svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"โคทม อารียา"แนะฝึกจิตแบบ"โลจอง" ท่ามกลางความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

27 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โลกเราช่างยุ่งเหยิงนัก เราจึงควรถามตัวเองอยู่เนือง ๆ ว่า เราเกิดมาเพื่อเพิ่มหรือเพื่อลดความยุ่งเหยิงกันแน่ หันมาตรึกตรองลองฝึกจิตแบบ"โลจอง" นั่นคืออะไร ติดตามได้ที่เจาะประเด็น โดย โคทม อารียา

การฝึกปฏิบัติโลจอง

ตราเลก คยับกอน (Traleg Kyabgon) เขียน
โคทม อารียา แปล

 

เกริ่นนำ

 

โลกเราช่างยุ่งเหยิงนัก เราจึงควรถามตัวเองอยู่เนือง ๆ ว่า เราเกิดมาเพื่อเพิ่มหรือเพื่อลดความยุ่งเหยิงกันแน่ ความยุ่งเหยิงในระดับระหว่างประเทศ มีให้เห็นทั่วไปหมด มีการทำสงครามเพื่อผลประโยชน์ชาติ การสู้รบฆ่าฟัน การแย่งชิงอำนาจ ความอดอยากยากไร้ อวิชชา (รวมถึงการไม่รู้หนังสือ) ฯลฯ

 

ความตึงเครียดและความรู้สึกไม่มั่นคงมีอยู่ทุกแห่งหน เช่นที่บริเวณชายแดนระหว่างยูเครนกับรัสเซียในปัจจุบัน เมื่อมองมาที่ประเทศไทย ความเห็นต่างกำลังทำให้เราบางคนเกลียดกัน ถ้าไม่ระวังให้ดีอาจถึงกับการฆ่าฟันกันก็เป็นได้

 

อำนาจทางการเมืองมารวมศูนย์อยู่ที่รัฐราชการ รายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันกว่าสิบเท่า คนชายขอบขาดการเหลียวแลและบางครั้งถูกมองอย่างดูถูกเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ปัญหามีมากเหลือเกิน จนบางคนอาจเริ่มเฉื่อยชา


เมื่อฟังการอภิปรายในสภา เมื่อสังเกตพฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบของมหาเศรษฐีบางคน เมื่อได้ยินคำติฉินนินทาจาก "ผู้มีเกียรติ" ในสังคมต่อผู้ยากไร้ ฯลฯ เราอาจถามตัวเองว่า ทำไม "มาตรฐานทางจริยธรรม" ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 219 จึงไม่ค่อยจะมีผล ทำไมดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ของไทยจึงไม่กระเตื้องขึ้นเลย

 

ทำไมสังคมไทยจึงยังคงเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นและเป็นสังคมผู้ใหญ่-ผู้น้อยเสมอมา ฯลฯ กล่าวโดยสรุป ทำอย่างไร "ผู้นำ"ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม จึงจะเป็นแบบอย่างที่ดีได้ 

 

คนในสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเถรวาท มีการอาราธนาศีลห้าเป็นประจำ แต่ศีลห้าดูเหมือนจะให้ข้อปฏิบัติแบบกว้าง ๆ จึงอาจจะต้องมีการนำสุภาษิตหรือข้อปฏิบัติทางจริยธรรมอื่น ๆ มาประกอบด้วย เพื่อให้เป็นคติประจำใจที่ปฏิบัติอย่างได้ผลในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสำหรับ "ผู้นำ" ที่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก 


ใครจะเลือกชอบสุภาษิตหรือข้อปฏิบัติใดก็แล้วแต่ใจ เช่นเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยินสุภาษิตจากคัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง บทหนึ่ง แล้วรู้สึกโดนใจ สุภาษิตบทนั้นเขียนไว้ว่า "เอาดินเหนียวมาปั้นได้เป็นภาชนะ แต่ประโยชน์ใช้สอยของภาชนะ ขี้นอยู่กับความว่างของมัน"  ถ้าภวังค์จิตและจิตของเราเต็มแล้ว ก็คงไม่เปิดรับข้อปฏิบัติทางจริยธรรมใหม่ ๆ แต่ถ้ามีที่ว่าง ก็คงพอคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง


ในบทความนี้ ผมอยากนำเสนอการฝึกจิตแบบทิเบตเผื่อจะมีคนเลือกชอบบ้าง ผมเพิ่งซื้อหนังสืออธิบายคำสอนโลจอง (Lojong) ของพุทธศาสนาวัชรยานมา 3 เล่ม โลจองเป็นภาษาทิเบต แปลว่าการฝึกฝนจิต  หรือทั้งจิตและใจ (mind and heart) คนที่รวบรวมคำสอนนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกคือคุรุแห่งพุทธศาสนาชาวอินเดียชื่อ Atisha Dipankara Shrijnana

 

เขาเกิดที่เบงกอลในปี ค.ศ. 982 และได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นทั้งในอินเดียและสุมาตรา เมื่อกลับมาอินเดีย เขาสอนพุทธศาสนาที่ Vikramashila ซึ่งเป็นหนึ่งในสามวัดที่สำคัญที่สุดในสมัยนั้น ก่อนเสียชีวิตในประมาณปี พ.ศ. 1054


เขาได้ถ่ายทอดคำสอนโลจองให้แก่ศิษย์ชาวทิเบตชื่อ Dromtonpa ที่ต่อมาได้ก่อตั้งสายธรรมกาดัมที่สืบเนื่องคำสอนโลจองจนเราได้เรียนรู้ในทุกวันนี้


ผู้ที่นำคำสอนโลจองมาถ่ายทอดในสหรัฐอเมริกาคนแรก ๆ คือ เชอเกียม ตรุงปะ ผ่านการบรรยายในการสัมมนาหลายครั้ง ได้มีการรวบรวมคำบรรยายเป็นหนังสือและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1981 ซึ่งพจนา จันทรสันตินำมาถอดความเป็นภาษาไทยในชื่อว่า "การฝึกจิตและบ่มเพาะความเมตตา"  ต่อมาศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของตรุงปะ ชื่อ เพมา โชดรัน ซึ่งบวชเป็นภิกษุณีและเป็นเจ้าอาวาสวัดทิเบตชื่อกัมโป ตั้งอยู่ที่โนวา สกอเชีย ประเทศคานาดา ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Start Where You Are ในปี ค.ศ. 1994 ที่ให้คำอรรถาธิบายคำสอนโลจองเพื่อประโยชน์แก่การฝึกอบรมในวัดกัมโปและเพื่อผู้สนใจในพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ต่อมา ตราเลก คยับกอน คุรุชาวทิเบตในสายธรรมคากิว ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Practice of Lojong: Cultivating Compassion through Training the Mind” ในปี ค.ศ. 2003 


คติพจน์โลจองเขียนสั้น ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้ง บางครั้งดูจะแย้งกับสามัญสำนึก แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ฟังดูย้อนแย้งจะช่วยกระตุ้นการใคร่ครวญและช่วยให้จดจำคำสอนได้ดีขึ้น คติพจน์โลจองมีจำนวนทั้งสิ้น 59 บท แบ่งเป็น 7 ประเด็น (points)

 

ประเด็นที่ 6 ว่าด้วยความมุ่งมั่นในการฝึกจิต และดูจะเหมาะแก่การนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ผมมีความเชื่อว่าถ้าผู้นำทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ได้ศึกษาและนำคติพจน์โลจอง โดยเฉพาะในประเด็นที่ 6 ไปปฏิบัติ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตนและต่อสังคมโดยรวมมิใช่น้อย จึงขอแปล (แบบย่อความ) คติพจน์และคำอธิบายในประเด็นที่ 6 ที่เขียนโดยตราเลก คยับกอน ซึ่งมีอยู่ 17 คติพจน์ ดังต่อไปนี้

 

ประเด็นที่ 6: ความมุ่งมั่นในการฝึกจิต

 

คติพจน์ที่ 23: ฝึกปฏิบัติตามหลักการทั่วไปสามประการอยู่เสมอ 


ได้แก่ 1) ระลึกถึงคุณค่าของความมุ่งมั่นของคุณ 2) เว้นห่างจากรูปแบบความคิดที่ผิดเพี้ยน 3) ระวังอย่าตกหลุมพรางแห่งความลำเอียง


คติพจน์ที่ 24: เปลี่ยนท่าทีของคุณ, แต่คงความเป็นธรรมชาติไว้
    
การฝึกปฏิบัติโลจองตามคติพจน์นี้ เกี่ยวกับการแปลงเปลี่ยนวิธีการมองโลกของเรา แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนวิธีที่เราเสนอความเป็นตัวเราต่อโลกนี้ การเปลี่ยนแปลงวิธีที่เรารับรู้ตัวเรา เช่นว่า เรามีความสัมพันธ์อย่างไรกับความคิดและอารมณ์ที่ก่อกวนใจ และเรามีท่าทีอย่างไรต่อคนอื่น เหล่านี้ย่อมสำคัญมากกว่าการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตา กิริยามารยาท หรือการแต่งเนื้อแต่งตัว
    
"การคงความเป็นธรรมชาติ" อ้างถึงความสำคัญของการทำตัวให้กลมกลืนกับผู้อื่น แทนที่จะปฏิบัติเหมือนกับว่าเราเป็นคนพิเศษหรือเป็นคนนอก เราไม่ควรวางท่า หรือจงใจสร้างความประทับใจแก่ผู้ใด หากควรเป็นคนสุภาพและทำตามขนบธรรมเนียมทางสังคม เราไม่ควรตั้งข้อสังเกตที่ผิดเพี้ยนไม่ตรงบริบท ที่ไม่ตรงประเด็น ที่ไม่เหมาะสม เพียงเพื่อให้ขัดหรือแย้งกับคนอื่น ๆ


คติพจน์ที่ 25: อย่าพูดถึงจุดอ่อนของคนอื่น
    
เมื่อไรก็ตามที่เรากล่าวถึงผู้อื่น เรามักเอ่ยถึงจุดอ่อนของเขา แทนที่จะพูดถึงคุณลักษณะที่ดี เรามักพูดถึงสิ่งที่น่าชวนหัว พูดไปตามความเคยชินโดยมิได้มุ่งร้าย เช่นกล่าวถึงลักษณะทางกาย ความทึ่ม หรือข้อบกพร่องอื่น เราทึกทักว่าคำกล่าวสนุก ๆ ของเราไม่มีพิษสง แต่คำสอนโลจองบอกว่า แม้เราจะพูดเล่น แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจทำร้ายจิตใจได้ แม้ไม่ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น 
     
คติพจน์นี้เกี่ยวข้องกับการมุ่งมั่นบ่มเพาะท่าทีที่จะไม่แทรกแซงและไม่ทำร้ายผู้อื่น อาจมีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเรารู้สึกว่าจำเป็นที่จะกล่าวถึงสิ่งไม่น่าฟังแก่ใครคนหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้ เราต้องพูดด้วยท่าทีที่สร้างสรรค์เท่านั้น ด้วยความตั้งใจจะช่วยเหลือมิใช่มุ่งร้าย แม้เราเชื่อจริง ๆ ว่าใครคนหนึ่งทำตัวน่ารังเกียจ ก็ไม่ควรพูดอะไรไม่ดีเกี่ยวกับเขาเมื่ออยู่ลับหลัง สันติเทวะเตือนเราว่า

 

•เช่นนี้แล้ว เมื่อพบเห็นว่าศัตรูหรือเพื่อน

ทำอะไรที่ไม่สมควร
จงทำใจให้สงบและระลึกว่า
ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย
อติชาเขียนคำแนะนำในหนังสือ The Jewel Rosary of Bodhisattvas ว่า

•ละเว้นการเหยียดหยันผู้อื่น


รักษามารยาทที่เคารพนบนอบไว้
เมื่อให้คำแนะนำแก่ผู้อื่น
จงมีใจกรุณาและมีความคิดที่จะยังประโยชน์แก่เขา
คติพจน์ที่ 26: อย่าคิดยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้อื่น
    
หมายความว่า ให้ยุ่งเกี่ยวแต่เรื่องของเรา เมื่อเราคิดถึงคนอื่น เรามักมุ่งสนใจถึงปัญหาและข้อบกพร่องของเขา ชีวิตรักเขาเป็นอย่างไร แต่งงานมีความสุขไหม ถ้าเขาไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือการแต่งงานของเขาจบลง เราแอบสุขใจกับความโชคร้ายของเขา คำสอนโลจองเตือนเราว่า การวิจารณ์และการตีความเกี่ยวกับชีวิตของคนอื่น เป็นเพียงการรับรู้และการฉายภาพของเราเอง แทนที่จะตัดสินเขา เราควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่เขา การเสียเวลาไปกับการคาดคะเนเกี่ยวกับกิจธุระของผู้อื่นอาจเป็นโทษและเป็นการทำร้ายตนเองด้วยซ้ำไป แต่การส่งความปรารถนาดีแก่ผู้อื่นจะช่วยให้เรามีพัฒนาการเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความสบายใจ


คติพจน์ที่ 27: ลดทอนกิเลสที่รุนแรงกว่าของเราก่อน
    
ความมุ่งมั่นของเราตามคติพจน์นี้ดูจะกลับทางกับคติพจน์ทั้งสองที่เพิ่งกล่าวถึง แทนที่จะว่ากล่าวตักเตือนตัวเองและพยายามแปลงเปลี่ยนท่าทีของเราไปเลย คติพจน์ที่ 27 เพียงแต่แนะนำให้เราพิจารณากิเลสที่ฉกาจฉกรรจ์ที่สุดของเราก่อน ที่ต่างจากคติพจน์ก่อนหน้านี้คือ เรายอมรับข้อจำกัดของเราและยอมเดินทางไปสู่เป้าหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีหลายด้านของตัวเราที่ต้องการการแปลงเปลี่ยน คำสอนโลจองจึงสอนวิธีขยับเข้าหาการแปลงเปลี่ยนที่ง่ายกว่า คือทำงานกับปัญหาที่เด่นชัดที่สุดก่อน
    
การรับรู้และการเริ่มลดทอนกิเลสที่รุนแรงจะง่ายกว่าการขจัดกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไป การจัดการกับกิเลสที่ผุดขึ้นมาย่อมง่ายกว่าการขจัดกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ลึก ๆ เช่น ความโลภ ราคะตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ฯลฯ แม้เราจะยังคงมีความโน้มเอียงในทางก้าวร้าว แต่เรายังสามารถเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยตัวเองจากการล่วงละเมิดทางกายหรือวาจาต่อผู้อื่นอย่างฉุนเฉียวได้ คำสอนนี้สอดคล้องกับหลักการที่จะให้การกระทำอยู่ภายในความสามารถของเรา แทนที่จะคับข้องใจไปกับความคาดหวังที่เกินจริง แม้เป็นเรื่องสำคัญที่จะยังคงอุดมการณ์อันสูงส่งของเราไว้ แต่เราต้องเป็นนักปฏิบัตินิยมในระยะสั้น พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะกำจัดกิเลสในระยะยาว โดยทำงานกับตัวเราเพื่อเริ่มลดทอนกิเลสแต่บัดนี้


คติพจน์ที่ 28: เลิกหวังผลใด ๆ
    
คติพจน์นี้อาจฟังดูประหลาด แต่ก็เป็นคำสอนที่มีมานาน โลจองสอนเราว่า ถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับผล เราจะใช้เวลาไปกับการพยายามจัดแจงผลพวงของงานของเรา แทนที่จะใส่ใจกับตัวกิจกรรมเอง แล้วเราจะเสียสมาธิไปจากภารกิจที่อยู่ต่อหน้า จึงมักจะลงเอยด้วยความคับข้องใจและความผิดหวัง เพราะผลลัพธ์ที่จินตนาการไว้นั้น จะไม่เหมือนกับผลลัพธ์ที่ได้มาในที่สุด อุปมาอุปมัยการยิงธนู ถ้าเรามุ่งไปที่เป้าหมายอย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจการวางท่าและเทคนิคการถือและการน้าวคันธนู ฯลฯ ก็ยากที่ลูกธนูจะมุ่งเข้าสู่เป้า
 
คติพจน์ที่ 29: เลิกบริโภคอาหารพิษ
    
อาหารดีเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาหารพิษทำให้เราเสียสุขภาพ ในทำนองเดียวกัน ความคิดและการปฏิบัติที่เป็นกุศล มีคุณค่ามาก แต่ถ้าเราคิดและปฏิบัติด้วยจิตอกุศล ก็จะเป็นเสมือนยาพิษ ถ้าเรามีวาระซ่อนเร้นที่เกี่ยวข้องกับการปลอบประโลมอัตตา แม้การกระทำของเราจะดีและน่าสรรเสริญ แต่สิ่งที่เราทำจะเสื่อมเสียไปด้วยความเห็นแก่ตัวของเรา เราจะทำร้ายตัวเราเองและผู้อื่นเมื่อการกระทำของเราเป็นพิษ เหตุด้วยความเห็นแก่ตัว
    
การกระทำของเราพึงเป็นอานิสงส์ในตัวมันเอง เมื่อเรากระทำสิ่งที่มีความหมาย เราได้รับผลตอบแทนจากสิ่งนั้นในทันที ในประการสำคัญ เราพึงมุ่งมั่นที่จะซื่อตรงและจริงแท้แก่ตัวเราเอง โดยปราศจากข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจของเรา


คติพจน์ที่ 30: อย่าวางใจในธรรมชาติอันดีงามของตน
    
คติพจน์นี้ฟังดูย้อนแย้ง มีการตีความว่า เราไม่ควรขยับเลื่อนจุดสนใจของเราสู่สิ่งใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เมื่อเราตัดสินใจที่จะทำอะไรบางอย่าง เราต้องยืนหยัดในการดำเนินงานจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย การตีความอีกแบบหนึ่งคือ เราไม่ควรยอมรับความบกพร่องของเราอย่างง่ายเกินไป หรือยอมทนต่อสิ่งที่มีโทษได้มากเกินไป มีการตีความคติพจน์นี้อีกแบบหนึ่งว่า เราหลงถือเอาความคิดและแรงจูงใจที่เห็นแก่ตัวมาเป็นพวก จึงต้องชัดเจนว่า เพียงเพราะคนคนหนึ่งมีท่าทีเป็นมิตร ไม่ได้หมายความว่าเขาควรแก่ความไว้วางใจ ดังที่อารยาเทวะกล่าวไว้

 

•แรงปรารถนามิใช่มิตร แต่ดูเหมือนว่าจะใช่

จึงทำให้คุณไม่กลัวมัน
ทว่า ผู้คนพึงกำจัดมิตรที่เป็นภัย
ให้พ้นไปโดยเฉพาะมิใช่หรือ?

 

ถ้าเราพิจารณาตัวเราเองอย่างละเอียด เราอาจพบว่า การแสดงธรรมชาติอันดีงามของเราอย่างมืดบอด เป็นหนึ่งในแรงดลที่เป็นปัญหาแก่เรา


คติพจน์ที่ 31: อย่ามีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อคำวิจารณ์ด้วยแรงดล
    
อย่าใช้วิธี "เขาว่ามาก็ด่ากลับ" คำพูดนั้นทรงพลังนักหนา เราต้องอ่อนไหวต่อวิธีการแสดงออกของเรา และต้องต้านทานความเย้ายวนใจที่จะทำตามแรงดล และไม่กระโจนไปสรุปสิ่งที่คนอื่นพูด บ่อยครั้ง เราได้ยินแต่สิ่งที่เราต้องการได้ยิน หรือกระทั่งสิ่งที่เรากลัวว่าจะได้ยิน เพราะการเปิดรับสารของเรานั้นผสมปนเปไปกับความกลัว แรงปรารถนา และความคาดหวัง ถ้าเราให้เวลาที่จะไตร่ตรองว่าเขาพูดอะไร บ่อยครั้ง เราจะพบว่า สิ่งที่เขาพูดไม่เลวร้ายอย่างที่ปรากฏในตอนต้น หรือพบว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะโจมตีเรา

คติพจน์ที่ 32: อย่าแอบซุ่มโจมตี
    
ในสมัยก่อน โจรมักจะแอบซุ่มในช่องเขาที่แคบเพื่อปล้นสะดมเรา ในทำนองเดียวกัน เรามักรอโอกาสเหมาะเพื่อโจมตีศัตรูเมื่อเขาไม่คาดฝัน เราฝังจิตฝังใจกับสิ่งที่เคยได้ยินหรือเคยถูกกระทำโดยไม่ลืมและไม่ให้อภัย และรอจนกระทั่งเวลาจะมาถึงเพื่อเราจะสามารถตอบโต้ให้สาสมได้อย่างปลอดภัย วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการที่ไม่ซื่อ และเป็นตรงกันข้ามกับสปิริตของโลจอง ในสปิริตนี้ เราต้องมุ่งมั่นที่จะไม่ฉวยโอกาสและรอจู่โจมคนที่เราเกลียดชังเมื่อเขาเปราะบางที่สุด เราต้องใช้เวลาที่มีเพื่อที่จะพยายามทำในสิ่งที่ช่วยให้เราเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น

คติพจน์ที่ 33: อย่าให้ข้อสังเกตที่ไม่จริงใจ
    
สุภาษิตโบราณของทิเบตบทหนึ่งให้ข้อคิดว่า “คำพูดไม่มีทั้งลูกศร ทั้งดาบ กระนั้น มันสามารถฉีกจิตใจของผู้คนให้ขาดกระจุยได้” เรามักอยากอยู่เหนือผู้อื่น สิ่งที่เราพูดมักออกแบบเพื่อปรับแต่งสถานการณ์ หรือฉวยโอกาสเอาเปรียบ โดยทำให้ผู้อื่นรู้สึกด้อยกว่า ขัดสน หรือขี้เหร่ คติพจน์นี้สอนให้เรามุ่งมั่นที่จะไม่ยกตัวเองให้สูงขึ้น โดยคำชื่นชมปลอม ๆ โดยประชดประชัน หรือโดยชี้ตรง ๆ ไปที่จุดอ่อนของคนอื่น


คติพจน์ที่ 34: อย่าย้ายสัมภาระจากแยคตัวเมียไปยังวัวตัวผู้
    
แยค (yak คือวัวขนยาวเขายาวพบในทิเบต) แข็งแรงและมีคุณค่ามากกว่าวัวธรรมดา คนทิเบตมักคิดว่า “ถ้าวัวตาย ฉันสามารถหาวัวตัวใหม่ได้ง่าย แต่ถ้าแยคตัวเมียตาย หาใหม่จะแพงมาก ดังนั้น ฉันจะให้วัวแบกสัมภาระนี้ แม้ว่ามันจะไม่แข็งแรงสักเท่าไร” เรามักใช้ตรรกะทำนองนี้ในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ลองสมมุติว่าเราเป็นแยคตัวเมีย และคนอีกคนหนึ่งเป็นวัว เรามักถ่ายโอนความรับผิดชอบของเราไปให้คนที่ด้อยประสบการณ์กว่าเรา ซึ่งเป็นการไปกดดันคนคนนั้น เพียงเพราะว่าเราไม่อยากทำบางอย่างด้วยตัวเอง อีกกรณีหนึ่งคือการทำโครงการร่วมกับคนคนหนึ่ง แล้วโยนความรับผิดชอบให้เขาเมื่อโครงการล้มเหลว บางครั้ง เรามอบความรับผิดชอบให้แก่คนที่ไม่ค่อยมีความสามารถเพื่อก่อกวนหรือทำให้เขาเสียหน้า อีกกรณีหนึ่งคือการมอบงานให้แก่คนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ เพราะเราไม่อยากมอบงานยากให้แก่เพื่อนของเรา คติพจน์นี้เตือนให้เรามอบงานให้ถูกคน โดยให้เขารับผิดชอบได้โดยไม่หนักเกินไป (ไม่ให้วัวรับสัมภาระที่อาจรับไม่ไหว เพียงเพราะเราหวงแยคตัวเมีย)
 
คติพจน์ที่ 35: อย่ามุ่งเอาชนะ
    
มนุษย์มีธรรมชาติชอบแข่งขันและมุ่งหวังเอาชนะคนอื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าในเรื่องอะไร เรามักกระทำเหมือนกับว่าเป็นการแข่งกัน คติพจน์นี้เตือนเราในเรื่องการฝังจิตฝังใจกับการเอาชนะ การมีสมรรถนะที่เหนือกว่าคนอื่น ซึ่งนำไปสู่ความหยิ่งโอหัง ถ้าเราทำได้ดีกว่าคนอื่นเล็กน้อย หรือนำไปสู่ความขุ่นเคืองใจ ความอิจฉาเมื่อเราทำได้ด้อยกว่าคนอื่นเล็กน้อย ความมุ่งมั่นแบบโลจองต่อการไม่เข้าแข่งขันตามคติพจน์บทนี้ หมายถึงการทำให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของเราเอง เราตั้งปณิธานว่าจะละวางที่จะเปรียบเทียบเรากับคนอื่น และหวังบรรลุชัยชนะแบบโลก ๆ  หากควรมุ่งมั่นให้เรามีสมาธิอยู่กับการดำเนินกิจกรรมประจำวันให้ดีที่สุด

คติพจน์ที่ 36: อย่าใส่ค่าแลกเปลี่ยนแก่สิ่งต่าง ๆ
    
สิ่งที่เราทำไม่น่าจะมีค่าเหมือนสินค้าที่แลกเปลี่ยนกัน เราจะไม่คืบหน้าถ้ามัวแต่คอยหาคำสรรเสริญหรือความชื่นชมของผู้อื่น เราไม่ควรคาดหวังให้ผู้คนยอมรับหรือรู้คุณถ้าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นประโยชน์ เราเพียงแต่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เรียบร้อยที่สุด โดยไม่ท้อถอย หรือไม่คาดหวังว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทน


คติพจน์ที่ 37: อย่าเปลี่ยนเทพเป็นมาร
    
ในวัฒนธรรมทิเบต เทพนั้นมุ่งดีและคอยปกป้องเรา ส่วนมารนั้นไม่ดีและคอยประทุษร้ายเรา อย่างไรก็ตาม คติพจน์โลจองถือว่าทั้งเทพและมารล้วนแสดงแง่มุมต่าง ๆ ของจิตของเราเอง ในบางแง่มุม เราเป็นเหมือนเทพ ในอีกแง่มุมเรากลายเป็นมาร ทั้งสองแง่มุมไม่ไช่สองด้านของเราที่อยู่แยกกัน หากเป็นสองด้านที่สามารถมีอิทธิพล มีปฏิสัมพันธ์ และหลอกลวงกันได้ ดังนั้น ถ้าไม่ระมัดระวัง แง่มุมเทพของเราอาจเสื่อมลงเป็นมารได้
    
บางคนเริ่มต้นปฏิบัติโลจองด้วยความจริงใจและกระตือรือร้น แต่แล้วค่อย ๆ กลายมาเป็นความฉ้อฉล เมื่อเปลี่ยนบางสิ่งที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าให้กลายเป็นบางสิ่งที่เห็นแก่ตัวและชื่นชมตนเอง ความมุ่งมั่นต่อคติพจน์นี้คือการตระหนักรู้ถึงแนวโน้มในทางมารของเรา และมีความเด็ดเดี่ยวที่จะหลบหลีกความเย้ายวนใจของมัน


คติพจน์ที่ 38: อย่าแสวงหาความเจ็บปวดของผู้อื่นเพื่อให้เรามีความสุข
    
การแสวงหาความสุขจากความทุกข์ของผู้อื่นเป็นลักษณะนิสัยทั่วไปอีกประการหนึ่งของมนุษย์ แต่อันที่จริง ความสุขที่ได้มาเช่นนี้อาจเสื่อมสลายเป็นความทุกข์และความเศร้าได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะนิสัยนี้มีตัวอย่างเช่น เมื่อคนที่เรารู้จักสูญเสียคนที่เขารัก หย่าร้าง ถลุงทรัพย์สมบัติของครอบครัว ป่วยหนัก พลาดการเลื่อนตำแหน่ง บ้านของเขาที่จำนองไว้ถูกธนาคารยึดไป ฯลฯ แทนที่จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจไปกับทุกข์ร้อนของเขา เรากลับมีความพึงพอใจบางประการ แถมยังร่าเริงไปกับการนินทาสภาพการณ์ของเขาให้คนอื่นฟัง ความมุ่งมั่นที่พึงมีจากคติพจน์โลจองบทนี้คือ การตรวจสอบการตอบสนองของเราเมื่อได้ทราบความทุกข์ยากของผู้อื่น อันที่จริง เราควรแสวงหาความสุข จากความปีติสุขของผู้อื่นเท่านั้น 

logoline