svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"คณิศ"มองสู้รบรัสเซีย-ยูเครนยังไม่กระทบแผนลงทุนเดิมในอีอีซี

09 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลขาฯอีอีซี"ชี้สถานการณ์สู้รบรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่กระทบการลงทุนเดิมที่วางไว้ แจงโชคดีเซ็น 4 สัญญาก่อนโควิด เผยนายกฯ ให้แนวทางทำงานโปร่งใสกับคู่สัญญา

9 มีนาคม 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แถลงผลการประชุม กพอ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อรับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมสินค้าโอทอป (OTOP) เพิ่มศักยภาพการขยายช่องทางจำหน่ายให้ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้ง ช่วยหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้ารายย่อย ชุมชน

 

ทั้งนี้ พร้อมตั้งกลุ่มเป้าหมายและสินค้าที่นิยมในพื้นที่นำร่อง อย่างน้อย 10 ชุมชน ได้แก่ จ.ระยอง เช่น ทุเรียนทอดกรอบ เครื่องเงิน จ.ชลบุรี เช่น พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน ข้าวกล้อง สบู่เปลือกมังคุด จ.ฉะเชิงเทรา เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ หมูแท่งอบกรอบ เป็นต้น โดยมีแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ ตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชน (EEC EnterPrise) เช่น การลงทุนร่วมระหว่าง สกพอ. สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เอกชน ทำหน้าที่วางแผนการผลิต การตลาดส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน (EEC Incubation Center) ทำหน้าที่ ศึกษาวิจัย พัฒนาสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพ ในระดับมาตรฐานมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ

 

\"คณิศ\"มองสู้รบรัสเซีย-ยูเครนยังไม่กระทบแผนลงทุนเดิมในอีอีซี

ขณะเดียวกัน รวมทั้งฝึกอบรมบุคลากรให้ทำงานร่วมกับนวัตกรรมใหม่ โดยคาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนต.ค. 2565 นี้ โดยประโยชน์ที่ได้รับสามารถเพิ่มยอดขายสินค้าชุมชนไม่ต่ำกว่า 30% รายได้รวม (GDP) ระดับชุมชนประมาณ 20% และเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มขึ้นประมาณ 20% นอกจากนี้ ทำให้ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพ เกิดแรงจูงใจกลับมาเที่ยวซ้ำ ทำให้ชุมชนคนพื้นที่ อีอีซี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ดีมั่นคง

 

ส่วนความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการอีอีซี ในเขตส่งเสริมพิเศษ 7 เขต โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) ให้สิทธิประโยชน์อีอีซีแก่นักลงทุน ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยร่างประกาศสิทธิประโยชน์ มีหลักการที่สำคัญคือ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เน้นการออกแบบสิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการของนักลงทุน โดยเจรจาให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนแต่ละราย ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG ที่ลงทุนใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์อีอีซี เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนที่คล่องตัว เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหญ่เข้าสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้ตามเป้าหมายของอีอีซี

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ สกพอ. ร่วมกับกองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมธุรกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และจะส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค

 

อีกทั้ง ทำให้เกิดแรงจูงใจกับนักลงทุน และเชื่อมโยงนักธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินระดับโลกเข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เกิดการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจร่วมกันจุดนี้ถือเป็นกำลังสำคัญ เสริมแกร่งการลงทุนเข้าสู่ในพื้นที่อีอีซีตามเป้าหมาย เม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท โดยการการจัดงานจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมประมาณ 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงานประมาณ 1,240 ราย ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ จะมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2566 - 2570 จำนวน 28 งานในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด จะสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ มากถึงประมาณ 8,200 ล้านบาท

 

สำหรับสถานการณ์สู้รบรัสเซีย-ยูเครน จะมีผลต่อการลงทุนในอีอีซีหรือไม่นั้น ท่าที่ดูการลงทุนเดิมที่วางไว้ยังเดินต่อ ประเทศไทยยังไม่มีผลกระทบเท่าไร ยังเป็นตามแผน แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกแรงอาจมีผลตามมา ขณะนี้เป็นเพียงระยะสั้น เห็นได้จากน้ำมันขึ้นเร็ว แต่รัฐบาลยังใช้กองทุนน้ำมันแก้ปัญหาอยู่ ส่วนเรื่องอื่นยังไปได้ ขณะที่สถานการณ์โควิด ก็ต้องดูว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ประมาณไว้ 6 ล้านคนในปีนี้ จะได้ตามเป้าหรือไหม

 

"ก่อนสงคราม ราคาสินค้า และราคาน้ำมันก็ขึ้นอยู่แล้ว ก็ต้องดูว่าการบริหารน้ำมันจะทำอย่างไรต่อไป รวมถึงถ้าไม่มีน้ำมันจากรัสเซียไปยุโรป ผลกระทบจะเเรง และลามมาถึงไทยด้วย ในส่วนของอีอีซี ขณะนี้มีผลกระทบหลักๆ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เซ็นสัญญาไว้ แต่โชคดีที่เซ็นสัญญา 4 โครงการใหญ่ไปก่อนโควิด เพราะถ้าทำช่วงโควิดอาจจะยาก และขณะนี้เมื่อร่วมทุนแล้ว นายกฯ ก็ให้แนวทางว่าต้องดูแลให้ดี อะไรที่ตกลงไปแล้วต้องเดินหน้าให้ได้ แก้ไขให้เป็นธรรม ถูกกฎหมาย โปร่งใสกับคู่สัญญา" นายคณิศ กล่าว

logoline