงจะยาวกว่า 1.5 เท่า เชื่อ 4 เดือน ยังไม่สามารถประกาศเป็น "โรคประจำถิ่น"

10 มีนาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat " ระบุ วันนี้ไทยติดเชื้อสุดเท่าที่เคยระบาดมา ว่า พีคกว่าเดิม...สูงสุดเท่าที่เคยระบาดมา ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ 22,984 ราย จากผลตรวจ ATK เป็นบวก 49,494 ราย รวม 72,478 อัตราตรวจพบเป็นผลบวกคิดเป็น 49.11% หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1,131 คน เป็น 1,238 คน เพิ่มขึ้น 9.46% ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 325 คน เป็น 420 คน เพิ่มขึ้น 29.23%

 

จากธรรมชาติของทั่วโลก จำนวนติดเชื้อสูงสุดต่อวันในระลอก Omicron จะสูงกว่าระลอกก่อนหน้า 3.65 เท่า ยอดวันนี้ของไทยคิดเป็น 3.09 เท่า เคยคาดประมาณว่าพีคไทยอาจไปถึง 85,476 คนต่อวัน

นพ.ธีระ เผย วันนี้ติดเชื้อพีคสุด 7.2 หมื่น ชี้ ยังให้เป็น โรคประจำถิ่น ไม่ได้

ป.ล.ยิ่ง time to peak (ขาขึ้น) ยาวนานเท่าใด ขาลงจะยาวกว่าเดิม 1.5 เท่าโดยเฉลี่ย ดังนั้นนโยบายและมาตรการรัฐ ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันควบคุมโรคนั้นสำคัญยิ่ง

นพ.ธีระ เผย วันนี้ติดเชื้อพีคสุด 7.2 หมื่น ชี้ ยังให้เป็น โรคประจำถิ่น ไม่ได้

นพ.ธีระ ระบุ ถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกวันนี้ ทะลุ 451 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,516,256 คน ตายเพิ่ม 6,222 คน รวมแล้วติดไปรวม 451,056,270 คน เสียชีวิตรวม 6,042,565 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.03 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.61 ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.83 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 36.41 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 69 คน สูงเป็นอันดับ 20 ของโลก

 

...รายงานขององค์การอนามัยโลก

WHO Weekly Epidemiological Report วันที่ 8 March 2022 สรุปภาพรวมให้เห็นว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีรายงานติดเชื้อใหม่ลดลง 5% และจำนวนการเสียชีวิตลดลง 8% แต่ได้ระบุไว้ว่า การที่จำนวนติดเชื้อลดลงนั้น อาจเป็นเพราะบางประเทศมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เรื่องการตรวจคัดกรองโรค

 

ทั้งนี้เราคงเห็นได้จากในประเทศไทยด้วย ที่ตรวจ RT-PCR อย่างจำกัด ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันไม่มาก แต่สถานการณ์จริง การระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK จำนวนมากกว่า RT-PCR แต่ไม่รายงานรวมเป็นผู้ติดเชื้อ ทั้งที่นำเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาแบบ Home isolation, Community isolation, และแบบ OPD

องค์การอนามัยโลกได้สรุปเกี่ยวกับ Omicron ไว้ดังนี้

     1. ล่าสุดจากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ระบาด พบว่า Omicron ครองการระบาดในสัดส่วนสูงถึง 99.7% ในขณะที่เดลตาเหลือเพียง 0.1%

     2. สำหรับ Omicron นั้น ขณะนี้มีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ โดยพบ BA.1.1 มากสุดคือ 41% รองลงมาคือ BA.2 มีราว 34.2% และ BA.1 ราว 24.7%

     3. Omicron มีความได้เปรียบในการแพร่เชื้อมากกว่าเดลตา 64%

     4. หากเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ย่อยของ Omicron พบว่า BA.2 มีความได้เปรียบในการแพร่เชื้อมากกว่า BA.1 56% ทั้งนี้ในสหราชอาณาจักรพบว่าอาจสูงถึง 82.7% และมีอัตราการติดเชื้อทั้งในครัวเรือนและนอกครัวเรือนมากกว่า BA.1 อีกด้วย

     5. ในแง่ความรุนแรงของโรค BA.2 ไม่แตกต่างจาก BA.1

 

...ย้ำเตือนอีกครั้งว่า เมืองไทยเรายังมีการระบาดรุนแรง กระจายทั่ว

แม้ดูจะเป็น"ขาลง" หลังพีคเมื่อ 3 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ธรรมชาติของการระบาดขาลงที่สังเกตจากประเทศอื่นจะยาวนานกว่าขาขึ้น 1.5 เท่า จึงคาดว่าไทยเราจะมีช่วงขาลงราว 42 วันหรือ 6 สัปดาห์

 

ระยะยาวเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าวางใจ ลัลล้าได้ แต่กลับหมายถึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะจำนวนติดเชื้อใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงขาลงที่ยาวนานนี้อาจมีจำนวนรวมมากกว่าขาขึ้นได้ หากประมาท ไม่ป้องกันตัวให้ดี

 

นอกจากนี้ยิ่งจำนวนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นมากเท่าใด โอกาสเกิดการปะทุรุนแรงขึ้นกว่าเดิมย่อมมีได้ โอกาสเกิดสายพันธุ์ใหม่ย่อมมีได้มากขึ้น และที่ควรตระหนักคือ จำนวนคนที่จะประสบปัญหา Long COVID ในระยะยาวจะมากขึ้น

 

Long COVID จะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งคนที่ป่วย ครอบครัว และประเทศ

 

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาน้อยๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิด และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

 

ด้วยสถานการณ์และทิศทางนโยบายและมาตรการดังที่เป็นมา คาดว่า 4 เดือน หรือ 3+1 ไม่มีทางที่จะเพียงพอสำหรับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นครับ

นพ.ธีระ เผย วันนี้ติดเชื้อพีคสุด 7.2 หมื่น ชี้ ยังให้เป็น โรคประจำถิ่น ไม่ได้

ความรู้เกี่ยวกับ Long COVID จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการโรคโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้องนำนโยบาย จึงจะมีโอกาสสำเร็จ ความสำเร็จนั้นวัดกันที่"ผลลัพธ์ที่เห็น"

logoline