svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

บอร์ดแข่งขันฯ ไร้อำนาจเบรกดีลควบรวม ทรู-ดีแทค

25 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะกรรมการแข่งขันฯยืนยันดีลควบรวมดีแทคและทรู เป็นอำนาจ กสทช.ชี้ขาด ไม่สามารถก้าวล่วงได้แต่ส่งเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลในคณะกรรการสภาฯแล้ว

ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ระบุ กรณีการควบรวมกิจการของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (ทรู) และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. โดยคณะกรรมการแข่งขันฯ ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้ แต่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมให้ข้อมูลแล้วอยู่ภายใต้คณะกรรมการของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องยอมรับว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อน ที่ต้องพิจารณาทั้งเชิงกฎหมายและการประกอบธุรกิจ

 

สำหรับในปี 2564 ถือเป็นปีที่มีการรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 32 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2 เท่า และมีมูลค่าการรวมธุรกิจประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3.4 เท่า

บอร์ดแข่งขันฯ ไร้อำนาจเบรกดีลควบรวม ทรู-ดีแทค

ทั้งนี้สิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดคิดมาก่อน คือการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด จะเห็นได้จากจำนวนการยื่นเรื่องให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจ และการแจ้งเรื่องการควบรวมธุรกิจ ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 24 เรื่อง สิ่งสำคัญคือ มูลค่าการรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นในไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของขนาดเศรษฐกิจรวมของประเทศ

“สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ การกำกับดูแลการขอควบรวมธุรกิจในขณะนี้ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจบริการ ทั้งค้าส่ง ค้าปลีก และการขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนถึงกว่า 30% ซึ่งภาคธุรกิจที่ขอให้พิจารณาควบรวมธุรกิจดังกล่าวนี้ มีประเด็นที่จะต้องเฝ้าระวัง และกำกับดูแลต่อไปในเรื่องของการมีอำนาจเหนือตลาด”

 

ส่วนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการแข่งขันฯ พยายามทำหน้าที่เพื่อลบคำปรามาสที่บอกว่าการมีกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือมีกฎหมายแข่งขันทางการค้า ไม่ได้ช่วยอะไร แต่ข้อพิสูจน์ คือการดำเนินคดีต่างๆ ที่ขณะนี้ตัดสินสิ้นสุดแล้ว 14 เรื่อง ทั้งคดีอาญา คดีปกครอง ทั้งลงโทษปรับ รวมทั้งส่งต่อไปอัยการ

logoline